คมนาคมสั่งเปิดพื้นที่ท่าเรือเชียงแสน ริมน้ำโขง 30 ไร่ให้เอกชนไทย-เทศลงทุนเสรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมท่าเรือติดแม่น้ำโขงชายแดนไทย-สปป.ลาว ด้าน จ.เชียงราย จำนวน 2 แห่งได้แก่ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เนื้อที่ 402 ไร่ 1 งาน 27 ตาราง รัฐบาลใช้งบประมาณก่อสร้างมูลค่า 1,546.4 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อปี 2554 และท่าเรือพาณิชย์เชียงของ อ.เชียงของ ปัจจุบันพบว่าท่าเรือที่ อ.เชียงแสน ยังคงมีการขนส่งสินค้าเพราะเป็น 1 ใน 3 ด่านพรมแดนด้าน จ.เชียงราย ที่อนุญาตให้เปิดเฉพาะเพื่อการขนส่งสินค้าในช่วงที่ประเทศต่างๆ มีการปิดพรมแดนเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งไทย สปป.ลาว และจีนตอนใต้

โดยในปี 2662 มีการส่งออกสินค้าผ่านท่าเรือเชียงแสนมูลค่า 11,681.92 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 583.80 ล้านบาท และปี 2563 จนถึงเดือน เม.ย.2563 มีการส่งออกแล้วมูลค่า 4,682.40 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 245 ล้านบาท สินค้าส่งออกส่วนใหญ่คือน้ำมันเชื้อเพลิง โคและกระบือมีชีวิต ขิ้นส่วนไก่แช่แข็ง ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่คือกระเทียมสด เมล็ดดอกทานตะวัน มันฝรั่ง ฯลฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่านายอธิรัฐได้นำหน่วยงานภาครัฐประชุมร่วมกับนายอนุรัตน์ อินทร ประธานหอการค้า จ.เชียงราย น.ส.ผกายมาศ และนางเกศสุดร สังขกร รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และประธานกลุ่มผู้ประกอบการค้าชายแดน อ.เชียงแสน เพื่อพัฒนากิจการท่าเรือดังกล่าว หลังจากทางหอการค้า จ.เชียงราย ได้ยื่นข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้เร่งประสานกับประเทศจีนทำพิธีตราสารระหว่างไทย-จีน ในสินค้าประเภทผัก ผลไม้ เพื่อให้การส่งออกไปยังจีนตอนใต้โดยเฉพาะท่าเรือกวนเหล่ยซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนห่างจาก อ.เชียงแสน เพียง 265 กิโลเมตร ได้โดยสะดวกและรองรับการเปิดเมืองท่าของประเทศต่างๆ หลังวิกฤติไวรัสโควิด-19 ยุติในอนาคตด้วย รวมทั้งยังเสนอให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดหาเครนให้บริการผู้ประกอบการเพื่อลดต้นทุนเนื่องจากในปัจจุบันต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าเครนยกให้เอกชนรายอื่นๆ ตู้คอนเทนเนอร์ละ 10,000-20,000 บาท

นายอธิรัฐ กล่าวว่าการพัฒนาคงต้องมองในภาพรวมโดยเฉพาะเรื่องผลประกอบการของท่าเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงด้าน จ.เชียงราย ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาขาดทุนปีละ 4-5 ล้านบาททุกปีทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงและสามารถร่วมกันทั้ง 4 ชาติลุ่มน้ำโขงในการพัฒนาได้ ดังนั้นเมื่อมีการนำเสนอของบประมาณขึ้นไปจึงทำให้ไม่ได้รับการอนุมัติด้วยเหตุผลของความคุ้มค่า ตนจึงมีแนวทางจะพัฒนาเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มด้วยการเปิดสถานที่ว่างของท่าเรือ ซึ่งพบว่ามีอยู่มากมายอย่างน้อย 30 ไร่ เพื่อเปิดให้ภาคเอกชนเข้าไปลงทุนทำกิจกรรมด้านต่างๆ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเรื่องโลจิสติกส์หรือการค้าชายแดนเท่านั้น และไม่จำกัดว่าจะเป็นกลุ่มทุนภายในประเทศ แต่หมายถึงจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศจีนด้วย ซึ่งเมื่อผลประกอบการเป็นรูปธรรมทางการท่าเรือแห่งประเทศไทยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณมาพัฒนาเพื่อนำมาเพิ่มศักยภาพได้ต่อไป

นายอธิรัฐ กล่าวอีกว่าด้านการขอรับการสนับสนุนเครนยกตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือนั้นเป็นส่วนหนึ่งด้วยเพราะเมื่อมีผลประกอบการดีและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะทำให้ได้รับการสนับสนุนด้านการจัดซื้อเครนได้ต่อไป ทั้งนี้ในเบื้องต้นจะใช้การเช่าเครนเพื่อให้บริการภาคเอกชนไปก่อน จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยร่วมกับทาง จ.เชียงราย เพื่อพิจารณาพัฒนาท่าเรือแม่น้ำโขงทั้ง 2 แห่ง เนื่องจากต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายและระเบียบของหลายกระทรวงและหลายหน่วยงาน ซึ่งตนรับไปประสานงานให้ในระดับกระทรวงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาท่าเรือได้ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมดังกล่าวทางคณะกรรมการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ให้ข้อมูลว่าจากการประเมินศักยภาพของท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนแห่งที่ 2 พบว่าจะอยู่ในภาวะคุ้มทุนหากมีตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกสินค้าผ่านท่าเดือนละ 200-300 ตู้ แต่ปัจจุบันมีเพียงปีละประมาณ 100 ตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น ซึ่งการพัฒนาของการท่าเรือแห่งประเทศไทยปีที่ผ่านๆ มาใช้งบประมาณหลายหมื่นล้านและบางครั้งนับแสนล้านแต่ได้ผลคุ้มค่า ดังนั้นการจะเพิ่มเครนจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่ต้องมีการตั้งเป็นคณะกรรมการพัฒนาในภาพรวมและประเมินผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับด้วย

ด้าน น.ส.ผกายมาศ กล่าวว่าตนเห็นด้วยอย่างมากที่จะเปิดให้มีการเข้าไปลงทุนในท่าเรือแม่น้ำโขงทั้ง 2 แห่ง ซึ่งกิจการที่น่าลงทุนและเป็นไปได้มากที่สุดคือเขตปลอดอากรเพราะนอกจากจะสามารถใช้พื้นที่ท่าเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้าสินค้าแล้วยังสามารถบรรจุหีบห่อและพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าได้อีกด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดแหล่งพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจการด้านคลังสินค้าโดยเฉพาะประเภทน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงไปยังประเทศลุ่มน้ำโขงในปริมาณมากแต่กลับไม่มีจุดเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องแล่นเรือออกไปเติมในฝั่งประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างมาก

“ส่วนเรื่องการจัดหาเครนยกสินค้าที่ท่าเรือนั้นเห็นว่าเป็นผลต่อเนื่องกันโดยปัจจุบันปริมาณตู้คอนเทนเนอร์อาจจไม่มากเพราะต้นทุนสูง แต่หากมีเครนต้นทุนจะต่ำลง การส่งออกกจะมากขึ้น ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์มากขึ้น ส่งให้ผลประกอบการของการท่าเรือฯ มากขึ้นเพราะปัจจุบันสินค้าหลายชนิดที่ต้องการจะส่งออไปยังจีนตอนใต้จัดหากันแทบไม่ทัน โดยเฉพาะอาหารแช่แข็ง ผักผลไม้ ฯลฯ” รองประธานหอการค้า จ.เชียงรายกล่าว