กรมชลฯ ดันโครงการ แก้น้ำท่วมซ้ำซากชุมพร

จังหวัดชุมพรถือเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ต้องเผชิญปัญหาอุทกภัยทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำคลองชุมพร บริเวณสี่แยกปฐมพรเป็นจุดตัดถนนเอเชีย 41 ซึ่งว่าถือว่าเป็นเส้นทางลงสู่ภาคใต้ หากเกิดน้ำท่วมประชาชนจะไม่สามารถสัญจรขึ้น-ลงภาคใต้ได้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้เกิดความยั่งยืนและสร้างประโยชน์แก่ประชาชน ทางกรมชลประทานจึงจัดทำโครงการ “ป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองชุมพร” ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้อย่างยั่งยืน

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า เมื่อปี 2540 เกิดอุทกภัยหนักเนื่องจากพายุโซนร้อนซีต้าส่งผลให้จังหวัดชุมพรเกิดน้ำท่วมใหญ่กว่า 10 วัน โดยเฉพาะอำเภอเมืองชุมพร ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ สร้างความสูญเสียเป็นอย่างยิ่งให้กับชาวเมืองชุมพรเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงทราบถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จึงได้มีพระราชดำริให้เร่งรัดขุดคลองหัววัง-พนังตัก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อาทิ ขุดคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก ประตูระบายน้ำหัววัง ขุดลอกคลองชุมพรและคลองสาขา ประตูระบายน้ำท่าตะเภา ประตูระบายน้ำท่าแซะ เป็นต้น

ส่วนกรมชลประทานก็สานต่อพระราชดำริก่อสร้างโครงการอื่น ๆ จำนวน 15 โครงการ โดยบริเวณอำเภอเมืองชุมพรมักเกิดน้ำท่วมหลากจากลุ่มน้ำหลักที่สำคัญ 2 สาย ได้แก่ คลองท่าตะเภา และคลองชุมพร พื้นที่รวมประมาณ 79,500 ไร่ แยกเป็น ลุ่มน้ำคลองท่าตะเภา 42,000 ไร่ ลุ่มน้ำคลองชุมพร 37,500 ไร่

ปัจจุบันโครงการแก้มลิงหนองใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ประมาณ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วงภัยแล้งทางการประปาเทศบาลเมืองชุมพร เทศบาลนาชะอัง และเกษตรกรที่ปลูกสวนปาล์ม ส้มโอ ทุเรียน ยางพารา สามารถสูบน้ำไปใช้ได้ สิ่งสำคัญตั้งแต่ปี 2541 น้ำไม่เคยท่วมอำเภอเมืองชุมพร

Advertisment

ทั้งนี้ ตามบริเวณอำเภอเมืองชุมพรก็ยังมีพื้นที่บางจุดที่ยังคงได้รับผลกระทบประจำทุกปี ซึ่งก็คือแยกบริเวณถนนสายเอเชีย 41 บริเวณสี่แยกปฐมพรที่จะเดินทางลงสู่ภาคใต้ และบริเวณพื้นที่ตอนล่างในเขตอำเภอเมืองชุมพร

เนื่องจากลุ่มน้ำคลองชุมพรเกิดจากต้นน้ำในเขตอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง มีพื้นที่รับน้ำ 395 ตารางกิโลเมตรมีความยาวลำน้ำประมาณ 75 กิโลเมตร สภาพท้องคลองมีความลาดชันสูง คดเคี้ยวและมีขนาดแคบ ทั้งสองฝั่งคลองมีบ้านเรือนอยู่อย่างหนาแน่นเป็นชุมชนเมือง ช่วงปลายคลองเป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อน้ำทะเลหนุนจะรุกล้ำเข้าลำคลองเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีมรสุมพัดผ่านฝั่งอันดามันหรือฝั่งอ่าวไทยจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำ จะมีปริมาณน้ำไหลลงคลองชุมพร 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

Advertisment

ปัจจุบันคลองชุมพรสามารถระบายน้ำได้ประมาณ 140 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำในคลองชุมพรเอ่อล้นตลิ่ง ตั้งแต่วัดเขาปูนข้ามถนนสายเอเชีย 41 บริเวณสี่แยกปฐมพร ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรในเขตพื้นที่ตำบลวังไผ่ ตำบลบ้านนา ตำบลขุนกระทิง ตำบลบางหมาก ตำบลตากแดด และตำบลทุ่งคา หากเป็นช่วงระยะเวลาที่มีน้ำทะเลหนุนสูงก็จะยิ่งเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำท่วมขังเป็นเวลา 3-7 วัน ทำให้ประชาชนประสบความเสียหายและเดือดร้อน ในช่วงฤดูแล้งก็จะได้รับผลกระทบกับปัญหาน้ำเค็มหนุน รุกล้ำเข้าลำคลองเป็นประจำทุกปี ปีละหลายครั้ง

นายเฉลิมเกียรติบอกว่า เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองชุมพร ทางกรมชลประทานจึงได้มีการจัดทำส่วนโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำคลองชุมพรโดยตัดยอดน้ำของคลองชุมพรให้สามารถไหลออกสู่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยขุดคลองผันน้ำจากคลองชุมพรผ่านคลองขุดใหม่เชื่อมต่อกับคลองนาคราช และขุดขยายคลองนาคราชให้สามารถระบายน้ำได้ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมทั้งขุดลอกคลองชุมพรเดิมให้สามารถระบายน้ำได้ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และขุดขยายคลองชุมพรเดิมช่วงปลายให้สามารถระบายน้ำได้ 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

รวมถึงก่อสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากคลองผันน้ำ จำนวน 1 แห่ง และก่อสร้างประตูระบายน้ำในคลองชุมพร จำนวน 3 แห่ง เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถระบายน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างอำเภอเมืองชุมพร และสามารถเก็บกักน้ำไว้ในลำคลอง เพื่อใช้ประโยชน์ช่วงฤดูแล้งปริมาณ 6.50 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่รับประโยชน์ 6,875 ไร่

“ตอนนี้โครงการอยู่ในระยะขั้นตอนการก่อสร้างเฟส 2 คือ 1.งานขุดคลองผันน้ำใหม่เชื่อมคลองชุมพร-คลองนาคราช 2.งานขุดขยายคลองชุมพรช่วงปลาย ตั้งแต่ท้ายประตูระบายน้้ำตอนล่างถึงสะพานทุ่งคา 3.งานก่อสร้างประตูควบคุมบังคับน้ำ จำนวน 4 แห่ง พร้อมอาคารประกอบ และอาคารระบายน้ำ และ 4.งานขุดขยายคลองชุมพรเดิมช่วงบน รวมงบประมาณค่าก่อสร้าง 3,257 ล้านบาท เป็นค่าที่ดิน 1,042 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 2,215 ล้านบาท คาดการณ์จะแล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งจะเป็นปีที่เมืองชุมพรจะมีเครื่องมือรองรับปัญหาอุทกภัยโดยสมบูรณ์ ทั้งลุ่มน้ำคลองท่าตะเภาและลุ่มน้ำคลองชุมพร”