เสถียรภาพรัฐบาลแตกหัก เกมพรรคร่วมฝ่ายค้าน “ทีใครทีมัน”

พรรคร่วม
อัพเดต 13 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 08.32 น.

ทุกองคาพยพของรัฐนาวา ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าในทำเนียบรัฐบาล หรือ ฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร ดูปั่นป่วนราวกับอยู่ในพายุ

7 รัฐมนตรี สังกัดพรรคภูมิใจไทย โดดร่ม-ประท้วงไม่เข้าการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ จากปมพิจารณาวาระร้อนต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ตัดภาพมาที่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎร เกิดการประลองกำลังเสียงโหวตกฎหมายกันไปมา โดยมีตัวละครเอก คือ พรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นพรรคที่รองรับ 18 ส.ส.กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่แยกวงออกมา ภายหลังเกิดความขัดแย้งกับ “พล.อ.ประยุทธ์”

14 จาก 18 เสียง ของพรรคเศรษฐกิจไทยโหวตสวนทางกับพรรคพลังประชารัฐ ในญัตติการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่..) พ.ศ. …. อันเป็นกฎหมายของพรรคก้าวไกล (กฎหมายสุราก้าวหน้า) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องการนำกฎหมายไปศึกษาก่อน

ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล จำนวนมากโหวตสนับสนุนตามที่ ครม.ขอ แต่ปรากฏว่า 14 เสียงของพรรคเศรษฐกิจไทย จากทั้งหมด 18 คน ยกมือ “คัดค้าน” ไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ ยังมี ส.ส.พรรคเล็กทั้ง พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคครูไทยเพื่อประชาชน ส่วนพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคไทยรักธรรม ไม่ลงคะแนน

ส่วนพรรคภูมิใจไทย ที่แกนนำพรรคบอยคอตไม่ร่วมประชุม ครม.ส่งเอฟเฟ็กต์มาถึงในสภา ปรากฏว่ามี ส.ส. 6 คนไม่เห็นด้วย พรรคประชาธิปัตย์อีก 7 คน ก็ยกมือเข้าข้างฝ่ายค้านก้าวไกล

ความไม่เป็นเอกภาพในสภา อาจตั้งใจส่งสัญญาณให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้เห็น

ตามข่าวอินไซด์จากฝ่ายค้าน เช็กเสียงผู้กองธรรมนัส ในมือมี 21 เสียง ที่ออกจากพรรคพลังประชารัฐ และยังฝังตัวในพรรคอีกประมาณ 17 เสียง อาจพร้อมหักดิบรัฐบาล เมื่อเจรจาไม่ลงตัว

นอกจากนี้ ยังเกิดปรากฏการณ์ที่พรรคเล็กรวมตัวกัน กว่า 16 คน เรียกตัวเองว่าเป็น “กลุ่ม 16” ในปี 2022 อาทิ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย พรรคเพื่อชาติไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ ประกาศแยกตัว ขอเป็นอิสระจากข้อผูกมัดเรื่อง “ยกมือโหวตให้รัฐบาล”

เริ่มปั่นราคาค่าตัวแลกเสียงโหวต ในจังหวะที่รัฐบาลกำลังเผชิญเสียงปริ่มน้ำ น่าจับตาตรงที่ เบื้องหลังพรรคเล็กบางพรรค นอกจากบางรายมีคดีความการเมืองที่ยังต้องลุ้นเอาตัวรอด ยังมีสปอนเซอร์ที่เป็นเครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร คอยหนุนหลัง

ตามข่าวนักการเมืองในสภา มีความคิดแบ่งเป็น 2 ด้าน ด้านแรก เชื่อว่า ดุลอำนาจ 3 ป. เคลียร์กันลงตัว ร.อ.ธรรมนัส และพรรคเศรษฐกิจไทย ยังคงโหวตให้กับรัฐบาลในเรื่องสำคัญ ๆ เพราะเหนือสิ่งอื่นใด “พล.อ.ประวิตร” ยังมีอำนาจสั่งการ ร.อ.ธรรมนัสได้ การยุบสภาคงไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่จะอยู่ด้วยความกระท่อนกระแท่นครบวาระ และคงเคลียร์กันจบ ก่อนเดือนพฤษภาคม 2565

อีกด้าน เชื่อว่า 21 เสียงของ ร.อ.ธรรมนัส จะเป็นตัวแปรสำคัญหากเคลียร์ไม่ลงตัวก่อนเดือนพฤษภาคม อาจมีเร่งเกมบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา ก่อนฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือเล่นต่อรอง นอกจากต้องแจกกล้วยให้อิ่มกันอย่างทั่วถึง อาจต้องยอมหั่นตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรี โดยเฉพาะเก้าอี้ มท.1 รมว.มหาดไทย เป็นของกำนัล

โดยที่ ร.อ.ธรรมนัส ไม่จำเป็นต้องแสดงตัวขอเก้าอี้รัฐมนตรีให้ตัวเอง แต่อาจเป็นคนในเครือข่าย “พล.อ.ประวิตร” เข้ามาเสียบแทนขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จะยอมหักหรือยอมงอ

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านก่อนหน้านี้ก็หาความเป็นเอกภาพไม่ได้ เกิดเรื่องดราม่าระหว่างพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล มีการเตะตัดขากันไป-มา ล่าสุดจากอุบัติเหตุในยุทธศาสตร์ “ล้มสภา” ในการ “นับองค์ประชุม” เพื่อหวังให้สภาล่ม

แต่แล้วพรรคเพื่อไทยก็ปรับ “แท็กติก” หน้างาน เป็นองค์ประชุมให้ฝ่ายรัฐบาล ส่วนเมื่อใกล้ถึงคิวการพิจารณารายงานของพรรคก้าวไกล กลับไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุมจนทำให้สภาล่ม

เรื่องราวบานปลาย ร้อนถึงแกนนำพรรคต้องมาเคลียร์ใจ “สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม ประธานวิปฝ่ายค้าน เปิดใจหลังจากสงบศึกฝ่ายค้านว่า คุยกันลงตัว จากนี้เป็นการถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยกันผลักดันกฎหมายของฝ่ายค้าน

ปัญหาที่เกิดขึ้น ทุกคนต้องแยกให้ออกว่า ยุทธศาสตร์เดียวกัน หนาแน่น แข็งแรง คือ เดินหน้า ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ และประชาธิปไตย แต่ยุทธวิธีอาจต่างกันในรายละเอียด

จากนี้ พรรคฝ่ายค้านจะกำหนดทิศทางร่วมกันทุกสัปดาห์ และมีทีมประสาน “หน้างาน” คือ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ เพื่อไทย กับ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล หากเคลียร์กันไม่ลง ค่อยนำเข้าสู่วิปฝ่ายค้าน

“สุทิน” ยืนยันว่า ฝ่ายค้านชุดนี้เป็นเอกภาพที่สุด กว่าทุกยุค

“จะบอกให้ ความเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ขนาดพรรคเดียวยังแตก อ่อนแอเลย แต่ตอนนี้เราได้ขนาดนี้ถือว่าเป็นเอกภาพที่สุดแล้ว ดังนั้น ที่ล้มรัฐบาลไม่ได้ไม่ใช่ว่าฝ่ายค้านแตกกัน แต่เพราะเราจำนวนมือไม่ถึง จึงโหวตไม่ชนะ”

แต่จะให้ฝ่ายค้านคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกันแล้วพูดดีด้วยกันตลอด…ยาก ธรรมชาติพรรคการเมืองแข่งกันอยู่แล้ว มุมใครมุมมัน ทีเด็ดใครทีเด็ดมันอาจจะมีบ้าง