หนองคายเร่งขยายการเลี้ยง “ผึ้งโพรง” ตั้งเป้าผลิต 1.6 หมื่นขวดสนองตลาด

จากช่วงขาดแคลนน้ำผึ้งเมื่อต้นปี 2564 ชาวบ้านไทยเจริญ ตำบลพระพุทธบาท อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้รวมตัวกันจัดตั้ง “สหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท จำกัด” เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร

โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ในระยะแรกตั้งมีสมาชิกรวม 34 คน ถือหุ้นจำนวน 630 หุ้น เป็นเงินค่าหุ้น 6,300 บาท (หกพันสามร้อยบาทถ้วน) เพื่อเพิ่มผลผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับชาวเกษตรคนเลี้ยงผึ้งโพรงป่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิมที่ชาวบ้านไทยเจริญรวมกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงป่าแบบธรรมชาติมานานกว่า 5 ปีแล้ว ซึ่งประธานกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท ศึกษาการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าแบบลองผิดลองถูกมาหลายปีได้ประสบความสำเร็จ

ก่อนถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้านที่สนใจอยากจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ จนล่าสุดมีชาวบ้านที่เลี้ยงผึ้งโพรงป่าเพิ่มจำนวนกล่องที่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องทุกปี จึงได้จัดตั้งสหกรณ์ขึ้น

สำหรับผึ้งโพรงป่านั้น ปกติก็จะทำรังตามโพรงของต้นไม้ในป่าหรือทำรังในโพรงใต้ดิน แตกต่างจากผึ้งหลวงที่ทำรังบนต้นไม้ ขนาดตัวผึ้งโพรงป่าจะมีขนาดเล็กกว่าผึ้งหลวง ที่สำคัญไม่ดุเหมือนผึ้งหลวง

ซึ่งการเลี้ยงผึ้งโพรงป่าของชาวบ้านไทยเจริญนั้น จะเลี้ยงแบบวิธีธรรมชาติ สร้างด้วยกล่องไม้ไม่จำกัดขนาดเพื่อเป็นรังผึ้ง แต่ส่วนใหญ่จะกว้าง 35 ซม. ยาว 50 ซม. และสูง 40 ซม. เจาะรูขนาดเล็กบริเวณด้านล่างกึ่งกลางด้านที่เป็นความกว้างของกล่อง ด้านบนกล่องจะเป็นฝาปิดเป็นส่วนที่ผึ้งที่ทำรัง ที่สามารถปิด-เปิดได้

“นัตร กุลวงษ์” กรรมการกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท บอกว่า การทำกล่องไม้สำหรับเลี้ยงผึ้งนั้น ต้องใช้เสน่ห์ผึ้งมาทาที่ลังให้ทั่ว ลนด้วยไฟ ให้เสน่ห์ผึ้งซึมเข้าเนื้อไม้ เน้นรูที่ให้ผึ้งเข้า ด้านในลังส่วนบนและฝาลัง

โดยเฉพาะส่วนฝาลัง ให้ทาแบบสลับฟันปลา เพื่อให้ผึ้งทำรังได้เต็มพื้นที่ หลังทาเสน่ห์ผึ้งในกล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงผึ้งเสร็จ ก็จะนำกล่องไม้ไปวางไว้ตามป่า ตามสวน เพื่อล่อให้ผึ้งเข้ามาทำรัง ตั้งไว้ประมาณ 2-3 วันก็จะมีเข้ามาทำรังในกล่องที่ล่อไว้

เมื่อมีผึ้งเข้ามาทำรังในกล่องไม้แล้วก็จะนำกล่องไม้กลับมาตั้งไว้ในจุดที่จะใช้ในการเลี้ยงผึ้ง ซึ่งเป็นจุดที่ดูแลง่ายและไม่ให้มีใครมาขโมย เมื่อเห็นว่าผึ้งที่เลี้ยงในกล่องไม้มีจำนวนมากขึ้นจนเริ่มแน่น

ก็จะทำกล่องไม้มาวางไว้ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ผึ้งได้เข้ามาทำรัง ทำให้ได้กล่องไม้ที่ใช้เลี้ยงผึ้งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

“อาโน ร่มเย็น” ประธานกลุ่มสหกรณ์เลี้ยงผึ้งโพรงป่าตำบลพระพุทธบาท บอกว่า ผึ้งที่ทางกลุ่มเลี้ยงเป็นผึ้งป่า ฤดูล่อผึ้งเข้ากล่องที่เลี้ยงจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป

และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถือเป็นช่วงที่ผึ้งจะเข้ากล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงดีที่สุด และเป็นช่วงที่ผึ้งจะแยกไปตามกล่องไม้ได้มากที่สุด คือ จาก 1 กล่อง แยกเพิ่มเป็น 6 กล่อง จากนั้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ที่ถือเป็นเดือนห้า

ก็จะเป็นช่วงเก็บน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดีที่สุด หลังเก็บน้ำผึ้งเสร็จแล้วก็จะปล่อยผึ้งคืนสู่ป่า เพราะในช่วงฤดูฝนจะไม่ค่อยมีเกสรดอกไม้ที่ถือเป็นอาหารของผึ้ง หากเราเลี้ยงไว้ผึ้งจะตาย

ดังนั้นเราจึงให้ผึ้งกลับไปอยู่ในธรรมชาติในช่วงนั้นก่อน เมื่อถึงช่วงเดือนพฤศจิกายน แม้ว่าจะไม่มีการนำกล่องไม้ที่จะใช้เลี้ยงไปล่อ ผึ้งที่เคยเลี้ยงก็จะกลับมาที่กล่องไม้เอง เป็นวัฏจักรเช่นนี้ทุกปี

ทั้งนี้ การเลี้ยงผึ้งโพรงป่านั้น ไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องหาอะไรให้ผึ้งกิน เพียงแต่มีกล่องที่ตั้งไว้ในจุดที่เหมาะสม ถ้าผึ้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นก็ทำกล่องไม้มาตั้งเพิ่มขึ้น

เพื่อให้ผึ้งได้แยกจากกล่องไม้เดิมเข้าไปทำรังในกล่องไม้ใหม่ ผู้เลี้ยงมีหน้าที่เพียงทำกล่องไม้ไว้รอ ผึ้งก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี

กล่องไม้ที่เลี้ยงผึ้ง 1 กล่องจะให้น้ำผึ้งตั้งแต่ 3-15 ขวด (750 มล.) ขึ้นอยู่กับขนาดของกล่อง ราคาอยู่ที่ขวดละ 300-400 บาท ถึงกระนั้นก็ยังมีการผลิตน้ำผึ้งไม่พอขาย เพราะการตอบรับจากลูกค้าดีมาก

สำหรับฤดูกาลปี 2564 นี้มีผึ้งโพรงที่เข้ากล่องที่เลี้ยงแล้วประมาณ 1,400 กล่อง คาดเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จะมีมากถึง 2,000 กล่อง จะทำให้ผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 16,000 ขวดนอกจากจะขายน้ำผึ้งเป็นขวดแล้ว ยังมีการขายตัวอ่อนและรังผึ้งแบบสด ๆ อีกด้วย