“สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์” พ่อเมืองอยุธยา รุกแผนจัดการน้ำ-เสริมแกร่งท่องเที่ยว

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ลงพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองมรดกโลกที่มีรายได้ต่อหัวของประชากรต่อปีสูงถึง 7.97 แสนบาท นับเป็นอันดับ 4 ของประเทศ และมีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.สุจินต์ ไชยชุมศักดิ์” ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงภาพรวมเศรษฐกิจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาว่า แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ 1.อุตสาหกรรม 2.ท่องเที่ยว และ 3.เกษตร โดยภาพรวมเศรษฐกิจมีการขยายตัวร้อยละ 4.4 จากเดิมคาดการณ์ร้อยละ 3.9 ซึ่งสะท้อนจากการสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำและการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับภาคเกษตร และท่องเที่ยว

เร่งใช้งบฯ 1.7 พันล.พัฒนาเมือง

โดยการขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัด มุ่งสู่การเป็น “อยุธยาเมืองมรดกโลก เป็นแหล่งเรียนรู้ น่าเที่ยว น่าอยู่ น่าลงทุน” ภายใต้แนวคิดมองอยุธยา ซึ่งจะมีการพัฒนา 3 ด้าน คือ

1.ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคท่องเที่ยว จะดำเนินการใน 5 ด้าน ซึ่งได้งบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 1,700 ล้านบาท เริ่มต้นจาก 1) จัดระเบียบสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยถูกบุกรุก 7-8 จุด โดยปี 2560 ได้ปรับปรุงไปกว่า 15 จุด เช่น ศาลากลางเก่า วัด ศูนย์ประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ฯลฯ

2) เริ่มวางงบฯปรับปรุงโบราณสถาน โดยเลือกวัดที่อยู่ในเกาะกลาง รอบมรดกโลก จากวัดทั้งหมดกว่า 600 วัด เช่น วัดมงคลบพิตร วัดไชยวัฒนาราม วัดมหาธาตุ รวมถึงศูนย์ประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น

3) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ไฟจราจร วงจรปิด ป้ายบอกทาง การนำสายไฟลงดิน รวมถึงการปรับปรุงเกาะเมืองที่น้ำสามารถลอดเข้ามาได้ ระยะทาง 2 กิโลเมตร (กม.) 4) จัดกิจกรรมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาพักค้างมากขึ้น ในคอนเซ็ปต์ “12 อีเวนต์ 12 แอ็กทิวิตี้ 12 คอนเสิร์ต” โดยจะจัดกิจกรรมทุกเดือน เน้นคนมีส่วนร่วมมากกว่าคนดู เช่น การจัดงานวิ่ง การจัดแข่งเรือ งานวันนายขนมต้ม งานยอยศยิ่งฟ้าอยุธยามรดกโลก เป็นต้น และ 5) การประชาสัมพันธ์

ทั้งนี้ ปี 2561 มีรายได้จากภาคการท่องเที่ยวอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท นักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวหลักเป็นคนไทย ขณะที่ต่างชาติ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากมีประวัติที่เกี่ยวข้องกับไทย ประกอบกับล่าสุดเตรียมส่งเสริมความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้อง (sister city) กับเมืองเกียวโตและชิซูโอกะ ญี่ปุ่น และหนานหนิง จีน โดยมีการเจรจา 4 เรื่อง ทั้งวัฒนธรรม ท่องเที่ยว กีฬา และผลิตภัณฑ์โอท็อป โดยการวางคอนเทนต์การพัฒนาการท่องเที่ยวระหว่างกัน

ตอบโจทย์การจัดการน้ำ

ขณะที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม มีโจทย์ที่ขอให้แก้ไข 1.น้ำท่วม 2.โลจิสติกส์ 3.ยาเสพติด ซึ่งจังหวัดได้ตอบโจทย์อย่างชัดเจนว่า พระนครศรีอยุธยาจะไม่มีน้ำท่วม โดยการบริหารจัดการน้ำได้ดำเนินงาน 3 ด้าน คือ 1) ป้องออก 2) พักตก 3) ระบายใต้ ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่เมืองเป็น 4 ส่วน คือ พื้นที่เขตเมือง ซึ่งมีการขุดลอกคูคลอง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 158 จุด สร้างเขื่อนโอบพื้นที่มรดกโลก

สำหรับพื้นที่อุตสาหกรรม มีโครงการสร้างเขื่อนโอบล้อม 6 แห่ง ในโซนตะวันออกของจังหวัดเป็นแหล่งอุตสาหกรรม ขณะนี้สร้างแล้ว 4 เขื่อน และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2 เขื่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จอีกประมาณ 12 เดือน รวมถึงเตรียมของบประมาณก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 2 เขื่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสามารถป้องกันได้เกิน 100% นับเป็นบัฟเฟอร์โซนชั้นแรก อีกนิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่งยังทำบัฟเฟอร์โซนเขื่อนกันน้ำของตัวเองด้วย ทำให้วันนี้โรงงานต่าง ๆ ไม่ย้ายฐานการผลิตแล้ว นิคมอุตสาหกรรมโรจนะขยายพื้นที่เพิ่มอีก 1,000 ไร่

ปรับทัพเปลี่ยนช่วงทำนา

ด้านพื้นที่เกษตร ซึ่งอยู่ในโซนตะวันตกของจังหวัด จากเดิมที่มีน้ำหลากช่วง 15 กันยายนของทุกปี ชลประทานเริ่มปล่อยน้ำ 1 กรกฎาคม จึงได้กำหนดเลื่อนการทำนาขึ้นมา 50 วัน ซึ่งจะมีการเก็บเกี่ยวก่อน 15 กันยายนทั้งหมด โดยก่อนเริ่มแผนได้ทำประชาคม 1,488 หมู่บ้าน ส่งผลให้ภาครัฐไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยนับพันล้านบาท และเกษตรกรไม่ต้องเป็นหนี้สิน โดยโครงการนี้ได้ขยายไปภาคเหนือ โดยกรมชลประทานประกาศว่า เริ่มปรับเปลี่ยนช่วงเวลาทำนาจากเดิม 1 กรกฎาคมทั้งหมด โดยนครสวรรค์เริ่ม 1 เมษายน และพื้นที่ด้านล่างลงมาเริ่ม 1 พฤษภาคม

ขณะเดียวกัน หลังเกี่ยวข้าวจะเอาน้ำเข้านาและส่งเสริมอาชีพประมง ด้วยการปล่อยพันธุ์ปลา 5 ล้านตัว ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นจะระบายน้ำออก เหลือประมาณ 1 ใน 4 เพื่อไว้เพาะปลูกต่อไป ทั้งนี้ ทำให้จังหวัดไม่ต้องขอน้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) มาทำนารอบใหม่ รวมถึงทำให้ได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น โดยปี 2560 เพิ่มขึ้น 25 ถัง/ไร่ ลดการใช้สารเคมี 30% ในส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำที่หลากมา 1.2 พันล้าน ลบ.ม. นำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่ง 3.9 แสนไร่ ทำให้ไม่เกิดน้ำท่วม

เดินหน้าแก้กฎหมายที่ดิน

นอกจากนี้ จังหวัดได้ปรับแก้กฎหมายที่ดิน ซึ่งกำหนดให้หมู่บ้านจัดสรรต้องดำเนินการ 3 เรื่อง ได้แก่ บ้านทุกหลังต้องมีถังเก็บน้ำขนาด 100 ลิตรขึ้นไป และถังดักไขมันประจำบ้าน รวมถึงเพิ่มขนาดท่อจาก 40 เซนติเมตร (ซม.) เป็น 60 ซม. ในส่วนของด้านการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ให้เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำกว่า 1,000 ล้าน ลบ.ม. เพื่อสร้างระบบน้ำสำรอง โดยต้องทำน้ำประปาให้ได้อย่างน้อย 5 วัน เช่นเดียวกับโรงพยาบาล โรงแรม โรงเรียน วัด ให้เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำ ปลูกต้นไม้ และทำหมันสุนัข ขณะนี้โรงพยาบาล 16 อำเภอ ทำระบบน้ำบาดาลแล้ว และเตรียมขยายเป็น 208 ตำบล นอกจากนี้ ยังมีโครงการขุดดินแลกน้ำ คือ การทำแก้มลิงไว้ทั้งหมด 208 ตำบล ขณะนี้ทำแล้วกว่า 80 ตำบล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินสาธารณะ

สภาอุตฯเร่งเครื่องดึงความเชื่อมั่นลงทุน

พระนครศรีอยุธยา ถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักในปี 2554 จนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ถึงวันนี้ผ่านไปเกือบ 7 ปีแล้ว ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายโดยความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัด โดย “สมหวัง ถุงสุวรรณ” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ แผนการบริหารจัดการน้ำภายในจังหวัดจะเรียบร้อยสมบูรณ์ คาดว่าในอนาคตจังหวัดพระนครศรีอยุธยาน่าจะมีการเติบโตที่เร่งขึ้นได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันภาพรวมอัตราการขยายตัวของจังหวัดเทียบกับปีที่ผ่านขยายตัวราว 3% ต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว เทียบกับอดีตเคยเติบโตมากกว่า 5% มาตลอด เนื่องจากฐานที่โตขึ้น ทำให้การขยายตัวเป็นไปได้ช้าลง

“สำหรับปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการว่า ช่วงปี 2554 ถือเป็นการผิดพลาดในการบริหารจัดการ แต่ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนเปลี่ยนไป เกิดความตื่นตระหนกแก่นักลงทุนทั่วโลก เนื่องจากเป็นฐานการผลิตสำคัญของแบรนด์ใหญ่ เช่น ฮอนด้า แคนนอน พานาโซนิค สวารอฟสกี้ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้ฮาร์ดดิสก์ เช่น เวสเทิร์น ดิจิทัล ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน มีสัดส่วนการผลิตถึง 50%”

การบริหารจัดการน้ำในจังหวัด มีการใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นฐาน ได้แก่ 1.ป้องออก คือ ป้องกันฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม มีการทำระดับของถนน และประตูระบายน้ำสำคัญ 6 ประตู ภายใต้การดูแลของกรมชลประทาน เพื่อให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นมายังฝั่งตะวันออก โดยจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

2.เก็บตก คือ ใช้พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่รับ และเก็บกักน้ำ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำมีการท่วมขังทุกปี แต่ท่วมในลักษณะที่ประชาชนยังอยู่ได้ รวมถึงเป็นทุ่งขนาดใหญ่ 7 ทุ่ง มีความจุมากกว่าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ทั้งนี้ ยุทธวิธีสำคัญ คือ การปรับพฤติกรรมของเกษตรกรให้ทำนาเหลื่อมเวลาจากเดิม โดยเริ่มต้นปลูกข้าวให้เร็วขึ้น เพื่อให้เก็บเกี่ยวได้ก่อนเดือนกันยายน

3.ระบายใต้ คือ การระบายน้ำที่มาจากทางทิศเหนือให้ไหลออกสู่ทิศใต้ เนื่องจากแม่น้ำ 4 สายไหลจากทิศเหนือมารวมกันที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้น้ำมีปริมาณมาก จึงมีความจำเป็นต้องมีคลองระบายน้ำเพิ่ม นำไปสู่โครงการขุดคลองเจ้าพระยาสอง หรือที่เรียกกันว่า “คลองบางบาล-บางไทร” ระยะทาง 23 กม. อยู่ระหว่างออกแบบและขอซื้อพื้นที่คืน คาดว่าจะก่อสร้างได้ต้นปี 2562 ใช้เวลาทำโครงการ 30 เดือน หรือ 2 ปีครึ่ง

“แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ประเทศไทยยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ในการกลับมาลงทุนที่อยุธยา หลังจากการลงทุนหายไปราว 10% ในปี 2554 หลายบริษัทมีการสร้างเขื่อนของตัวเอง เพื่อรับมืออุทกภัยในอนาคต เช่น เขื่อนรอบนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินที่มีการลงทุน 700 ล้านบาท ซึ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ 2/3 ของทั้งหมด”

 

 

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!