ไวรัสทำราคา “มังคุด” ใต้ดิ่ง ล้ง-แรงงานถูกกักตัว 14 วันเข้าสวนไม่ได้

โควิด-19 สะเทือนฤดูกาล “มังคุดใต้” เหตุล้งรายใหญ่ทำส่งออก นำแรงงานข้ามเขตเข้าออกสวนมังคุดต้องถูกกักตัว 14 วัน ทำราคาหน้าสวนดิ่งถูกพ่อค้าในพื้นที่กดราคาหนักเหลือ 18-22 บาทต่อ กก. ขณะที่ปลายเดือนก.ค. ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก วอนกระทรวงพาณิชย์ทำราคากลางแนะนำเกษตรกร

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า มังคุดฤดูกาลปี 2564 เริ่มทยอยออกสู่ตลาดมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน ไปสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวเดือนตุลาคม 2564

ขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมากตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมไปจนถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 โดยภาพรวมมังคุดปี 2564 มีผลผลิตประมาณ 155,000 ตัน ราคาเฉลี่ย 30 บาท/กก. เป็นเงินกว่า 4,600 ล้านบาท”

นายสุพิทกล่าวว่า ราคามังคุดช่วงต้นฤดูกว่า 100 บาท/กก. ตอนนี้ขยับลงเฉลี่ยประมาณ 35 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับเกรดมังคุด เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการตลาด ปัจจุบันเจ้าของสวนมังคุดได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรสวนมังคุด

เพื่อคัดแยกมังคุดให้ได้เกรดคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ ขณะนี้มี 63 กลุ่มรวมเป็นเครือข่าย และจะขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นตามลำดับเพื่อให้ครอบคลุมไปทุกพื้นที่

ตอนนี้มีตลาดกลางหรือลานมังคุดที่ จ.นครศรีธรรมราช กลุ่มเจ้าของสวนมังคุดจะต้องคัดแยกให้ได้ตามเกรดที่ตลาดกลางกำหนด เช่น มังคุดขนาดผิวสีมันใหญ่ ขนาด 8 กรัมขึ้นไปต่อลูก ราคา 48 บาท/กก.

บางเกรดมีราคาห่างกันประมาณ 4-5 บาท/กก. การตั้งกลุ่มเกษตรกรคัดแยกจะขายได้ราคาห่างกัน 10-15 บาท/กก. กับราคาของพ่อค้าเร่ที่เข้าไปรับซื้อ” นายสุพิทกล่าว

สำหรับสถานการณ์มังคุดภาคใต้ปี 2564สภาพภูมิอากาศส่งผลให้มังคุดออกผลผลิตพร้อมกันทั่วประเทศ ตอนนี้มี 3 จังหวัดที่ผลผลิตออกมาก คือ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

ส่งผลให้ตลาดมังคุดถูกกดราคา อีกปัญหาผลมังคุดไม่ได้ขนาด มีการซื้อขายราคาต่ำลงไปอีก

แหล่งข่าวจากเจ้าของสวนมังคุดเปิดเผยว่า ตอนนี้ราคามังคุดวิ่งลงมาที่ 30 กว่าบาท/กก. เนื่องจากล้งส่งออกมังคุดรายใหญ่ระบุว่า มีปัญหาเรื่องแรงงานไม่สามารถเคลื่อนย้ายเข้าออกสวนมังคุดได้จากสถานการณ์โควิด-19

จึงไม่มีความพร้อมในการซื้อมังคุดได้เต็มศักยภาพ ส่งผลให้ราคาถูกกดดันให้ขยับลง จากที่ต้นฤดูกาลประมาณ 100 บาท/กก. แต่ขณะนี้คลี่คลายดีขึ้น แต่ปลายเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม 2564 มังคุดจะออกมาปริมาณมากที่สุด ราคาอาจขยับลงอีก

นายสมคิด รัตนวงศ์ เกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ผลไม้ จ.พัทลุง ในปี 2564 คาดว่าผลผลิตทุเรียน จะมีประมาณ 1,860 ตัน เงาะ ประมาณ 1,270 ตัน ลองกอง ประมาณ 1,570 ตัน และมังคุด ประมาณ 4,950 ตัน

แหล่งข่าวจากเจ้าของสวนผสมผสานมังคุด เงาะ ลองกอง จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ในปี 2564 ตั้งแต่ต้นปีมามีฝนตกมาตลอด ทำให้ผลไม้เกิดผลร่วงหล่น โดยทุเรียนบางสวนร่วงหล่นถึง 70% มังคุดร่วงหล่นประมาณ 50% จึงคาดว่าปีนี้ทุเรียน มังคุด จะไม่ล้นตลาด

สำหรับมังคุดต้นฤดูกาลต้นสัปดาห์ที่ 2 เดือนกรกฎาคม 2564 เปิดราคาวันแรกประมาณ 30 บาท/กก. ขณะนี้ราคายืนเคลื่อนไหวอยู่ที่ 20-35 บาท/กก. ขึ้นอยู่ที่เกรดมังคุด ซึ่งต่างกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ได้ราคาประมาณ 70 บาท/กก.

“ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคามังคุดปีนี้ขยับลงมาก เพราะล้งมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงาน และการขนส่ง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่เอื้ออำนวย และมังคุดปริมาณมากไปทั่วภาคใต้ด้วย”

นายอุทัย ตุลยนิษก์ เจ้าของสวนผสมมังคุด และรองประธานตลาดการเกษตรระดับชุมชนตำบลบ้านนา ต.บ้านนาอ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า ขณะนี้ล้งผู้รับซื้อมังคุดรายใหญ่

เพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ที่ จ.ชุมพร จ.นครศรีธรรมราช ยังไม่เข้ามาซื้อในพื้นที่จ.พัทลุง จากสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากล้งและคนงานต่างด้าวที่จะเดินทางเข้ามายังพื้นที่เพื่อซื้อผลไม้ ต้องกักตัว 14 วันก่อน ตามมาตรการป้องกันโควิด-19ส่งผลให้ต้องชะลอการซื้อออกไป

ขณะนี้จึงมีแต่แม่ค้า พ่อค้า รายเล็ก รายกลางที่รับซื้อตั้งแต่ 1-3 ตัน ที่เข้ามาถึงพื้นที่จึงไม่มีการแข่งขัน ราคาเฉลี่ยตั้งแต่ 18-22 บาท/กก. ส่วนการค้าออนไลน์ขายได้ประมาณ 1-2% ซึ่งช่องทางการค้าออนไลน์ก็มีความพยายามทำตลาดกันอยู่ แต่ถ้าขายจำนวนมากระดับ 4,000-5,000 ตัน จะไม่เอื้ออำนวย

ดังนั้น ตลาดมังคุดขณะนี้มีช่องทางคือรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือ โดยการประสานงานไปยังกลุ่มตลาดต่าง ๆ ตลอดจนตลาดการส่งออกไปต่างประเทศ

“โดยปกติตลาดมังคุดจะส่งไปยังตลาดไท และล้งจะเข้ามาซื้อถึงหน้าสวน เพื่อส่งออกไปประเทศจีน และประเทศเวียดนาม ที่เพิ่งเป็นตลาดรายใหม่”

นายหร้อเหม เก็มเด็น เจ้าของสวนทุเรียน และมังคุด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์การค้าผลไม้ ทุเรียน มังคุด ทางเกษตรกรเจ้าของสวนไม่ทราบข้อมูลว่าจะมีส่วนต่าง ระหว่างเจ้าของสวน พ่อค้าคนกลาง ล้ง และปลายทาง ในขณะนี้มีพ่อค้ามาซื้ออีกราคาหนึ่ง ล้งอีกราคาหนึ่ง โดยราคาจะห่างกันมาก

“ยกตัวอย่าง มังคุด ขณะนี้ราคาเพียง 20 บาท/กก. ทุเรียนราคาที่ล้งซื้อกว่า 100-120 บาท/กก. แต่พ่อค้าคนกลางซื้อ 70-80 บาท/กก. เป็นต้น จึงอยากให้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ น่าจะทำราคากลางแนะนำ เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้จะได้รับทราบทิศทาง”