เจ้าสัวเจริญ เคลื่อนทัพหลวง ขนทัพ “แบรนด์ไทย” ตีตลาดโลก

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล, เจริญ สิริวัฒนภักดี, ฐาปน สิริวัฒนภักดี
อัศวิน เตชะเจริญวิกุล, เจริญ สิริวัฒนภักดี, ฐาปน สิริวัฒนภักดี

ยังเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในทุกมิติ สำหรับทัพธุรกิจของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่วันนี้ มีลูกชาย-ลูกสาว-ลูกเขย พร้อมทั้งขุนพลคู่ใจ เป็นกำลังสำคัญ

ที่ผ่านมาแม้ทัพธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ จะขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศมาแล้วเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่มีพอร์ตโฟลิโอครอบคลุมทั้งธุรกิจเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่มีแบรนด์สินค้ามากมายครอบคลุมแทบทุกตลาด รวมทั้งแบรนด์ร้านอาหารชื่อดังต่างๆ และ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี หรือกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี ที่มีสินค้าทั้งสแน็ก-อุปโภคบริโภค และธุรกิจค้าปลีก “บิ๊กซี” ฯลฯ โดยที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัทนี้ได้ทยอยซื้อกิจการในต่างประเทศ การขยายลงทุนเข้าไปตั้งโรงงานเพื่อเป็นฐานการผลิตในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงการนำสินค้าต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพอร์ตโฟลิโอไปวางจำหน่าย

ล่าสุดทั้งไทยเบฟฯ และบีเจซี ได้ประกาศแผนเชิงรุก และวางยุทธศาสตร์ในการบุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวในการรุกตลาดต่างประเทศจากนี้ไปที่จะบุกหนักมากขึ้น สะท้อนจากการประกาศยุทธศาสตร์ของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีรายได้รวมเฉียด ๆ 3 แสนล้านบาท ในงานแถลงข่าวประจำปี 2566 เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ไทยเบฟฯบุกจีน-อาเซียน

“ฐาปน” กล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่า จากนี้ไปการบาลานซ์ตลาดและการกระจายความเสี่ยงเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างการเติบโต ทั้งการขยายธุรกิจในประเทศต่าง ๆ และขยายไลน์อัพสินค้าให้หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

การรุกตลาดเอเชีย โดยเฉพาะจีนและอาเซียน เป็นเป้าหมายสำคัญของไทยเบฟฯ เนื่องจากทั้งจีนและอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตสูง โดยเฉพาะจีนเป็นตลาดที่สำคัญ ทั้งไม่เพียงมีโอกาสเติบโตจากจำนวนผู้บริโภค แต่ยังรวมถึงโนว์ฮาวด้านการนำเอไอมาช่วยวางระบบกระจายสินค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจไทยเบฟฯ ที่มีสินค้าหลากหลาย บริษัทจึงจะทั้งเข้าไปหาพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจและส่งสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ กัมพูชาและลาวยังจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการขยายตลาดภาคพื้นอาเซียนอีกด้วย เบื้องต้นมีแผนจะลงทุนราว ๆ 4,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานเบียร์ในกัมพูชา จากเดิมที่มีโรงงานผลิตสุราในเมียนมา (แกรนด์ รอยัล กรุ๊ป) และมีโรงงานเบียร์ในย่างกุ้ง (เอ็มเมอรัล บริวเวอรี่) และมีแผนจะสร้างโรงเบียร์แห่งใหม่ที่มัณฑะเลย์ด้วย

สเต็ปถัดไป คือ รุกตลาดตะวันออกกลางมากขึ้น รวมถึงการขยายสู่ยุโรป โดยที่ผ่านมา ไทยเบฟฯได้เตรียมความพร้อมเพื่อจะบุกตลาดยุโรป โดยการทุ่มซื้อกิจการลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) ประเทศฝรั่งเศส และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) ในประเทศนิวซีแลนด์ เป้าหมายเพื่อรุกตลาดสุราพรีเมี่ยม

ไม่เพียงเฉพาะธุรกิจเหล้า-เบียร์เท่านั้น จากนี้ไป ไทยเบฟฯ ยังได้วางโรดแมปที่ขยายธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ ทั้งเครื่องดื่มและอาหาร ไปในตลาดอาเซียนด้วย ปีหน้ามีโครงการจะสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ในกัมพูชา โดยเฉพาะเครื่องดื่มโออิชิ รวมทั้งมีแผนจะขยายการทำตลาดเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ในประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ทั้งเมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย จากเดิมที่ โออิชิ เป็นเจ้าตลาดชาเขียวในลาว-กัมพูชาอยู่แล้ว

เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร อยู่ระหว่างการศึกษาและมีแพลนจะนำแบรนด์ร้านอาหารในเครือที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ ไปบุกตลาดต่างประเทศเช่นเดียวกัน ที่อาจจะเป็นได้ทั้งการร่วมกับพาร์ตเนอร์ หรือแฟรนไชส์คาดว่าจะได้เห็นภายในปี 2025 นี้

“ฮ่องกง” สปริงบอร์ดบุกจีน

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซี เจ้าของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีรายได้ 160,000 ล้านบาท ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เข้าซื้อกิจการร้านอะเบ๊าท์ไทย (AbouThai) 24 แห่ง ในฮ่องกง และได้ทยอยเปลี่ยนชื่อเป็นบิ๊กซี (Big C) ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 พร้อมวางแผนเปิดสาขาให้ครบ 99 สาขา ภายในสิ้นปี 2569

“อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (BRC) กล่าวว่า “การซื้อกิจการในครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของบิ๊กซี รีเทล ในการขยายธุรกิจออกนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากขยายธุรกิจในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา”

“…วางแผนเปิดสาขาเพิ่มปีละ 25 สาขาเพื่อให้มีสาขารวมมากถึง 99 สาขา ภายในสิ้นปี 2569 และวางแผนการลงทุนระยะยาวในฮ่องกงด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง คาดว่ายอดขายบิ๊กซีในฮ่องกงจะเติบโตอย่างรวดเร็วจะมากกว่า 1 พันล้านฮ่องกงดอลลาร์ในปี 2568 และมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นที่ 1.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในปี 2569 พร้อมนำเข้าสินค้าแบรนด์ดังจากประเทศไทยที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมากกว่า 80% เพื่อตอบสนองความต้องการและความต้องการของลูกค้าฮ่องกง”

นอกจากนี้ยังมีแผนการยกระดับ Big C ซูเปอร์มาร์เก็ต ให้มีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม รวมถึงมีความสนใจการลงทุนในโครงการพัฒนาไคตั๊ก (Kai Tak) เป็นพื้นที่มหาศาลอยู่กลางเมืองและติดริมน้ำ ซึ่งฮ่องกงต้องการให้ไคตั๊กเป็นต้นแบบในการพัฒนาเมืองฮ่องกงในอนาคต

การบุกตลาดฮ่องกงดังกล่าว นอกจาก บิ๊กซี จะนำสินค้าแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอ อาทิ นกแก้ว เทสโต้ เซลล็อกซ์ โดโซะ รวมถึงเบียร์ช้าง ฯลฯ ไปวางจำหน่ายในฮ่องกงแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบรนด์ดังของพันธมิตรจากประเทศไทยอีกหลายแบรนด์ที่ยกขบวนไปด้วย และอาจจะกล่าวได้ว่า การรุกคืบเข้าไปในฮ่องกง อาจจะเป็นสปริงบอร์ดในการก้าวไปสู่ตลาดจีนอีกทางหนึ่ง

หากย้อนกลับไปจะพบว่า ที่ผ่านมา บีเจซีประกาศยุทธศาสตร์และแผนการลงทุน 5 ปี (2565-2569) ที่จะใช้งบฯลงทุน 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 30% สำหรับการขยายกำลังการผลิตสินค้า และอีก 70% ใช้ในขยายสาขาทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะการขยายการลงทุนในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งเตรียมจะเข้าไปในเมียนมาและจีนตอนใต้ ที่ตลาดยังมีช่องว่างอีกมาก จากที่ผ่านมาได้เข้าไปลงทุนที่เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา

และนอกจากบีเจซีจะมีฐานการผลิตหลัก ๆ ในไทยแล้ว ยังมีโรงงานในเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา รวมทั้งมีธุรกิจค้าปลีกในหลายประเทศ เช่น กีวี่ มาร์ท (Kiwi Mart) เชนร้านสะดวกซื้อ และไฮเปอร์มาร์เก็ตในกัมพูชา, มินิ บิ๊กซี และบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต ใน สปป.ลาว และ MM Food Service ธุรกิจค้าส่งในเวียดนาม ที่มีแผนจะขยายไปในหลาย ๆ ประเทศทั้งกัมพูชา ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้ เป็นต้น

อาจจะกล่าวได้ว่า นี่เป็นความเคลื่อนไหวเพียงบางส่วนของทัพธุรกิจเจ้าสัวเจริญ ในการขยายอาณาจักรธุรกิจออกไปในต่างประเทศ หลังจากที่ผ่านมาได้มีการปูทางสร้างฐานมาแล้วในระดับหนึ่ง และจากนี้ไปภาพการบุกตลาดต่างประเทศจะมีรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น ๆ

เป็นการก้าวขึ้นสู่การเป็นบริษัท หรือองค์กรระดับโลกอย่างแท้จริง