ลอรีอัล มุ่งเทคโนฯ ความงามคู่สิ่งแวดล้อม หวังชิงเบอร์ 1

ลอรีอัล แย้มทิศทางธุรกิจปี 2566 มุ่งเทคโนโลยี-นวัตกรรมความงาม พร้อมลุยประเด็นสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนส่วนประกอบธรรมชาติ หวังขึ้นเบอร์ 1 ตลาดความงามไทย

วันที่ 25 เมษายน 2566 นายแพทริค จีโร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา กล่าวว่า ทิศทางในปี พ.ศ. 2566 นี้ ยังคงมุ่งเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีความงาม ควบคู่กับประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพื่อผลักดันลอรีอัลประเทศไทยขึ้นสู่อันดับ 1 ในตลาดความงามของไทย

โดยเป็นทิศทางต่อเนื่องจากปีก่อนที่เคยนำเสนอเทคโนโลยีด้านความงามไปกว่า 15 บริการแก่ผู้บริโภคชาวไทย ทั้งที่จุดขายและทางออนไลน์, สร้างแคมเปญที่เป็น Talk of the Town เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาทักษะบุคลากรและเครื่องมือ ตามเป้าการเป็นองค์กรขับเคลื่อนด้วย Data

เช่นเดียวกับด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติให้มากขึ้นอีก ตามเป้าหมายใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ 95% ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) หลังปีที่แล้วสามารถขยับสัดส่วนส่วนผสมจากธรรมชาติขึ้นมาเป็น 61% แล้ว นอกจากยังจัดแคมเปญรีไซเคิลขยะภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรหลายรายในประเทศไทย รวมถึงสนับสนุนสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และกลุ่มผู้ขาดโอกาสทางสังคมอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับการผสานอุตสาหกรรมความงามเข้ากับเทคโนโลยี AI และ Data เพื่อกำหนดอนาคตอุตสาหกรรมความงาม รวมทั้งส่งเสริมความหลากหลายด้วยแนวคิด “Beauty for Each” ความงามที่เข้าถึงและตอบโจทย์ผู้บริโภคจากทั่วโลกที่มีภูมิหลัง วัฒนธรรม และความต้องการอันหลากหลาย

“ในตลาดความงามที่ไม่เคยหยุดยิ่ง ทุกๆ ความท้าทายคือโอกาส ลอรีอัลพร้อมจะเดินหน้าอย่างมั่นคงเพื่อย้ำความเป็นบริษัทความงามอันดับ 1 ของโลก และผลักดันลอรีอัลประเทศไทยสู่อันดับ 1 ในไทย ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีความงาม และผลิตภัณฑ์และบริการที่ยอดเยี่ยม ควบคู่ไปกับด้านความยั่งยืน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทั้งอุตสาหกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายในการสร้างสรรค์ความงามที่ขับเคลื่อนโลก”

ปี ’65 ความงามไทย-เทศ โตแกร่ง

สำหรับภาพรวมตลาดความงามในประเทศไทยปี 2565 ที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 1.49 แสนล้านบาท นำโดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวถึงราว 60% ผลิตภัณฑ์ดูแลผม 20% เครื่องสำอาง 14% และน้ำหอม 6% โดยมีแนวโน้มเติบโตสองหลักหลังผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับการดูแลผิวและชอบลองนวัตกรรมใหม่ ๆ

ทั้งนี้ไทยนับเป็นตลาดความงามที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับเป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค SAPMENA (เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาเหนือ)

สำหรับผลประกอบการของบริษัทไมในทิศทางเดียวกับตลาดรวม โดยปี 2565 ลอรีอัล ประเทศไทย สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดจากหลายแบรนด์และเติบโตในภาพรวมในระดับเลขสองหลัก โดยครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ นำโดยแบรนด์การ์นิเย่ (Garnier) และ เมย์เบลลีน นิวยอร์ก (Maybelline New York)

ในส่วนกลุ่มน้ำหอมนั้น บริษัทก้าวขึ้นสู่อันดับ 2 ด้วยน้ำหอมจากแบรนด์ จาก อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (Yves Saint Laurent Beauté) ลังโคม (Lancôme) และ อาร์มานี (Giorgio Armani) จากแผนกผลิตภัณฑ์ความงามชั้นสูง

นอกจากนี้นายแพทริค ยังเปิดเผยว่า แผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอาง ที่มีแบรนด์ ลา โรช-โพเซย์, วิชี่ และเซราวี ยังสร้างปรากฏการณ์เป็นแผนกที่เติบโตสูงที่สุดในบริษัท ด้วยการโต 2 เท่าในระยะเวลาเพียง 3 ปี และยังเปลี่ยนชื่อแผนกจาก L’Oréal Active Cosmetics เป็น L’Oréal Dermatological Beauty เพื่อสะท้อนพันธกิจในการส่งมอบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพผิวที่ดีพร้อมช่วยดูแลปัญหาโรคผิวหนัง

ทั้งนี้สอดคล้องกับการเติบโตของ ลอรีอัล กรุ๊ป ในระดับโลกซึ่งโต 10.9% คิดเป็นมูลค่า 3.83 หมื่นล้านยูโร จากยอดขายทั่วโลกรวม 7,000 ล้านชิ้น โดยธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัทขยายตัว 8.9 % คิดเป็นสัดส่วน 28% ของรายได้ทั่วโลก ขณะที่ไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีการเติบโต 13%