มังคุดใต้ดิ่งหนักเหลือ 2-6 บาท/กก. ขาดพ่อค้ารับซื้อ

“มังคุด” ร่วงเหลือ 2-6 บาท/กก. “ล้ง-แรงงานต่างด้าว” ไม่สามารถเคลื่อนที่ขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ได้ แรงงานรองรับผลผลิตปริมาณมากไม่ไหว ระบายสินค้าออกไม่ทัน

เจ้าของสวนมังคุดหมู่ 3 บ้านด่านโลด เทศบาลตำบลควนเสาธง อ.ตะโหมด จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์มังคุดในพื้นที่ราคาได้ทยอยลงวันนี้ 2-6 บาท/กก. สำหรับราคาซื้อและขายบางพื้นที่และพ่อค้าแม่ค้าบางราย

โดยต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ราคาตั้งต้นอยู่ที่ 25-30 บาท/กก. แล้วราคากลับทยอยลงมา 10-18 บาท โดยราคา 6 บาท/กก.จะเป็นผลเกรดเอ ส่วนราคา 2 บาท/กก. จะตกเกรดหรือผลดำ

เจ้าของสวนมังคุด หมู่ 7 บ้านควนอินนอโม เทศบาลตำบลเขาหัวช้างอ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวว่า ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้าที่รับมังคุดไปไม่สามารถส่งออกได้ จึงยุติการรับซื้อแล้ว

นายอุทัย ตุลยนิษก์ รองประธานตลาดชุมชนตำบลบ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง และเจ้าของสวนมังคุดเกษตรอินทรีย์ (GPS) หมู่ 3 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า

สถานการณ์มังคุดมีปัญหาทางด้านการตลาดมีหลายปัจจัยจากโควิด-19 ระบาดส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าซื้อผลไม้เข้าพื้นที่ไม่ได้ ล้งรายใหญ่จากภาคตะวันออก เช่น จ.จันทบุรี พร้อมแรงงานต่างด้าวก็เคลื่อนแรงงานเข้าพื้นที่ไม่ได้

ส่วนล้งและแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ก็ไม่พอรองรับผลผลิตที่มีปริมาณมากจนเกิดการระบายสินค้าไม่ทัน

นายอุทัยกล่าวต่อไปว่า การส่งออกมังคุดจะต้องบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ไปยังภาคตะวันออก โดยศูนย์รวมล้งที่ จ.จันทบุรี แล้วส่งออกต่อไปทางประเทศกัมพูชา และเวียดนาม

เพื่อไปยังตลาดปลายทางประเทศจีน และการส่งออกจะต้องเป็นสินค้าที่มีใบรับรองจากทางการ ทั้งนี้ มังคุดไม่ได้มีปัญหาทางด้านการตลาดในต่างประเทศ ตลาดยังมีความต้องการตามปกติ แต่มีปัญหาโควิดภายในประเทศไทยเอง

“ตอนนี้ที่ประสบปัญหาหาหนักคือ มังคุด จ.นครศรีธรรมราช เพราะส่วนหนึ่งที่ผลิตมังคุดเพื่อการส่งออก ซึ่งในการผลิตจะลงทุนสูง ประมาณ 20 บาท/กก.ทั้งเพื่อให้ผลผลิตมังคุดได้ขนาดและผลสวยงามตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ

สำหรับมังคุดของ จ.พัทลุง ขณะนี้มีนโยบายแลกเปลี่ยนสินค้าภายในประเทศกับภาคต่าง ๆ เช่น กับทางภาคอีสาน โดยมังคุดทาง จ.พัทลุง จะจัดส่งไปให้ถึงพื้นที่”

ขณะนี้มังคุดแปลงใหญ่อำเภอตะโหมด จ.พัทลุง จัดส่งเข้า จ.ขอนแก่นแล้ว เป็นต้น ตอนนี้ภาคไหนจังหวัดใดต้องการมังคุด จะจัดส่งให้ถึงพื้นที่

โดยในกลุ่มมีมังคุดเกษตรอินทรีย์ มังคุดปลอดสารพิษ ได้รับมาตรฐาน GAP รับรอง จำนวน 7 แปลง มีปริมาณออกสู่ตลาดแต่ละแปลงประมาณ 200 กก./วัน ขณะนี้มี 7 แปลงประมาณ 1.5 ตัน/วัน

“หากองค์กรใด บริษัท กลุ่มใด ต้องการมังคุด GAP มังคุดเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ จะจัดส่งถึงพื้นที่ทั่วประเทศ โดยสามารถประสานงานมายังกลุ่มเกษตรอินทรีย์ จ.พัทลุงได้”

นายหร้อเฉด ขุนจันทร์ พ่อค้ามังคุดรายใหญ่ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า สถานการณ์มังคุดขณะนี้มีหลายปัจจัยที่ราคาเคลื่อนไหวในระดับนี้ โดยตนเปิดรับซื้อต้นฤดูกาลประมาณต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ประมาณ 35 บาท/กก.

แล้วราคาก็ทยอยลงมาอยู่ที่ 6 บาท/กก. ทั้งนี้ การรับซื้อมังคุดบางวันได้ประมาณ 11 ตันโดยส่งออกให้เอเย่นต์ผลไม้รายใหญ่ที่ตลาดไท โดยเอเย่นต์จะประกันราคาเพื่อกันความเสี่ยงในราคาขึ้นลงระหว่างวันต่อวันให้ โดยจะไม่ประสบภาวะขาดทุน