ทอท.ขยายสนามบินเชียงใหม่ 1.5 หมื่นล. รับผู้โดยสารทะลัก คาดปี’65 แตะ 16.5 ล้านคน

“ท่าอากาศยานเชียงใหม่” เร่งเดินหน้าก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 มูลค่าโครงการกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท หลังจำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดจะช่วยแก้ปัญหาความคับคั่งและแออัดของผู้โดยสาร ตั้งเป้ารองรับผู้โดยสารได้ 16.5 ล้านคนในปี 2565 ชี้ ศักยภาพของสนามบินมีขีดความสามารถรองรับ long haul flight หรือเที่ยวบินระยะไกลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เผย โครงการสนามบินแห่งที่ 2 เริ่มติดเครื่องศึกษารายละเอียดเชิงพื้นที่แล้ว

นาวาอากาศตรี มณธนิก รักงาม ที่ปรึกษา 10 ทอท. และรักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในโอกาสครบรอบ 31 ปี การดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานเชียงใหม่มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร 8 ล้านคน/ปี แต่แนวโน้มการเติบโตของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นถึง 250% ส่งผลให้เกิดความแออัดและสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอในบางช่วงเวลา แม้ว่าจะปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ขยายพื้นที่การให้บริการ และบริหารจัดการเส้นทางเดินของผู้โดยสาร เพื่อให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากที่สุด ภายใต้คุณภาพการให้บริการในระดับสากล และมาตรฐานความปลอดภัยขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) มาโดยตลอดแล้วก็ตาม ก็ยังไม่ทันต่ออัตราการเติบโตของปริมาณผู้โดยสาร

โดยตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ท่าอากาศยานเชียงใหม่ต้องให้บริการผู้โดยสารในปริมาณที่เกินขีดความสามารถ และต้องเผชิญกับปัญหาความคับคั่งของผู้โดยสาร ดังนั้น ทอท.จึงได้อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (2563-2565) มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคนในปี 2565 ในวงเงินงบประมาณ 15,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 (เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2563-2565) ประกอบด้วย โครงการสำคัญ คือ 1.งานก่อสร้างทางขับขนานเส้นใหม่พร้อมทางขับออกด่วน เพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 29-31 เที่ยวบิน/ชั่วโมง 2.งานก่อสร้างและปรับปรุงลานจอดอากาศยานจาก 20 หลุมจอด เป็น 31 หลุมจอด โดยเป็นหลุมจอดประชิดอาคาร 12 หลุมจอด และหลุมจอดระยะไกล 19 หลุมจอด พร้อมติดตั้งสะพานเทียบเพิ่มเติม 6 ชุด พร้อมระบบ เติมน้ำมันอากาศยานทางท่อ

3.งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ พื้นที่ 70,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 5.3 ล้านคน/ปี 4.งานก่อสร้างอาคารสำนักงาน ทชม.และสายการบิน พร้อมที่จอดรถยนต์ 1,600 คัน 5.งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิมเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ พื้นที่ 48,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 11.2 ล้านคน/ปี 6.งานก่อสร้างและปรับปรุงขยายขีดความสามารถของระบบบำบัดน้ำเสีย 7.งานก่อสร้างโรงผลิตน้ำประปา 8.งานก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย และ 9.งานก่อสร้างและปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยานเป็น 3 ช่องจราจร ก่อสร้างทางยกระดับ แยกผู้โดยสารขาเข้าและขาออก

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ทอท.ได้อนุมัติแผนเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความแออัด (ดำเนินการก่อสร้างปี 2561-2563) ประกอบด้วย โครงการสำคัญ ทั้งงานก่อสร้างอาคาร Private Jet Terminal พร้อมลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์สัมปทาน 1,000 คัน งานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์รองรับรถยนต์ 400 คัน งานก่อสร้างอาคารสถานีดับเพลิงและกู้ภัย งานก่อสร้างอาคารบำรุงรักษา งานก่อสร้างอาคารคลังสินค้า งานก่อสร้างพื้นที่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับอุปกรณ์ภาคพื้น (Ground Service Equipment :GSE) และงานปรับปรุงทางสัญจร และชานชาลาบริเวณด้านหน้าอาคารผู้โดยสาร

ทั้งนี้ เมื่อโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 แล้วเสร็จในปี 2565 ก็จะเริ่มโครงการพัฒนาพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ระยะที่ 2 (2565-2568) ต่อเนื่อง มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 20 ล้านคน ในปี 2568 ในวงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยศักยภาพของสนามบินเชียงใหม่มีขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินระยะไกล (long haul flight) จากยุโรปได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีดีมานด์ที่จะเปิดบินตรงเชื่อมจากเชียงใหม่ ซึ่งอนาคตเมื่อการพัฒนาสนามบินได้รับการพัฒนาอย่างเต็มระบบ ก็จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับเที่ยวบินระยะไกลได้เพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ในปี 2561 ปริมาณการจราจรทางอากาศ (มกราคม-ธันวาคม 2561) มีอากาศยานพาณิชย์ขึ้น-ลง 78,208 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 8.63% มีสายการบินที่บินประจำภายในประเทศ 8 สายการบิน ทำการบินใน 13 เส้นทาง และสายการบินระหว่างประเทศ 26 สายการบิน ทำการบินใน 27 เส้นทาง มีเที่ยวบินเฉลี่ย 252 เที่ยวบิน/วัน

ขณะที่มีจำนวนผู้โดยสาร 10.99 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ราว 7.42% เฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศมีประมาณ 2.68 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16.35% ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้โดยสารชาวจีนถึงกว่า 1.69 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 19% การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารชาวจีนดังกล่าว นำมาซึ่งความเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่และประเทศชาติ

นาวาอากาศตรี มณธนิก กล่าวถึงแผนการพัฒนาโครงการก่อสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ว่า ล่าสุดกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ ทอท.ทำการศึกษาในรายละเอียดทางวิชาการ โดยได้เริ่มลงพื้นที่ที่เป็นจุดก่อสร้างโครงการ บริเวณเขตรอยต่อ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน และ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาแนวที่ดิน ทิศทางลม และเป็นพื้นที่ที่ไม่มีสิ่งกีดขวางต่อการขึ้นลงของอากาศยาน เป็นต้น