งบน้อย…ติดหรู วัยรุ่นเอเชียดันแบรนด์เนมมือ 2 โต

คอลัมน์ Market Move

กระแสการใช้ชีวิตหรูหราของกลุ่มมิลเลนเนียลหรือผู้บริโภคที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523 ถึงพ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักในเกือบทุกตลาดทั่วโลกยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในโซนเอเชียที่หลายประเทศ เช่น จีน และย่านอาเซียนเศรษฐกิจเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดด พร้อมกับไลฟ์สไตล์แบบชนชั้นกลาง-บนเริ่มมีอิทธิพลกับผู้คนมากขึ้น เห็นได้จากความนิยมสินค้า อย่างรองเท้าสนีกเกอร์รุ่นลิมิเต็ดหรือมือถือตัวท็อปซึ่งแรงแบบไม่มีตก

 

เทรนด์นี้ผลักดันให้ตลาดสินค้าหรูมือสองคึกคักเป็นพิเศษ ผู้บริโภคจำนวนมากพยายามหาสินค้าหรูราคาเป็นมิตร และมองว่าไม่จำเป็นต้องซื้อมือ 1 ก็ได้

ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจาก “รีบอนซ์” (Reebonz) เชนค้าปลีกสินค้าหรูทั้งมือหนึ่งและมือสองแบบมัลติแชนเนลซึ่งมีสาขาในหลายประเทศ อาทิ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และอื่น ๆ ที่เปิดเผยว่า ปีที่แล้วเซ็กเมนต์สินค้าหรูมือสองในโซนเอเชียกำลังเติบโตต่อเนื่อง ด้วยอัตราสูงถึง 40% เมื่อเทียบกับปี 2559

โดยกลุ่มรองเท้าผ้าใบหรือสนีกเกอร์และเสื้อยืดเป็นกลุ่มที่มาแรง ไล่ตามกระเป๋าซึ่งครองสัดส่วนอันดับ 1 ด้วยสัดส่วน 77% ของการขายทั้งหมดมายาวนาน อาทิ ในฮ่องกง ที่ยอดขายเสื้อยืดหรูโต 6 เท่าตัว ส่วนสนีกเกอร์โต 48% จากดีมานด์ของกลุ่มมิลเลนเนียล อายุ 18-38 ปี ส่วนแบรนด์ยอดนิยมยังเป็น “ชาแนล” สะท้อนจากยอดขายเติบโตมากกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2559 ตามด้วยแบรนด์หรูจากยุโรปรายอื่น ๆ เช่น หลุยส์วิตตองและแอร์เมสในอันดับ 2 และ 3

“แดเนียล ลิม” ผู้ร่วมก่อตั้งรีบอนซ์วิเคราะห์ว่า ผู้บริโภคในหลายประเทศเริ่มเปิดรับสินค้ามือสองมากขึ้น ขณะเดียวกันดีมานด์ที่สูงจนบางครั้งสินค้ามือสองกลับทำราคาสูงกว่ามือหนึ่งถึง 25-40% ตัวอย่างเช่น กระเป๋า Hermes Etoupe Togo Birkin 35 ทำสถิติขายมือสองในราคาสูงกว่ามือหนึ่งถึง 43% ทำให้มีผู้นำสินค้ามาปล่อยขายมากขึ้นหวังเปลี่ยนสินทรัพย์เป็นเงินหรือทำกำไร กลายเป็นวงจรช่วยกระตุ้นให้ตลาดนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว

“ตัวเลขนี้ยังสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ผู้บริโภคมีต่อแบรนด์นั้น ๆ ทั้งด้านคุณค่าและความคงทนของสินค้าอีกด้วย”

นอกจากกระเป๋าและเสื้อผ้าแล้ว นาฬิกาหรู เป็นอีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่มีการซื้อ-ขายในตลาดมือสองคึกคักขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะแหล่งรวมนาฬิกาหรูอย่างฮ่องกง ซึ่งแต่ละปีทำยอดขายนาฬิกาสวิสเฉลี่ยถึง 13% ของตลาดโลก เริ่มมีผู้สนใจนาฬิกามือสองกันมากขึ้นทั้งฝั่งผู้ค้าและผู้ซื้อ

“วอตช์บ็อกซ์” (WatchBox) บริษัทซื้อขายนาฬิกาหรูมือสอง สัญชาติสหรัฐ เป็นผู้เล่นรายล่าสุดที่โดดเข้าร่วมตลาดในฮ่องกงช่วงต้นปีนี้ ด้วยการเปิดร้านในย่านช็อปปิ้งหรูอย่างเซ็นทรัล ท่ามกลางบรรดาร้านนาฬิกาแบรนด์เนมมือหนึ่ง แตกต่างจากร้านนาฬิกามือสองทั่วไปที่มักรวมตัวกันในย่านถนนนาธานหวังชิงโอกาสสร้างการรับรู้และรายได้จากเทรนด์ตลาด ด้วยจุดแข็งอย่างแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์และกลยุทธ์มุ่งจับกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งเคยประสบความสำเร็จในตลาดสหรัฐมาแล้ว

“ปัจจุบันชาวฮ่องกงรุ่นใหม่กลุ่มมิลเลนเนียลเปิดรับนาฬิกามือสองกันมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน ๆ เห็นได้จากความนิยมของช่องทางขายนาฬิกามือสองออนไลน์ ทั้ง Chrono24 และ Carousell ที่มีจุดเด่นด้านช่วยให้การซื้อขายง่ายขึ้น”

แม้แต่แบรนด์นาฬิกาสวิสเองยังยอมรับว่าเทรนด์นี้จะเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ โดย “ฟรังโก-เฮนรี เบนนาเมียส์” ซีอีโอของ Audemars Piguet กล่าวว่า ตลาดมือสองเป็นเซ็กเมนต์ที่ต้องจับตามอง และบริษัทเองได้ทดลองขายนาฬิกามือสองในร้านบางสาขาก่อนจะขยายต่อไปในตลาดโลก

จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ ตลาดสินค้ามือสองน่าจะเป็นที่จับตามองของหลายธุรกิจ โดยเฉพาะแบรนด์หรูที่พยายามสร้างรายได้จากตลาดที่เคยถูกลืมนี้