ภัยแล้งพ่นพิษ “เหนือ-อีสาน-ใต้” “ยาง-ปาล์ม-มังคุด” ผลผลิตวูบกว่า 50%

ภาพรวมภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก แม้หลายพื้นที่ยังมีฝนตกอยู่ แต่เป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ประเทศไทยปีนี้มีปริมาณฝนน้อย ทำให้ไม่ได้ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน ส่งผลให้เขื่อนหลักในหลายจังหวัดมีระดับน้ำลดปริมาณลงกว่าครึ่งของความจุอ่าง ภาพความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรากฏชัด

แล้ง “ยาง ปาล์ม” หดตัว 50-60%

นายทศพล ขวัญรอด เจ้าของสวนยางและปาล์มน้ำมัน ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) เปิดเผยว่า จากภาวะแล้งจัดและยาวนาน ส่งผลให้ยางพาราและปาล์มน้ำมันหดตัวไปปริมาณมาก สำหรับน้ำยางสดหดตัวไปประมาณ 50% ตลอดจนถึงเศษยางด้วย ส่วนปาล์มน้ำมันหดตัวไปประมาณ 60-70% ขนาดปาล์มน้ำมันคอขาด คือ 100 ต้น สามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 30-40 ต้น โดยเฉพาะ 40 ต้นนี้ก็ให้ผลผลิตต่ำ ลูกมีสภาพลีบ

พัทลุง “มังคุด” ขาดน้ำสูญ 60%

นายอุทัย ตุลยนิษก์ เจ้าของสวนผสมผลไม้มังคุด และรองประธาน ตลาดการเกษตรระดับชุมชนตำบลบ้านนา ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์ผลไม้ประจำฤดูกาลปี 2562 จ.พัทลุง เริ่มเก็บเกี่ยวขายแล้ว ปรากฏว่าลูกไม่ได้คุณภาพตามเป้าหมาย และไม่ให้ผลผลิตได้คุณภาพเป็นไปตามปริมาณที่ประเมินผลไว้เมื่อต้นปี 2562 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่ยาวประมาณ 7 เดือนฝนทิ้งช่วง เริ่มตั้งแต่มกราคม 2562 มาจนถึงขณะนี้ มีอยู่บางช่วงที่ฝนตกลงมาประมาณ 4-5 วันเท่านั้น ส่งผลให้ผลไม้ขาดแคลนน้ำ ได้รับผลกระทบ สำหรับใน อ.ศรีนครินทร์เริ่มต้นประเมินไว้ที่ 1,000 ตัน ตอนนี้ประเมินได้ว่าจะเหลือประมาณ 400 กก. หรือเหลือประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะมังคุดใบเริ่มห้อยตรงเพราะขาดแคลนน้ำ อีกทั้งผลมีขนาดเล็กมากขาดคุณภาพ ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด”

 เมืองคอนวิกฤตน้ำประปา

ทางด้านนายมนต์ชัย บุตรมะรัถยา ผู้อำนวยการสำนักการประปาเทศบาลนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงในรอบที่ 2 ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา โดยช่วงแรกฝนทิ้งช่วงเดือนเมษายน และมาช่วงนี้กลางฤดูฝนทำให้แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาของเทศบาล คือ คลองท่าดี อ.ลานสกา แห้งขอดแทบจะไม่มีน้ำ ส่วนแหล่งน้ำดิบที่มาจากต้นน้ำคีรีวงแห้งเกือบขอด น้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 8 ซม. ทำให้การผลิตน้ำประปามีปัญหา ซึ่งได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยนำน้ำดิบจากแหล่งน้ำสำรอง ซึ่งตอนนี้เหลือไม่มาก และมีการรายงานจังหวัดในการขอทำฝนเทียม เพราะหากสัปดาห์หน้าฝนไม่ตกจะวิกฤตยิ่งขึ้นไปอีก

“ปกติเทศบาลผลิตน้ำได้ประมาณวันละ 6 หมื่นกว่า ลบ.ม. แต่ความต้องการใช้กว่าแสน ลบ.ม. เพราะเมืองขยาย มีสถานประกอบการโรงแรมและหมู่บ้านเปิดจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัญหากว่า 6 ปีแล้ว การแก้ปัญหานั้นต้องมีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตกของเมือง คือ ฝั่งลานสกา เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนน้ำ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แหล่งน้ำคีรีวงถือว่าแห้งมากที่สุดในรอบ 10 ปี และตอนนี้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ขยายวงกว้างไม่เฉพาะในเขตอำเภอเมืองและใกล้เคียง แต่อำเภอรอบนอกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เกษตรกรชาวสวนผลไม้ไม่มีน้ำทำให้ร่วงหล่นเสียจำนวนมาก

แม่น้ำโขงทุบสถิติต่ำสุดรอบ 50 ปี

รายงานข่าวจากส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า จากการเก็บรวบรวมสถิติไว้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมาเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์แล้ว ล่าสุดน้ำโขงมีระดับอยู่เพียง 2.22-2.38 เมตร ถือว่ายังต่ำกว่าระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งระดับน้ำโขงต่ำสุดในรอบ 50 ปี อยู่ที่ 2.50 เมตร และระดับน้ำโขงช่วงเดียวกันของปี 2561 นั้นอยู่ที่ 6.15 เมตร ส่วนระดับน้ำโขงเฉลี่ย 50 ปี อยู่ที่ 5.50 เมตร จากระดับน้ำโขงที่ลดลงทำให้ขณะนี้มองเห็นฐานตอม่อของสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่ตั้งอยู่ในแม่น้ำโขงทั้ง 6 ตอม่อ สูงกว่า 1 เมตร ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในช่วงนี้ นอกจากนี้ ยังพบมีเรือหลายลำที่จอดไว้เกยตื้นริมฝั่ง ทั้งนี้ ระดับน้ำโขงที่มีระดับต่ำได้ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง จากปกติมีการเลี้ยงอยู่ประมาณ 2,000 กระชัง เหลือเลี้ยงอยู่เพียง 700-800 กระชัง

เตือนเรือสินค้าระวังจีนกักน้ำ

นายสุรนาท ศิริโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาเชียงราย ได้มีประกาศให้เฝ้าระวังค่าระดับน้ำในแม่น้ำโขง และขอให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือ ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง รวมทั้งแจ้งประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งให้เฝ้าดูค่าระดับน้ำเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้วย เนื่องจากเว็บไซต์คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ระบุว่า กระทรวงทรัพยากรน้ำของจีนจะเริ่มลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ซึ่งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสนขึ้นไปประมาณ 344 กิโลเมตร ตั้งแต่วันที่ 5-9 ก.ค.นี้ จากเดิมที่เคยระบายน้ำจากเขื่อน 1,050-1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ลดลงเหลือเพียง 504-600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากนั้นจะลดระดับการระบายต่อเนื่องไปอีก 7 วัน คือวันที่ 10-16 ก.ค.นี้ ก่อนจะค่อย ๆ ปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นในวันที่ 17 ก.ค.ในปริมาณ 1,050-1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยให้เหตุผลว่าเพื่อบำรุงรักษาระบบสายส่งไฟฟ้าของเขื่อน

ลำน้ำชีแล้งหนักรอบ 10 ปี รายงานข่าวจากมหาสารคาม แจ้งว่า สถานการณ์ภัยแล้งยังขยายวงกว้าง ที่ผ่านมาจังหวัดได้ออกประกาศเขตภัยพิบัติแล้ง 2 อำเภอ คือ อ.พยัคฆภูมิพิสัย และอำเภอวาปีปทุม นาข้าวที่เกษตรกรหว่านไว้เมื่อต้นฤดูกำลังเหี่ยวเพราะขาดน้ำหลายแสนไร่ อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ปริมาณน้ำลดลงอย่างชัดเจน ปัจจุบันเขื่อนวังยางมีน้ำที่ระดับเก็บกัก 135.14 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากระดับเก็บกักปกติ 137.00 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่ำกว่าระดับเก็บกักเกือบ 2 เมตร ระดับน้ำท้ายฝาย อยู่ที่ 129.38 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เปิดประตูระบายน้ำ 1 บาน จาก 6 บาน ระบายน้ำผ่านเขื่อน 0.76 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือ 0.06 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ปริมาณน้ำอยู่ที่ 18.26 ล้าน ลบ.ม. โดยระดับน้ำลดลงเฉลี่ยวันละ 5-10 เซนติเมตร ขณะที่ค่าฝนเฉลี่ยปีนี้ ณ ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 291.7 มิลลิเมตร จากค่าเฉลี่ยฝนทั้งปี อยู่ที่ 1,200 มิลลิเมตร ทำให้ไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรได้ เนื่องจากระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าประตูระบายน้ำ

นายพัฒนะ พลศรี หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 เขื่อนระบายน้ำฝายวังยาง โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.มหาสารคามยังวิกฤตและรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้นาข้าวกว่าแสนไร่ตลอดสองฝั่งลำชีที่ได้รับน้ำจากสถานีสูบน้ำ 80 สถานี อาจได้รับความเสียหายหากฝนไม่มาในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ เพราะน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ปล่อยลงมา 5 แสน ลบ.ม. มาถึงพื้นที่มหาสารคามประมาณ 1 แสน ลบ.ม. ทางเขื่อนวังยางไม่สามารถปล่อยน้ำช่วยเกษตรกรได้มากกว่านี้

 

5 แม่น้ำสายหลักภาคเหนือฮวบ

นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2562 พบว่า ปริมาณฝนสะสมตั้งแต่เริ่มฤดูฝน (20 พ.ค. 62) ถึงปัจจุบันพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สถานีอุตุนิยมวิทยา (สนามบิน) มีปริมาณฝนสะสม 82.20 มม. (มิลลิเมตร) น้อยกว่าปีที่แล้ว 67% จังหวัดลำพูน สถานีอุตุนิยมวิทยาปริมาณฝนสะสม 133 มม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 53% และจังหวัดแม่ฮ่องสอน สถานีอุตุนิยมวิทยามีปริมาณฝนสะสม 223 มม. น้อยกว่าปีที่แล้ว 47% ทั้งนี้ สถานการณ์ฝนช่วงต้นฤดูฝนค่อนข้างน้อยใกล้เคียงปี 2558

ขณะที่ปริมาณน้ำท่าสะสมตั้งแต่เริ่มฤดูฝน (20 พ.ค. 62) ถึงปัจจุบัน จังหวัดเชียงใหม่ น้ำแม่ปิง น้อยกว่าปีที่แล้ว 77% ส่วนจังหวัดลำพูน น้ำแม่ลี้ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน น้อยกว่าปีที่แล้ว 99% น้ำแม่ทา อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน น้อยกว่าปีที่แล้ว 99% จังหวัดแม่ฮ่องสอน แม่น้ำปาย อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน น้อยกว่าปีที่แล้ว 51% และแม่น้ำยวม อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน น้อยกว่าปีที่แล้ว 21% โดยภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่าช่วงต้นฤดูฝนค่อนข้างน้อยใกล้เคียงปี 2558

สำหรับสภาพน้ำในแหล่งน้ำชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ เขื่อนแม่งัดฯปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนแม่งัดฯสะสม 3.48 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่แล้ว 81% และค่อนข้างน้อยใกล้เคียงปี 2558 เขื่อนแม่กวงฯปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนสะสม 8.18 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าปีที่แล้ว 68% และค่อนข้างน้อยใกล้เคียงปี 2558

นายจานุวัตร กล่าวต่อว่า แผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2562 จำนวน 492,401 ไร่ ปลูกแล้ว 189,116 ไร่ หรือราว 38% การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2561/62 จำนวน 325,892 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวพืชฤดูแล้ง โดยข้าวนาปรังเก็บเกี่ยวแล้ว 66% โดยภาพรวมปริมาณน้ำฝน น้ำท่า ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 1 ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนมีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และคาดหมายว่าฤดูฝนปี 2562 มีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างน้อยใกล้เคียงปี 2558 ล่าสุดได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่วางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักและใช้น้ำชลประทานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ส่วนพื้นที่ประสบอุทกภัย/ภัยแล้งยังไม่มี