“สารคาม” ชงรัฐแก้ผังเมือง แก้วิกฤตน้ำท่วม-ภัยแล้ง

นายวรวุฒิ นวสฤษฎ์กุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยในการประชุมร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค ที่เดินทางไปรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของประชาชนในจังหวัดมหาสารคามว่า ทางนักธุรกิจภายในจังหวัดต้องการให้ภาคการเมืองช่วยผลักดันปรับแก้ร่างผังเมืองฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำ เนื่องจากที่ผ่านมา ที่ดินบริเวณสองฝั่งถนนบายพาสรอบเมืองถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งทางภาคธุรกิจคัดค้านมาโดยตลอด แต่กรมโยธาธิการและผังเมืองไม่เคยรับไปพิจารณาเพราะทางส่วนกลางมองไม่เห็นข้อเท็จจริงของสภาพพื้นที่ว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจท้องถิ่น ราคาที่ดินไร่ละประมาณ 3-4 ล้าน แต่พื้นที่สีเขียวสามารถทำนาได้อย่างเดียว และล่าสุดทราบว่าขณะนี้ร่างผังเมืองฉบับใหม่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

นอกจากนี้ในเรื่องระบบโลจิสติกส์ต้องการให้พัฒนาทางหลวงเส้นไปทาง อ.พยัคฆภูมิพิสัย ต้องการก่อสร้างเป็นถนน 4 ช่องจราจรตลอดสาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการคมนาคม การขนส่งสินค้า การท่องเที่ยว เพราะทางหลวงเส้นนี้จะเชื่อมโยงไปยัง จ.บุรีรัมย์ จ.สระแก้ว ไปถึงท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรีได้ ไม่ต้องไปใช้ถนนเส้นมิตรภาพผ่านเข้า จ.นครราชสีมา

ขณะเดียวกัน ต้องการให้แก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมที่กำลังประสบกันอยู่ โดยการพัฒนาบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล โดยทางจังหวัดมหาสารคามต้องการให้มีสร้างโครงการแก้มลิง เพื่อรองรับป้องกันน้ำท่วมและใช้ในการเกษตรได้อย่างยั่งยืน

รวมถึงการยกระดับโรงพยาบาลสุทธาเวช ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับความแออัดของคนไข้ภายในจังหวัด ขณะที่บุคลากรทางด้านการแพทย์ และด้านสาธารณสุขภายในจังหวัด มีความพร้อมรองรับอยู่แล้ว เพราะมีวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม คณะพยาบาล มมส เมื่อมีคนไข้เข้ามาใช้บริการมากขึ้น ท้องถิ่นจะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่าย

นายวรวุฒิกล่าวต่อไปว่า ต้องการให้สนับสนุนนโยบายเรื่องเมืองสมุนไพร เป็นพืชทางเลือกของจังหวัดมหาสารคาม ให้ผลักดันเมืองมหาสารคามเป็นเมืองนำร่องด้านสมุนไพร การผลักดันการปลูกสมุนไพรครบวงจร สามารถขยายลงสู่ชุมชน สร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกพืชสมุนไพรโดยทำเกษตรอินทรีย์

นอกจากนี้ ให้สนับสนุนการพัฒนาแก่งเลิงจาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของมหาสารคาม ในยุคโซเชียลอาจจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ตลอดปี หรือการสร้างมาสคอตให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว