จับชีพจร…“ค้าปลีก” กำลังซื้อเหือด ! โปรฯเอาไม่อยู่

ห้างสรรพสินค้า

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (retail sentiment index) ของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ที่ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2 ไตรมาส โดยไตรมาส 1 ลดลง 13.5 จุด (ไตรมาสต่อไตรมาส หรือ QOQ) และถัดมาไตรมาส 2 ดัชนีลดลงมาที่ 47 จุด ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุด

ทุกองค์ประกอบครั้งแรกในรอบ 15 เดือน ยังมีความน่ากังวล จากดัชนียอดขายสาขาเดิม เทียบไตรมาสต่อไตรมาส, ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง และความถี่ในการจับจ่ายปรับตัวลดลง สะท้อนถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคฐานรากยังอ่อนแอ ภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น ทั้งค่าสาธารณูปโภค ค่าโดยสาร กดดันให้ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น รวมทั้งยังไม่มีมาตรการใหม่จากรัฐในการกระตุ้นการจับจ่าย

ขณะเดียวกัน ภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวยังบ่งบอกถึงการฟื้นตัวของธุรกิจที่ไม่สมดุล โดยพื้นที่ท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น ทางด้านธุรกิจห้างสรรพสินค้า, แฟชั่น, สุขภาพและความงาม มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า ๆ ส่วนร้านสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มีการชะลอตัว และร้านค้าส่งไฮเปอร์มาร์เก็ตยังคงไม่ฟื้นตัว

คาดตลาดรวมโตเท่าจีดีพี

“ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์” รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ภาพรวมของค้าปลีกครึ่งปีแรกอยู่ในภาวะทรง ๆ ไม่ดีตามที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตาม หากเทียบ ปีต่อปี (year on year) ดีขึ้น แต่ลงไปลึก ๆ จะพบว่ากลุ่มน็อนฟู้ด ห้างสรรพสินค้า เสื้อผ้า แฟชั่นดีขึ้น ปัจจัยจากการเปิดประเทศ เมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2566 ซึ่งช่วยให้การท่องเที่ยวค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น แต่อีกกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะคอนซูเมอร์โปรดักต์ ที่ทรง ๆ ถึงลดลงจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการจับจ่าย แต่ปีนี้ไม่มีเงินอัดฉีดมาตั้งแต่ต้นปี

โดยส่วนตัวมองว่าการเติบโตของค้าปลีกในปีนี้จะยังเป็นในลักษณะของการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน หรือ K-shaped recovery โดยในกลุ่ม เค ขาขึ้น หรือกลางไปถึงบน จะไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ K ที่เป็นขาลง หรือตลาดระดับล่าง อาจจะยังมีปัญหาอยู่บ้าง จากค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น และเป็นกลุ่มที่ต้องการการอัดฉีดเงินเข้าช่วย อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้พูดคุยกับผู้ประกอบการค้าปลีกในต่างจังหวัด ก็พบว่าตัวเลขเดือน ก.ค.นี้เริ่มดีขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นการเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ที่ตลาดในภาพรวมไม่ดีนัก

“ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค.ที่ผ่านมา คนไทยออกไปเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การบริโภคหรือการจับจ่ายใช้สอยในประเทศจึงไม่เป็นไปตามที่คาด สะท้อนจากการทำโปรโมชั่นทำช้อปช่วยชาติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ยอดก็ไม่ดี และหลังจากที่โรงเรียนเปิดเทอมในช่วงเดือน พ.ค. ก็พบว่าการจับจ่ายใช้สอย การช็อปปิ้งก็ลดลง ส่วนเดือน ก.ค-ส.ค. ก็เป็นช่วงโลว์ซีซั่นของการท่องเที่ยว ต่างประเทศจะเข้ามาน้อยลง โดยเฉพาะจากยุโรป และตัวแปรอีกอย่างหนึ่งก็คือ นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาน้อย อย่างไรก็ตาม เท่าที่ถามหลาย ๆ คนตอนนี้ยอดขายกลับมาใกล้เคียงกับช่วงโควิดแล้ว แต่ในแง่กำไรหายไปเยอะ เพราะต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้น จึงเชื่อว่าการเติบโตของค้าปลีกจะเท่ากับตัวเลขจีดีพี ซึ่งอาจจะอยู่ในระดับ 2-3%” รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวย้ำ

จับจ่ายออกอาการสะดุด

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกรายใหญ่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงนี้กำลังติดตามสถานการณ์กำลังซื้อในภาพรวมว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร เนื่องจากในช่วง 2 เดือน (พ.ค.-มิ.ย.) ที่ผ่านมา บรรยากาศการจับจ่ายกลับมาชะลอตัวลงอีกครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากปัญหาค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่การจัดตั้งรัฐบาลมีแนวโน้มว่าจะล่าช้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยา ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย หลังจากช่วงตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน เม.ย. ที่การจับจ่ายมีแนวโน้มดีขึ้น จากภาพรวมเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้น จากการเปิดประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญค่อย ๆ ดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมค่อย ๆ เริ่มหมุน

“ตลาดกลางถึงบนไม่ค่อยน่ากังวลนัก เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ส่วนตลาดล่าง ยอมรับว่าอาจจะเหนื่อยพอสมควร โดยเฉพาะตลาดต่างจังหวัดและจังหวัดที่ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ซึ่งในช่วงที่ยังเหลืออยู่นี้จะต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และโปรโมชั่นต่าง ๆ ซึ่งที่ผ่านมาตลาดเติบโตได้ก็ด้วยแรงส่งเสริมการขายเป็นหลัก แต่ในแง่ของกำไรอาจจะลดลงบ้าง เพราะต้นทุนการดำเนินงานและกิจกรรมที่สูงขึ้น”

ค้าปลีก ตจว.ดิ้นช่วยตัวเอง

“มิลินทร์ วีระรัตนโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ ค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผลจากเศรษฐกิจในภาพรวมที่ไม่ดี และสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น ส่งผลให้บรรยากาศการค้าขายในต่างจังหวัดค่อนข้างเงียบ ตลาดค้าปลีกค้าส่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายของตั้งงี่สุนหายไปกว่า 20-30% เนื่องจากผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ และรัฐบาลไม่อัดฉีดเงินเข้ามากระตุ้นเหมือนช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับยอดการซื้อของร้านค้าปลีกรายย่อยที่ซื้อสินค้าไปขายต่อในอำเภอรอบนอกก็ลดลงด้วย ทั้งในแง่ของปริมาณการซื้อและความถี่ในการซื้อก็ลดลง

สินค้าที่ขายหลัก ๆ จะเป็นสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าอื่น ๆ แม้จะมีโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมกระตุ้น แต่ยอดขายก็ไม่วิ่ง ลูกค้าซื้อเฉพาะสินค้าที่จําเป็น อะไรที่ยังไม่จำเป็นก็ไม่ซื้อ เพราะไม่มีกำลังซื้อ ไม่มีเงิน ตอนนี้ผู้ประกอบการค้าส่งในต่างจังหวัดเริ่มมีปัญหาเรื่องสต๊อกบวม เมื่อสต๊อกบวมก็ต้องหยุดซื้อสินค้าใหม่เข้ามาขาย พอหยุดซื้อซัพพลายเออร์ก็หยุดส่งสินค้าให้จนกว่าจะเคลียร์เงินของเดิมก่อน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการค้าปลีกในต่างจังหวัด รวมถึงสมาคมการค้าปลีกส่งไทย ได้มีการหารือกัน และมีโครงการจะจัดแคมเปญส่งเสริมการขายร่วมกันในเร็ว ๆ นี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่าย โดยมีคอนเซ็ปต์คล้าย ๆ กับโครงการธงฟ้า

“ตอนนี้เราไม่ไหวแล้ว และต้องช่วยเหลือตัวเอง เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายและเศรษฐกิจด้วยเรากันเอง จะรอรัฐบาลคงไม่ได้ และหากยอดขายยังลดลงต่อเนื่อง สวนทางกับต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟ หรือค่าแรง ที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก ทำให้ต้องเตรียมแผนสำรองไว้ เช่น การปรับเปลี่ยนเวลาให้บริการที่อาจจะปิดเร็วขึ้น เพราะเปิดไปก็ขายไม่ได้ หรืออาจจะต้องปรับลดการทำงานล่วงเวลา หรือ โอที หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็อาจจะต้องพิจารณาปรับลดพนักงาน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ตั้งงี่สุนกล่าวในตอนท้าย