เจาะกลยุทธ์ “มาม่า-ไวไว” จากบะหมี่กึ่งฯแบบซอง ต่อยอดโมเดลร้านอาหาร

เจาะกลยุทธ์ “มาม่า-ไวไว” จากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบซอง สู่การต่อยอดผ่านโมเดลร้านอาหาร “MAMA Station-ควิกเทอเรส”

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ทำให้หลาย ๆ แบรนด์ต้องปรับตัว โดยเฉพาะตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ที่ต้องเตรียมรับมือกับภาวะการแข่งขันสูงจากเทรนด์บะหมี่อิมพอร์ตจากเกาหลี-ญี่ปุ่นที่มาแรงในหมู่ผู้บริโภครุ่นใหม่

ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จึงต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อรักษาฐานลูกค้าของตัวเอง และสร้างการรับรู้ของแบรนด์ให้กว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเริ่มเห็นยักษ์ใหญ่ทั้ง “มาม่า-ไวไว” ก็ได้มีการปรับกลยุทธ์และเริ่มพัฒนาโมเดลใหม่ออกสู่ตลาด

มาม่าสร้าง Brand Awareness ปั้นร้านอาหาร “MAMA Station”

“มาม่า” แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของไทย ที่ยืนหยัดทำตลาดมา 5 ทศวรรษ และก้าวเข้าสู่ปีที่ 51 นอกจากภารกิจผลักดันเป้าหมายยอดขายให้แตะ 3 หมื่นล้านบาทภายใน 2-3 ปีแล้ว บริษัทยังมีความตั้งใจที่จะขยายธุรกิจใหม่ “ร้านอาหาร” รวมทั้งสร้าง Brand Awareness แบรนด์ “มาม่า” ให้ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่รับรู้ว่า “มาม่า” ไม่ใช่แค่สินค้าซอง แต่ทำเป็นเมนูได้หลากหลาย

โดยหนึ่งในกลยุทธ์การตลาด คือการปั้นร้านอาหาร “MAMA Shop” ที่ได้เปิดตัวครั้งแรกในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ปี 2565 ที่ผ่านมา เพื่อทดลองตลาด ซึ่งได้รับกระแสดีมาก จนทำให้ในช่วงปลายปี 2565 ได้มีการเริ่มทดลองเปิดร้านต้นแบบ MAMA Station aroi (มาม่า สเตชั่น อร่อย) เป็นสาขาแรกที่โครงการ HappyHub คอร์ทแบดมินตัน ย่านลาดพร้าว

โดยร้านโมเดลต้นแบบนี้เป็นการคัดเลือกพาร์ตเนอร์ ผู้สนใจลงทุน ที่มีความพร้อมเรื่องทำเลและเงินลงทุนเพื่อทดลองเปิดให้บริการ ซึ่งใช้เงินลงทุนของพาร์ตเนอร์ทั้งหมด โดยมาม่าทำสัญญาให้ใช้แบรนด์ “มาม่า” มาเป็นส่วนประกอบในร้านอาหาร

ซึ่งถือเป็นการพัฒนาร้านต้นแบบที่ win win ทุกฝ่าย ฝั่งพาร์ตเนอร์ผู้ลงทุนได้เปิดร้านอาหาร ใช้จุดขายจากเมนูมาม่าและได้เป็นเจ้าของกิจการ ส่วนบริษัทไม่ต้องลงทุนทำร้านเอง แต่จะตรวจสอบคุณภาพทุกสาขา โดยต้องได้มาตรฐานของมาม่า คือ ความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ความสะอาด อาหารรสชาติดี ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นเรื่องที่ทุกสาขาต้องทำให้ได้เหมือนกัน

และต่อมาช่วงต้นปี 2566 ก็ได้เปิดตัว MAMA Station สาขา 2 ที่โครงการมินิมอลล์ เพชรเกษม 98 ซึ่งได้ผลตอบรับดีทั้งจากนักลงทุนและผู้บริโภค ทำให้บริษัทเตรียมยกระดับความร่วมมือกับนักลงทุนที่เปิดร้านไปแล้ว จัดตั้งบริษัทร่วมทุนรองรับการขยายร้านต้นแบบหรือ Pilot ต่อเนื่อง เพื่อปูทางสู่การพัฒนาเป็นโมเดลแฟรนไชส์ในอนาคต

นอกจากนี้ มาม่ายังมีร้านอาหารอื่น ๆ อีก เช่น แซ่บมิวเซี่ยม ที่เทอร์มินอล 21 อโศก และร้าน Crazy MAMA ที่ไอคอนสยาม เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไปจะเริ่มเห็นร้านอาหารมาม่าในห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงร้านอาหารไทยในต่างประเทศมากขึ้น

ไวไวชูกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง เตรียมส่ง ‘ควิกเทอเรส’ ชิงฐานลูกค้า เล็งปีหน้าบุกหัวเมืองใหญ่

ฟากของบริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไวไวและควิกแสบ” เร่งเครื่องยุทธศาสตร์ป่าล้อมเมือง เตรียมส่ง “ควิกเทอเรส” ร้านบะหมี่สไตล์ฟิวชั่น ปักธงในจังหวัดระดับหัวเมืองอย่างเชียงใหม่และนครสวรรค์ ในปี 2567 หลัง 4 สาขาก่อนหน้าผลตอบรับดี ดันรายได้ธุรกิจ Food Retail โตพุ่ง 20% รวมถึงมีแผนระยะยาวที่จะเปิดสาขาตามศูนย์กระจายสินค้าของบริษัทในแต่ละจังหวัดเพิ่มอีกในอนาคต

นายยศสรัล แต้มคงคา ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ “ไวไวและควิกแสบ” รวมถึงเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารไวไว GEN3 อธิบายว่า โมเดลควิกเทอเรสนี้เป็นร้านบะหมี่สไตล์ฟิวชั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจ Food Retail ที่ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับบะหมี่กึ่งฯ และเส้นหมี่อบแห้ง ด้วยการนำมาทำเมนูเส้น เน้นจุดขายด้านความรวดเร็ว สะดวก และอร่อย

โดยมีกลยุทธ์แบบป่าล้อมเมือง เนื่องจากเล็งเห็นว่าพื้นที่ต่างจังหวัดมีอัตราการกระจายตัวของประชากรมากกว่า เป็นโอกาสที่แบรนด์จะสามารถได้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากและสร้างแบรนด์อิมเมจได้รวดเร็วกว่าในเขตเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

ซึ่งที่ผ่านมาได้เริ่มออกสตาร์ตสาขาแรก ตั้งอยู่ด้านหน้าของโรงงานไวไว สำนักงานใหญ่บริเวณ จ.นครปฐม ซึ่งแต่เดิมรองรับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน ก่อนเปิดเพิ่มอีก 3 สาขา คือ สาขาชลบุรี (ปั๊ม ปตท. บายพาส), สาขาอ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร (ปั๊ม ปตท. อ้อมน้อย ฝั่งขาออก) และสาขากระทุ่มแบน (ปั๊ม ปตท. ถนนเศรษฐกิจ จ.สมุทรสาคร) ตามลำดับ

โดยปัจจุบันภาพรวมของทุกสาขามียอดขายเติบโตในปี พ.ศ. 2566 เทียบกับปี พ.ศ. 2565 มากกว่า 20% และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม การก้าวออกจาก Safe Zone ของทั้ง “มาม่า” และ “ไวไว” ที่อยู่มาหลายทศวรรษ ล้วนเป็นแนวคิดของผู้บริหารรุ่นใหม่ ด้วยกลยุทธ์และโอกาสที่แตกต่างกันไป ยังต้องจับตาถึง “ความสำเร็จ” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต