หนุนนักผลิตคอนเทนต์ทั่วภูมิภาค-ภาคธุรกิจ-ชุมชนสร้างเนื้อหาสร้างสรรค์ทางรอดยุคดิจิทัล

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เปิดเผยว่าปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญที่จะทำให้รูปแบบของการเสพสื่อของคนยุคใหม่ต่างออกไปจากเดิม ซึ่งกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมนักวิชาการและนักวิชาชีพให้สามารถสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์เนื้อหาของสื่อที่จะนำไปใช้ในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพและเป็นพลังบวกให้กับสังคม ทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ

ล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ “Media Change for Chance สื่อยุคใหม่ สร้างสรรค์ Content อย่างไรให้รอด” ซึ่งภายในงานจะมีการเสวนาจาก สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ โดย คุณพรดี สาตราวาหะ อุปนายกฝ่ายจัดการ สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์, คุณณัฐิยา ศิรกรวิไล อุปนายกฝ่ายกิจกรรม สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ และ คุณละลิตา ฉันทศาสตร์โกศล ประธานโครงการ “เล่าเรื่องเป็นละคร” มาพูดถึงภารกิจของสมาคมและพูดถึงโครงการ “เล่าเรื่องให้เป็นละคร” และมีการจัดพิธีมอบประกาศนียบัตรและโล่รางวัลแก่นักเขียนบท ที่ได้รับรางวัลจากทางโครงการ 10 คน

นอกจากนั้นยังคุณทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการและผู้ก่อตั้งนิตยสารออนไลน์ The cloud และคุณวิรัตน์ เฮงคงดี กรรมการผู้จัดการบริษัทโต๊ะกลมโทรทัศน์ ได้มามาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด และ หัวใจสำคัญในการคิดหรือสร้างสรรค์เนื้อหาให้ตอบโจทย์โดนใจผู้รับสื่อยุคปัจจุบัน เพื่อเป็นการต่อยอดของการสร้างเรื่องเล่าให้ก้าวมาสู่การสร้างประสบการณ์จากผู้ปฏิบัติจริงในวิชาชีพ เพื่ออย่างน้อยก็เป็นการจุดประกายเริ่มต้นให้กับคนผลิตสื่อทุกคนได้ชวนคิดและให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในเรื่องนี้


ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานเพื่อหาแนวทางความพยายามในเบื้องต้นในการสร้างกระบวนการของการสร้างนวัตกรรมสื่อเพื่อให้เกิด Content ที่มีคุณภาพ ผ่านบุคคลที่เป็นนักคิด นักเขียน นักเรียนรู้ที่เรียกว่าเป็นผู้ผลิตสื่อรุ่นใหม่ที่มีหลักคิดในการผลิตและสร้างสรรค์สื่อที่มีชั้นเชิงของความคิดสร้างสรรค์ในการสื่อสารกับสังคมในยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามในอนาคตกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จะเข้าไปอบรมหรือสัมมนาตามจังหวัดต่างๆ เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อ หรือชวนกลุ่มเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการ ให้มีโอกาสมาร่วมแบ่งปันความรู้ เพราะจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำเนื้อหาเพื่อการทำธุรกิจ หรือค้าขายบนสื่อโซเชียลมีเดียได้ หรือแม้กระทั่งแต่การผลิตเนื้อออกสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน หรือนำการสื่อสารไปพัฒนาอัตลักษณ์ เอกลักษณ์ชุมชน เพื่อก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว