เปิดอาณาจักร “ค้าปลีก” แสนล้าน ”เจ้าสัวเจริญ” ในมือลูกสาวคนเล็ก

เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี
อัพเดตล่าสุด 1 มกราคม 2567 เวลา 23.04 น.

แกะรอยอาณาจักร “ค้าปลีก” แสนล้านของเจ้าสัวเจริญ ที่ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ทุกโมเดล ตั้งแต่บิ๊กซีซูเปอร์มาร์เก็ต-บิ๊กซี ฟู้ดเพลส-ร้านโดนใจ-ร้านขายยาเพรียว-ร้านกาแฟวาวี และอีกหลายประเภทไปจนถึงธุรกิจตลาดนัดกลางแจ้ง

วันที่ 1 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC กลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวเจริญ (สิริวัฒนภักดี) ซึ่งครอบคลุม 1.กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ 2.กลุ่มสินค้าและบริการอุปโภคบริโภค 3.กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และ 4.กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

ผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 124,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 3,156 ล้านบาท ลดลง 6.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดยกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ ถือว่ามีสัดส่วนรายได้มากสุดใน 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งสร้างรายได้รวม 84,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 4.4% และกำไรสุทธิ 2,752 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 16.1%

“ประชาชาติธุรกิจ” พาไปดูว่าธุรกิจค้าปลีกของ BJC ภายใต้การบริหารงานของนางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล (ลูกสาวคนเล็กเจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี)

ต้องบอกว่าธุรกิจค้าปลีกของ BJC ครอบคลุมในทุกเซ็กเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดต่าง ๆ อย่าง บิ๊กซี ซูเปอร์มาร์เก็ต, บิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ต, บิ๊กซี มาร์เก็ต, บิ๊กซี ฟู้ดเพลส และบิ๊กซี มินิ รวมถึงบิ๊กซี ฮ่องกง

ไปจนถึงตลาดนัดกลางแจ้ง, ร้านขายยา “เพรียว”, ร้านหนังสือ “เอเชียบุ๊คส์”,  ร้านกาแฟ “วาวี” ร้านขายอุปกรณ์สำนักงาน “บิ๊กซี ดีโป้” และเครือข่ายร้านโชห่วย “ร้านโดนใจ” ขณะที่ทุกโมเดลยังมีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง และแน่นอนไม่ใช่แค่ในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังขยายเครือข่ายไปประเทศเพื่อนบ้านด้วย

โดยธุรกิจค้าปลีกของ BJC แต่ละโมเดลปัจจุบันมีจำนวนสาขาดังนี้

    1. ไฮเปอร์มาร์เก็ต 155 สาขา
      (รวมบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขาในกัมพูชา)
    2. ซูเปอร์มาร์เก็ต 49 สาขา
      (บิ๊กซี มาร์เก็ต 35 สาขา และบิ๊กซี ฟู้ดเพลส 12 สาขาในไทย และ 2 สาขาในกัมพูชา)
    3. บิ๊กซี ฮ่องกง 24 สาขา
    4. บิ๊กซี มินิ 1,488 สาขา
      (รวมแฟรนไชส์ 51 สาขาในไทย และบิ๊กซี มินิ กัมพูชา 18 สาขา)
    5. บิ๊กซี ดีโป้ 11 สาขา
    6. บิ๊กซี ฟู้ดเซอร์วิส 6 สาขา
    7. ตลาดกลางแจ้ง (ตลาดนัด) 8 สาขา
    8. ร้านขายยาเพรียว 148 สาขา
    9. ร้านกาแฟวาวี 98 สาขา
    10. ร้านหนังสือเอเชียบุ๊คส์ 60 สาขา
    11. ร้านค้าโดนใจ (เครือข่ายร้านโชห่วย) 4,026 สาขา

สำหรับธุรกิจค้าปลีกในฮ่องกงนั้น เป็นผลจากบริษัทได้เข้าซื้อกิจการร้านอะเบ๊าท์ไทย จํานวน 24 สาขา ในฮ่องกง ซึ่งต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นร้านบิ๊กซี

รายงานข่าวของบริษัทระบุว่า เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มออมนิชาแนลของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาส 3/66 ที่ผ่านมา บริษัทเพิ่มศักยภาพของอีคอมเมิร์ซ โดยการเชื่อมต่อร้านค้าบิ๊กซี มินิ เข้ากับแอปพลิเคชั่น Big C PLUS เพื่อให้ลูกค้าบิ๊กซี มินิ สามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์และรับส่งสินค้าภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง

นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เข้ามามากขึ้น บริษัทจึงได้เปิดตัว WeChat Mini Program สําหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งช่วยให้สามารถซื้อสินค้าล่วงหน้า และรับสินค้าที่ร้านบิ๊กซี ราชดําริ ได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น