ประมวลอุทกภัยใต้ 30 ปี ย้อนรอยจาก “เกย์” สู่ “ปาบึก”

ความตื่นตระหนกก่อตัวรับปีใหม่ เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนประชาชนเนื่องจากการก่อตัวของพายุโซนร้อน “ปาบึก” ในพื้นที่อ่าวไทยช่วงต้นเดือนมกราคม ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัดมีฝนตกหนักถึงหนักมาก รวมถึงมีลมแรง เช่น ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมไปถึงอาจเกิดคลื่นสูงถึง 3-5 เมตรในพื้นที่อ่าวไทย และ 2-3 เมตรในบริเวณอันดามัน

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้เกิดการตื่นตัว และเตรียมการรับมืออพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหลายจุด ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดา ถือเป็นการลดความสูญเสียและความเสียหายที่ดี ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสนำบทเรียนต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ในช่วง 30 ปีมาย้อนรอยให้ทราบกัน

จากข้อมูลสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้รวบรวมเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศนับตั้งแต่ปี 2532-2561 เป็นจำนวนกว่า 100 เหตุการณ์ เพื่อบอกเล่าถึงผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคใต้

“เกย์-นูล” เสียหายรุนแรง

เริ่มจากพายุไต้ฝุ่น “เกย์” เกิดขึ้นเดือนพฤศจิกายน 2532 ถล่มจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย มีผู้เสียชีวิตและเกิดความเสียหายอย่างมากในพื้นที่ของจังหวัดชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อจังหวัดใกล้เคียงตามชายฝั่งอ่าวไทย และจังหวัดตามชายฝั่งทะเลตะวันออก มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน สูญหายกว่า 400 คน ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชนเสียหายไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท เรือประมงจมลงสู่ใต้ท้องทะเลประมาณ 500 ลำ

ต่อมาเดือนธันวาคม 2551 พายุโซนร้อน “นูล” ที่ทำให้ฝนตกต่อเนื่องหลายวันตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายนเป็นต้นมา ส่งผลกระทบรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี สงขลา ตรัง และนราธิวาส โดยเฉพาะจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา และพัทลุง มีน้ำท่วมขังเกินกว่า 15 วัน และน้ำยังไม่ลดระดับ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบถึงจังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมกันกว่า 35 จังหวัด กระทบพื้นที่การเกษตร 953,404 ไร่ โดยเสียหายสิ้นเชิง 96,193 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ผลผลิตไม่ได้รับความเสียหายประมาณ 681,854 ไร่ โดยจังหวัดที่มีเนื้อที่เสียหายมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เสียหายประมาณ 86,732 ไร่

ใต้ท่วมต่อเนื่อง

ในช่วงปี 2552 เป็นต้นมา พื้นที่ภาคใต้ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมระหว่างวันที่ 4-9 พฤศจิกายน 2552 พื้นที่ประสบภัย 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ชุมพร สงขลา สตูล ตรัง นราธิวาส ยะลา และจังหวัดปัตตานี รวม 74 อำเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 92,043 คน 22,331 ครัวเรือน

รวมไปถึงเหตุการณ์น้ำท่วมเดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่งกระทบหลายจังหวัด ได้แก่ ตรัง พัทลุง สตูล สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร พังงา เป็นต้น โดยนายสมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร นายกสมาคมโรงแรมหาดใหญ่-สงขลาในขณะนั้นคาดว่าความเสียหายในส่วนของทรัพย์สินโรงแรมและการขาดรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ปี 2560 น้ำท่วม 1 ล้านไร่

และในปี 2560 ดาวเทียม COSMO-SkyMed-4 RADARSAT-1 และ RADARSAT-2 ยังได้บันทึกภาพบริเวณภาคใต้ช่วงเดือนมกราคม 2560 พบพื้นที่ถูกน้ำท่วมทั้งสิ้น 10 จังหวัดประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ตรัง นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสุราษฎร์ธานี รวมพื้นที่ถูกน้ำท่วมประมาณ 1.21 ล้านไร่ โดยจังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมมากที่สุด 597,740 ไร่ คิดเป็น 49% ของพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด รองลงมาคือ จังหวัดพัทลุง สงขลา และสุราษฎร์ธานี

โดยในปี 2562 แม้พายุโซนร้อน “ปาบึก” จะก่อตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปี แต่จากการแจ้งเตือนและเตรียมการของภาคส่วนต่าง ๆ ล่วงหน้า ทั้งการอพยพประชาชน เตรียมแผนดำเนินการ ไปจนถึงการออกประกาศเตือนอย่างแพร่หลาย ล้วนแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้และความพร้อมในการป้องปรามอุทกภัยของภาครัฐและเอกชน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!