คุยกับ “กิตติศักดิ์ ขจรภัย” นักพัฒนาโอท็อป พลิกโฉมพวงกุญแจรังไหมสู่ “โคมไฟ” สุดเก๋

คอลัมน์ New Gen4.0

“โคมไฟรังไหมเย็บมือ” ผลิตภัณฑ์โอท็อปจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์จังหวัดสระบุรี การันตีคุณภาพด้วยรางวัลมากมายจากหลายเวทีภายใน 1 ปี นับตั้งแต่เริ่มการผลิต ล่าสุดสามารถคว้ารางวัล ไทยเท่ทั่วไทย ประจำปี 2560 มาได้ จนสร้างชื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในตลาด

“กิตติศักดิ์ ขจรภัย” นักพัฒนาผลิตภัณฑ์จากรังไหม วัย 32 ปี ซึ่งเป็นกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์และกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.บ้านหมอ จ.สระบุรี คือผู้เปลี่ยนแนวคิด จากการทำพวงกุญแจจากรังไหมแบบเดิม ๆ ที่ทำขายมาเป็น 10 ปี ให้นำรังไหมมาประดิษฐ์เป็นโคมไฟ

กิตติศักดิ์เรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในด้านบัญชี และปัจจุบันกำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโท แต่มีความชอบด้านสินค้าโอท็อป จึงเข้าร่วมทำงานกับแม่ที่เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์อยู่เป็นประจำ และได้นำความรู้ด้านเอกสารที่ร่ำเรียนมาทำระบบการจัดการ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็นในการทำโคมไฟ ร่วมกับสมาชิกในกลุ่มที่มีทั้งเด็ก และผู้ใหญ่

“กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์เป็นชาวบ้านที่ทำพวงกุญแจจากรังไหมขายมา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2548-ปัจจุบัน แต่เราเริ่มทำโคมไฟรังไหมในเดือนกันยายนปี 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ผมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะลาออก แล้วมาช่วยกลุ่มทำผลิตภัณฑ์จากรังไหม เพราะคิดว่าน่าจะสามารถพัฒนาไปเป็นอย่างอื่นได้นอกจากพวงกุญแจ 10 บาท ที่มีมูลค่าน้อย พอมาทำเป็นโคมไฟ สามารถทำรายได้อยู่ในหลักพันขึ้นไป เป็นการยกระดับการพัฒนาตลอดจนสามารถเป็นโคมไฟได้ภายใน 1 ปี”

ความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์สามารถคว้ารางวัลระดับประเทศมากมาย โดยในปี 2559 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์ ได้รับรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สาขาศิลปหัตถกรรมเด่นแห่งชาติ จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รางวัลชนะเลิศผลิตภัณฑ์ดีเด่นระดับประเทศ จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รางวัล KBO OTOP และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมดีเด่น จากกรมการพัฒนาชุมชน รวมไปถึงรางวัลผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์จากรังไหมระดับประเทศ จากกรมหม่อนไหม

และในปี 2560 นอกจากจะได้รางวัลไทยเท่ทั่วไทยแล้ว ยังมีรางวัล Thailand Green Design Awards 2017 จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รางวัล OTOP Select 77 Experience และ Best OTOP 77 Experience 2017 จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รางวัลออกแบบดีมากจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลในระดับจังหวัดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรางวัลภูมิปัญญาดีเด่น หรือกลุ่มวิสาหกิจดีเด่น และยังได้ไปออกบูทในต่างประเทศ

กิตติศักดิ์เล่าว่า รังไหมมีอยู่แล้วในจังหวัดสระบุรี ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ อยู่ภายใต้กรมหม่อนไหม ทางกลุ่มก็ได้เข้าไปในโครงการของ (DITP) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มโอท็อปกับทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยเริ่มแรกเรานำรังไหมมาทำเป็นหมอน แต่ผลที่ได้ไม่น่าดู จึงพัฒนาคิดทำเป็นโคมไฟทรงก้อนเมฆ สามารถตั้งและแขวนได้ภายในชิ้นเดียว

จุดเด่น คือ รูปทรงที่มีความเป็นอิสระเข้ากับธรรมชาติ สามารถกดเปลี่ยนรูปทรงได้ ด้วยการบีบหรือขยายตัวออก ซึ่งวิธีการทำใช้เพียงเฉพาะรังไหมเท่านั้น ส่วนตัวไหมที่เหลือสามารถนำไปเพาะเลี้ยงต่อได้

“วิธีทำ คือ นำรังไหมมาผ่าครึ่งแล้วพลิกด้านในออกเพื่อให้เกิดความมันวาว ลูกหนึ่งประมาณ 22 กลีบ กลีบหนึ่ง 36 รัง หรือประมาณ 700-800 รังต่อหนึ่งก้อน ส่วนรังไหมที่เสียประมาณ 20-30% นำมาย้อมสี น้ำตาล หรือสีดำ ฉะนั้นสามารถใช้รังไหมได้ทั้งหมด 100%”

สำหรับกลุ่มลูกค้าจะแบ่งไปตามสีของด้ายที่ใช้เย็บรวมกันเป็นก้อน ถ้ารังไหมสีขาวเย็บด้วยด้ายสีดำ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าผู้ชาย หากเป็นรังไหมสีขาว และเย็บด้วยด้ายสีขาว กลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้หญิง และหากเป็นโคมไฟขนาดใหญ่เย็บด้วยด้ายสีทอง ส่วนใหญ่จะใช้ประดับโรงแรม หรือรีสอร์ต

ด้านราคาเริ่มต้นประมาณ 1,500-12,000 บาท ตามขนาดของโคมไฟแต่ละก้อน มีกำลังการผลิตประมาณ 60 ลูก/เดือน สมาชิกส่วนใหญ่ในกลุ่มเป็นรุ่นสอง มีตั้งแต่อายุ 20-70 ปี

กิตติศักดิ์บอกว่า ปี 2561 ทิศทางของการผลิตโคมไฟของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรังไหมประดิษฐ์จังหวัดสระบุรีมีแนวโน้มที่ดี จะเริ่มทำขนาดใหญ่และผลิตให้ตรงมาตรฐานของสิ่งทอมากขึ้น หลังจากนั้นจะมีการนำมาทำเป็นกระเป๋าทั้งแบบเย็บมือและแบบเย็บจักร

“นอกจากขายในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงส่งออกกับญี่ปุ่น และเป้าหมายอยากไปบุกตลาดยุโรปด้วย เพราะเวลาออกบูทลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ขณะที่คนไทยไม่ได้เห็นคุณค่ามากนัก”

นับเป็นกลุ่มตัวอย่างสินค้าโอท็อปที่พยายามพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ มองหาตลาดใหม่ ๆ และต่อยอดให้มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าทึ่ง