“เจ้าสัววิชัย” น้ำมันพืชองุ่นรุกลงทุนท่าเรือลาว

เปิดงาน - นายวิชัย วิทยฐานกรณ์ ผู้บริหารบริษัท ฟ้าไชโย จำกัด เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการ ?อาร์สามเอจากอดีตสู่ปัจจุบัน? ณ ไชโยแลนด์ ตั้งอยู่บนถนนสายเชียงราย-เวียงชัย เทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย โดยมีท่านโจมเหรียญทองคำ หัวหน้าแผนกโยธาธิการแขวงบ่อแก้ว และคณะผู้บริหารจากแขวงบ่อแก้วเข้าร่วมงาน

“วิชัย วิทยฐานกรณ์” เจ้าสัวน้ำมันพืชองุ่น ขยายอาณาจักร รุกลงทุนท่าเรือเมือง “ห้วยทราย”-พัฒนาเส้นทางการค้า-ท่องเที่ยว “แขวงบ่อแก้ว-อุดมไชย” สปป.ลาว รองรับจีนขยายอาณาเขตเปิดพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้เชื่อมลาว-ไทยคึกคัก แถมผุด “ไชโยแลนด์” พื้นที่ 9 ไร่ สร้างแหล่งเรียนรู้ ต่อยอดลงทุน R3A เชียงราย

นายวิชัย วิทยฐานกรณ์ ผู้บริหาร บริษัท ฟ้าไชโย จำกัด และกรรมการ บริษัท น้ำมันพืชไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตน้ำมันพืชตราองุ่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เข้าไปลงทุนโครงการท่าเรือท่องเที่ยวที่เมืองห้วยทราย สปป.ลาว โดยมีเรือจำนวน 2 ลำให้บริการนักท่องเที่ยวรองรับผู้โดยสารได้กว่า 80 คน ภายหลังจากที่เคยเข้าไปรับสัมปทานลงทุนสร้างท่าเรือที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย และท่าเรือบั๊กในฝั่ง อ.เชียงของ โดยบริษัทพัฒนาท่าเรือ และต่อเรือเอง เพื่อเปิดให้บริการขนส่งสินค้า นำเรือวิ่งทวนแม่น้ำโขงจาก จ.นครพนมขึ้นมาถึงเชียงของ ใช้เวลากว่า 50 วัน ขณะเดียวกันเคยเปิดให้บริการเรือขนส่งสินค้าข้ามฟากจากฝั่ง สปป.ลาว ไปยังฝั่งไทย 2 ลำต่อวัน ส่วนใหญ่ขนข้าวและข้าวโพดไปขาย ซึ่งในยุคที่ยังไม่มีถนน R3A ทั้งนี้ปัจจุบันครบสัญญาสัมปทาน 15 ปี จึงได้ส่งคืนท่าเรือและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ให้กับทางการ สปป.ลาวตามสัญญา

นอกจากนี้ ได้พยายามพัฒนาการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง โดยล่าสุดได้หารือกับท่านคำพัน เผยยะวง อดีตเจ้าแขวงบ่อแก้ว และปัจจุบันไปเป็นเจ้าแขวงอุดมไชย โดยมีแนวคิดจะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการนำร่องเส้นทางแรลลี่แม่น้ำโขงจากแขวงบ่อแก้ว-อุดมไชย ในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันได้สร้าง “ไชโยแลนด์” ขึ้นบนพื้นที่ประมาณ 9 ไร่ เขตเทศบาลนครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย บนถนนเชียงราย-เวียงชัย เพื่อใช้เป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ที่เคยผ่านมาในอดีต และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจใช้เป็นองค์ความรู้ และสามารถต่อยอดการลงทุนของตัวเองกรณีจะประกอบอาชีพทางธุรกิจในอนาคตได้ ปัจจุบันไชโยแลนด์มีการจัดแสดงภาพถ่ายจากประสบการณ์ของตนในอดีตและอยู่ระหว่างพัฒนา โดยจะหารือกับหุ้นส่วนว่าจะให้เป็นแหล่งเรียนรู้ได้อย่างไรต่อไป โดยจะมีการเปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อให้สามารถเข้าไปลงทุนและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้ด้วยอย่างหลากหลาย

“สำหรับอนาคตนั้นผมเชื่อว่าการพัฒนาเชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนจะเติบโตขึ้น เพราะรัฐบาลไทยได้อนุมัติสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของไปแล้ว และแม้ว่าจีนจะสร้างเส้นทางมายัง สปป.ลาว แต่เลี้ยวเข้าสู่ตอนใต้ของ สปป.ลาว ก่อนเข้าสู่ประเทศไทยด้าน จ.หนองคาย แต่ก็มีถนนอาร์สามเอดังกล่าวรองรับ และที่ชายแดนจีน-สปป.ลาว ที่บ่อเต็น-โมฮาน ก็ก่อสร้างเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ กันอย่างคึกคัก แม้แต่ในเมืองห้วยทรายเองก็มีการพัฒนา โดยมีการขยายสนามบินให้เติบโตขึ้นกว่าเดิมถึง 2-3 เท่า แสดงว่าพื้นที่แห่งนี้กำลังจะเติบโตในอนาคต” นายวิชัยกล่าว

นายวิชัยกล่าวต่อไปว่า ตนได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมขับเคลื่อนด้านความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจย่านจีนตอนใต้ สปป.ลาว โดยรับทราบข้อมูลมาตั้งแต่ความพยายามจะขยายเศรษฐกิจลงสู่ภาคใต้ของประเทศจีนผ่านทาง สปป.ลาว สู่ประเทศไทยแล้ว โดยยุคเมื่อประมาณ 40 ปีก่อนผู้นำจีนยุคเติ้ง เสี่ยวผิง ได้หารือกับชาวจีนโพ้นทะเลที่ออกไปทำมาหากินยังต่างประเทศ แล้วพบว่าประเทศไทยเป็นภูมิศาสตร์สำคัญและเอื้อเฟื้อต่อชาวจีนอย่างมาก ดังนั้น จึงได้มีแผนขยายเส้นทางคมนาคมผ่าน สปป.ลาว สู่ประเทศไทย เพื่อย่นระยะทางขนส่งสินค้าระหว่างทะเลจีนใต้กับมหาสมุทรอินเดียที่ต้องใช้การแล่นเรืออ้อมแหลมมลายู โดยใช้เวลาขนส่งนานกว่า 2-3 เดือน

ในยุคนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นไปได้ เพราะเส้นทางจากจีนตอนใต้-สปป.ลาว-ไทย เป็นป่าเขาสูงชัน ระยะทางไกลหลายร้อยกิโลเมตร แต่ทางการจีนก็มีการใช้มณฑลเสฉวนอันเป็นบ้านเกิดของนายเติ้ง เสี่ยวผิงเองเป็นฐานที่มั่นในการสร้างเส้นทางสายใหม่ดังกล่าว ดังนั้นก่อนจะมีถนนอาร์สามเอจากจีนตอนใต้-สปป.ลาว-ไทย ตนจึงได้เข้าไปลงทุนสร้างท่าเรือรองรับที่เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงของ จ.เชียงราย และท่าเรือบั๊กในฝั่ง อ.เชียงของ

รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงของระบุว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมามีการค้าไทย-สปป.ลาว ผ่าน อ.เชียงของ แยกเป็นการนำเข้ามูลค่า 6,298,050,529 บาท และส่งออกมูลค่า 17,876,447,240 บาท และตั้งแต่เดือน ต.ค. 2561-เม.ย. 2562 พบว่ามีการนำเข้าแล้วมูลค่า 3,334,996,200 บาท และส่งออกมูลค่า 11,241,128,803 บาท โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นผักสด ดอกไม้ ไม้ประดับ ผลไม้สด ถ่านหินลิกไนต์ ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นผลไม้สด น้ำมันดีเซล เครื่องอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง ฯลฯ การขนส่งสินค้ามีทั้งทางแพขนานยนต์ จากท่าเรือเชียงของไปยังท่าเรือฝั่งเมืองห้วยทรายและสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 ทั้งนี้การค้าส่วนใหญ่เป็นการค้าระหว่างไทย-จีนตอนใต้ ระยะทางจาก อ.เชียงของ ไปยังด่านโมฮาน มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ผ่านแขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ประมาณ 254 กิโลเมตร