หยุดบินไปจีนทุกเส้นทาง จากสนามบินเชียงใหม่ มี.ค.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2563) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ แถลงผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในปี 2562 โดยเรืออากาศโท ธนันท์รัฐ ประเสริฐศรี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทชม.ทอท.) กล่าวถึงประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ว่า นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 เป็นต้นมาได้ส่งผลกระทบอย่างมาก โดยพบว่าจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงจำนวนมาก ซึ่งจำนวนเที่ยวบินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ของท่าอากาศยานเชียงใหม่ เหลือเพียงวันละ 190 เที่ยวบิน ลดลงร้อยละ 24 และจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 22,000 คน ลดลงเกือบร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562

ทั้งนี้ ท่าอากาศยานเชียงใหม่มีเส้นทางบินภายในประเทศ 12 เส้นทาง ใน 10 จังหวัด และเส้นทางบินระหว่างประเทศ 28 เส้นทาง (เป็น 18 ที่หมายในประเทศจีน) โดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 1-26 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่าจำนวนเที่ยวบินหายไปราว 1,600 เที่ยวบิน เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 1,000 เที่ยวบิน และในประเทศ 600 เที่ยวบิน จำนวนผู้โดยสารหายไปราว 400,000 คน เป็นสัดส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศ 210,000 คน และในประเทศ 190,000 คน ซึ่งปัจจุบันมีเที่ยวบินต่อวันไม่ถึง 200 เที่ยวบิน โดยเฉพาะเส้นทางบินจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้าสู่เชียงใหม่มีผู้โดยสารลดลงอย่างต่อเนื่อง เหลือเพียงวันละราว 700 คน (ทั้งขาเข้าและออก) จากเดิม 4,000 คนต่อวัน และสายการบินจีนเหลือที่บินอยู่เพียง 3 สายการบิน จากทั้งหมด 27 สายการบิน

เรืออากาศโท ธนันท์รัฐ กล่าวว่า คาดว่าในเดือนมีนาคม จะเป็นช่วงวิกฤติของไวรัส COVID-19 ซึ่งจากสถานการณ์ที่ผู้โดยสารจากจีนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนารม 2563 สายการบินที่บินไปยังประเทศจีนจะงดเที่ยวบินไปจีนทั้งหมด รวมถึงสายการบินแอร์เอเชียก็จะยกเลิกไปจีนทั้งหมดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากแนวโน้มการระบาดของไวรัส COVID-19 ยาวนานไปถึงกลางปี 2563 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับ 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่มีจำนวน 5.74 ล้านคน เกือบร้อยละ 40 ทั้งนี้ การที่จำนวนผู้โดยสารลดลง ทำให้ความคับคั่งแออัดของผู้ใช้บริการลดลง ซึ่งท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะใช้ช่วงเวลานี้ในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อพร้อมให้บริการหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

เรืออากาศโท ธนันท์รัฐ กล่าวต่อว่า สำหรับผลการดำเนินงานของท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในปี 2562 (มกราคม ถึง ธันวาคม 2562) มีอากาศยานพาณิชย์ ขึ้น-ลง 79,529 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 1.69 มีเที่ยวบินเฉลี่ย 220 เที่ยวบินต่อวัน มีจำนวนผู้โดยสาร 11.34 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 3.17 เฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศมีประมาณ 3.23 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.92 ในจำนวนดังกล่าวเป็นผู้โดยสารชาวจีนถึงกว่า 1.69 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณร้อยละ 19 มีปริมาณการขนถ่ายสินค้า 12,567 ตัน ลดลงจากปี 2561 ร้อยละ 15.72

ขณะเดียวกัน ในปี 2563 ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จะเร่งดำเนินโครงการเพิ่มขีดควสมสามารถและคุณภาพการให้บริการในหลายส่วนสำคัญ ได้แก่

1.งานก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์สัมปทาน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 50 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งจะสามารถรองรับการจอดรถยนต์ได้ 1,300 คัน

2.งานก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์ ซึ่งจะประกอบด้วยพื้นที่เชิงพาณิชย์ 3 ชั้น และพื้นที่จอดรถยนต์ 400 คัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้าง ดำเนินการโดย บริษัท กิจการร่วมค้าแอทยู พอร์ท จำกัด ระยะเวลาก่อสร้าง 14 เดือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2563

3.โครงการปรับปรุงพื้นที่บริเวณจุดตรวจค้นผู้โดยสาร เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของจุดตรวจค้น ผู้โดยสารขาออกและจุดตรวจหนังสือเดินทาง อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยจะเพิ่มพื้นที่หน้าจุดตรวจค้นสำหรับผู้โดยสารและพนักงาน เพิ่มพื้นที่และจำนวนเคาน์เตอร์จุดตรวจหนังสือเดินทาง และแยกช่องทางเข้าออกเฉพาะ ของเจ้าหน้าที่เพื่อลดการปะปนของเจ้าหน้าที่กับผู้โดยสารในการเข้าออกพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย

4.งานปรับปรุงระบบปรับอากาศอาคารผู้โดยสารภายในประเทศท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563

5.การก่อสร้างพื้นที่ห้องคัดกรองผู้โดยสาร เพื่อคัดกรองและกักกันผู้โดยสารที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางที่มีการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง ตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระยะที่ 1 ที่มีเป้าหมายรองรับผู้โดยสาร 16.5 ล้านคน ซึ่งเดิมจะเริ่มดำเนินการในปี 2563-2565 นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) เพิ่มเติมในบางประเด็น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการตามแผนในปี 2565