ถวัลย์ บุญภักดี ชูยาตำรับไทย “อุทัยประสิทธิ์” จับมือ BJC หนุนเมืองสมุนไพรโต

สัมภาษณ์

ยาสมุนไพรพื้นบ้านนับได้ว่าเป็นภูมิปัญญาไทยสำคัญรูปแบบหนึ่ง ที่มีการสืบสานต่อยอดมาเป็นเวลานับร้อยปี แม้ในปัจจุบันความนิยมจะถดถอยไปเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ยาแผนปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น แต่ทว่าช่วงปีหลังกระแสของแพทย์ทางเลือกได้ปลุกความนิยมของยาสมุนไพรไทยให้ฟื้นกลับมาอีกครั้ง

ล่าสุดรัฐบาลประกาศนโยบายเมืองสมุนไพร ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โดยมีจังหวัดนำร่องหลัก 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ปราจีนบุรี สกลนคร และสุราษฎร์ธานี มีหน่วยงานขับเคลื่อนสำคัญอย่าง มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี ที่เป็นผู้สนับสนุนองค์ความรู้ในการแพทย์แผนไทยแก่ผู้ประกอบการและประชาชนในชุมชนต่าง ๆ

นอกจากมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรหัวเรือใหญ่แล้ว จังหวัดปราจีนบุรีเองยังมีผู้ประกอบการเอกชนที่ประกอบกิจการมาอย่างยาวนานอย่าง บริษัท อุทัยประสิทธิ์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรอุทัยประสิทธิ์ และหมอลูกอินทร์ ซึ่งมีที่มาจากขุนอุทัยประสิทธิ์ หมอหลวงประจำจังหวัดปราจีนบุรี และแพทย์ประจำตัวของเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร โดย “ถวัลย์ บุญภักดี” ทายาทรุ่นที่ 3 และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อุทัยประสิทธิ์ จำกัด ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพรไทยและแพทย์แผนโบราณไว้อย่างน่าสนใจ

จับมือ BJC เพิ่มยอด 15%

ถวัลย์เล่าว่า ที่ผ่านมาอุทัยประสิทธิ์จะวางขายในร้านยาเพื่อสุขภาพ เช่น ร้านตำรับไทย และร้านสบายใจ ตามห้างสรรพสินค้า เป็นต้น โดยยอดขายในปี 2558-2559 ค่อนข้างดี แต่พอเข้าปี 2560-2561 ตลาดสมุนไพรค่อนข้างจะซบเซา มียอดขายในปี 2561 เพียง 5 ล้านบาท ในปี 2562 คาดว่าการดำเนินธุรกิจนี้จะกลับมาดีขึ้น เนื่องจากมีการติดต่อให้ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด หรือ BJC เป็นผู้กระจายสินค้าและช่วยจัดจำหน่ายให้ โดยเพิ่งเริ่มทำสัญญาและกระจายสินค้าเต็มตัวในเดือนมีนาคม 2562 รวมไปถึงเริ่มมีการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก คาดว่าจะทำให้ยอดขายปี 2562 เพิ่มขึ้นประมาณ 10-15%

ทั้งนี้ การสนับสนุนโครงการเมืองสมุนไพรของภาครัฐ และค่านิยมของประชาชนในการหันมาดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรที่มากขึ้น เป็นส่วนผลักดันภาวะการตลาดในปี 2562 โดยโครงการเมืองสมุนไพรของรัฐบาลตั้งแต่ปลายปี 2561 ทำให้คนทั่วไปสนใจมากขึ้น รวมไปถึงการสนับสนุนของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศวร ที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาสมุนไพรในจังหวัดปราจีนบุรี ให้สามารถผลิตสมุนไพรได้อย่างก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งยังสนับสนุนบริษัทอุทัยประสิทธิ์ผ่านการให้คำปรึกษา ในการทำระบบ GMP หรือมีมาตรฐานในการผลิตยา ซึ่งปัจจุบันได้รับมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice-GMP) เรียบร้อยแล้ว

ชู “ยาตำรับ” ทานง่าย

ถวัลย์อธิบายว่า จุดเด่นสำคัญของอุทัยประสิทธิ์ คือ การแปรรูป “ยาตำรับ” ซึ่งดั้งเดิมเป็นยาน้ำมีรสขมให้เป็นแคปซูลและทานง่าย ซึ่งในตลาดยังมีคู่แข่งน้อย ทั้งนี้ ยาตำรับไม่ใช่ยาเพื่อการรักษา 100% แต่คือการฟื้นฟู เช่น กรดไหลย้อนเรื้อรัง การใช้ยาแผนปัจจุบันจะเป็นการรักษาระยะเริ่มต้น หายจุกเสียดแน่นเฟ้อ แต่ยาสมุนไพรที่เป็นยาตำรับจะมีฤทธิ์ในการดูแลรักษาฟื้นฟูอวัยวะ ซึ่งข้อดีคือสามารถกินได้เป็นระยะเวลายาวนานโดยไม่กระทบต่อตับ เพราะไม่ได้ทานในจำนวนที่เยอะมากต่อวัน ทำให้สารจากสมุนไพรไม่สะสมและระบายออกผ่านทางการขับถ่าย รวมถึงในแต่ละตำรับจะมีตัวยาที่เป็นส่วนผสมหลายตัว ทำให้พิษถูกหักลดอัตราส่วนลง ผิดกับยาเดี่ยว เช่น สารสกัดจากมะระขี้นก หากเอามาบดแล้วใส่แคปซูลเลยก็จะมีพิษอยู่ หากกินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

“สูตรยาตำรับเหล่านี้เกิดจากการลองผิด ลองถูก และคัดสรรมาเป็นคัมภีร์ ทั้งนี้ ยาตำรับจะแบ่งตามการออกฤทธิ์ยาเป็น ยาหลัก ยาช่วย ยาเสริมฤทธิ์ ยาเพิ่มฤทธิ์ หรือบางครั้งหมอแพทย์แผนโบราณหลายคนอาจใช้ยาตำรับตัวเดียวรักษาโรคได้หลายโรค โดยใช้เพียงการเปลี่ยนกระแสยา หรือตัวทำละลาย เช่น เหล้าขาว น้ำปูนใส หรือน้ำเปลือกมะขามและเปลือกแค เป็นต้น”

วัตถุดิบหายาก เร่งนำเข้า

ด้านปัญหาที่พบในการดำเนินงาน คือ ประเด็นเรื่องวัตถุดิบในการทำยาตำรับ เพราะมีจำนวนน้อยที่มีในประเทศไทย กว่า 80% ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ เนื่องจากป่าไม้ในประเทศไทยลดน้อยลง อีกทั้งยาตำรับในประเทศไทยไม่ได้ใช้ไม้ล้มลุก แต่ใช้ไม้ยืนต้นที่มีอายุ 50-60 ปี เพื่อให้ได้สรรพคุณที่ดีต้องใช้ทั้งแก่นและเปลือกไม้ หรือกระทั่งรากไม้ ซึ่งต้องอาศัยการนำเข้าสมุนไพรจากประเทศเพื่อนบ้าน

“บางคนไม่เข้าใจยาไทย และพอพูดถึงยาแผนโบราณต้องคิดว่าราคาต้องถูก แต่ปัจจุบันต้นทุนสูงขึ้น เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบในประเทศไทยได้ และมีราคาแพง ไม่เหมือนสารเคมี อย่างยาจำพวกพาราเซตามอลที่พอผลิตในปริมาณมากแล้วจะราคาถูกกว่าเม็ด “ยาจันทน์ลีลา” ซึ่งมีสรรพคุณแก้ไข้ จะตกเม็ดละ 3 บาท เพราะวัตถุดิบเป็น “จันทน์แดง” ที่มีราคาค่อนข้างแพง เนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นที่ใช้เวลาในการปลูกประมาณ 15 ปี ถึงจะมีสารสีแดงในเนื้อไม้ และสามารถนำมาใช้ได้”

สัญญาณดีเตรียมใช้ “กัญชา”

ถวัลย์กล่าวเสริมถึงเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ว่า กัญชาเป็นส่วนผสมสำคัญในตำรับยาแผนโบราณ แบ่งเป็น ยาแก้ปวดเมื่อย ยาอายุวัฒนะ ยาบำรุงร่างกาย หรือกระทั่งยานอนหลับ โดยจะเป็นยาตำรับผสมผสานกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น ยาบำรุงร่างกาย เป็นยาปรับธาตุ มีกัญชาเป็นส่วนผสมเพื่อให้นอนหลับง่าย เป็นต้น ซึ่งพอกัญชากลายเป็นสารเสพติด ก็จำเป็นต้องถอดออกจากสูตรตำรับยาทำให้สรรพคุณลดลงกว่าครึ่ง ซึ่งยาแผนโบราณหลายตัวต้องอาศัยกัญชาในการเปลี่ยนกระแสยาให้ออกฤทธิ์มากขึ้น เป็นต้น

“ส่วนการจดทะเบียนกัญชามาใช้ในสูตรของอุทัยประสิทธิ์นั้น ต้องรอดู พ.ร.บ.ยา และกฎหมายลูกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งถ้าทางการงดเว้นให้ผู้ประกอบการแผนไทยใช้เป็นสูตรยาตำรับได้ เราก็จะยื่นขออนุญาตเพื่อนำมาใช้”