มึนเขตศก.พิเศษตากไม่เกิด ธนารักษ์ชี้บ.สามัคคีเบี้ยว-แบงก์ไม่ปล่อยกู้

ธนารักษ์ยึดหลักประกัน-แบล็กลิสต์ “บ.สามัคคี ที่ดินและเคหะ” เหตุประมูลชนะได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ทว่าไม่มาเซ็นสัญญาตามกำหนด คาดกู้แบงก์ไม่ผ่าน อธิบดีมึนแต่ละพื้นที่มีอุปสรรค “ตราด” ขอปรับโครงการ-“เมืองกาญจน์” ต้องเคลียร์ผู้บุกรุกเกือบ 2 พันไร่

 

นายอำนวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรมธนารักษ์จะต้องเปิดประมูลเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตากใหม่ เนื่องจากเอกชนรายเดิม ได้แก่ บริษัท สามัคคี ที่ดินและเคหะ ที่เป็นผู้ชนะการประมูล ไม่ยอมเข้ามาลงนามในสัญญาเช่าพื้นที่ตามกำหนด เนื่องจากตามทีโออาร์กำหนดให้มีการลงนามภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งให้เป็นผู้ได้รับสิทธิ์ 
ซึ่งครบกำหนดตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2561

“คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ผู้ชนะประมูลไม่พร้อมจะจ่ายค่าธรรมเนียมเช่า เพราะขอกู้แบงก์ไม่ได้ ซึ่งเมื่อไม่มาเซ็นตามกำหนดก็ต้องยึดหลักประกัน วงเงินกว่า 20 ล้านบาท พร้อมกับต้องแบล็กลิสต์ตัวบริษัทนี้ด้วย ส่วนพื้นที่จังหวัดตากก็ต้องเปิดประมูลใหม่” นายอำนวยกล่าว

ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกาญจนบุรี ปัจจุบันได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ราชพัสดุกับทางบริษัท พร้อมเพรียงชัย ที่เป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ชนะประมูลไปแล้ว มีการจ่ายค่าธรรมเนียมการเช่าแล้ว ยังมีอุปสรรคในเรื่องที่ต้องเคลียร์ผู้บุกรุกกว่า 80 ราย พื้นที่ถูกบุกรุกเกือบ 2,000 ไร่ 
ให้ออกจากพื้นที่

ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตราดที่ได้ผู้ชนะประมูลไปแล้ว ก็มีการขอปรับโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับการส่งเสริมโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งขณะนี้ทางกรมยังไม่ได้มีการพิจารณาอนุมัติให้ โดยเรื่องยังอยู่ที่ทางจังหวัดพิจารณาสำหรับพื้นที่ที่เดินหน้าได้โดยไม่มีปัญหา ขณะนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และเขตเศรษฐกิจพิเศษสงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินการโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

นายอำนวยกล่าวอีกว่า การเปิดขายซองประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 3 พื้นที่ คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษนครพนม มุกดาหาร และหนองคาย ปรากฏว่า นครพนม มีผู้สนใจซื้อซองประมูล 5 ราย หนองคายมีผู้สนใจประมูล 4 ราย และเขตมุกดาหารมีผู้สนใจประมูล 4 ราย ซึ่งสุดท้ายก็ต้องรอดูว่าจะมีผู้สนใจยื่นซองประมูลเข้ามากี่รายในช่วงต้นปี 2562

อธิบดีกรมธนารักษ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้ดำเนินภารกิจด้านสังคม โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดระเบียบชุมชนริมคลองลาดพร้าวที่ถูกบุกรุก ที่มีด้วยกัน 50 ชุมชน หรือกว่า 7,000 ครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดให้เช่าแล้ว 36 ชุมชน อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 5 ชุมชน และมี 9 ชุมชนที่ทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จะต้องหาพื้นที่ใหม่ในการสร้างที่อยู่อาศัยให้

นอกจากนี้ ในปีหน้าจะมีการจัดระเบียบในส่วนของคลองเปรมประชากรเป็นลำดับถัดไป ระยะทางราว 14 กิโลเมตร จากคลองรังสิตถึงถนนรัชดาฯกว่า 4,000 ครัวเรือน ซึ่งทางกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมพื้นที่รองรับไว้แล้วกว่า 200 ไร่ โดยจะดำเนินการในแนวทางเดียวกับคลองลาดพร้าว

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!