CRC ก้าวข้ามปัจจัยลบ โฟกัสธุรกิจ-เจาะลูกค้ากระเป๋าหนัก

ญนน์ โภคทรัพย์
ญนน์ โภคทรัพย์
สัมภาษณ์

ปี 2567 นี้มีแนวโน้มจะยังเป็นอีกปีที่ท้าทายสำหรับธุรกิจค้าปลีกของไทย ด้วยปัจจัยลบทั้งภายในและนอกประเทศ ไม่ว่าเป็นเศรษฐกิจ กำลังซื้อ สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงการรุกตลาดของสินค้าจีน ทำให้ผู้ค้าต้องหาทางปรับตัวรับมือและชิงความได้เปรียบในการแข่งขัน

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์ “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC เกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในธุรกิจค้าปลีกทั้งไทยและโลก รวมถึงแนวคิดการบริหารเพื่อรับมือกับความท้าทายและความได้เปรียบ

ค้าปลีกไทยเสี่ยงโตต่ำกว่าจีดีพี

“ญนน์” ฉายภาพว่า ในปี 2567 นี้ธุรกิจค้าปลีกไทยและทั่วโลกยังท้าทายและมีความไม่แน่นอนหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายในประเทศ ธุรกิจจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการบริหารจัดการและวางแผนใช้เม็ดเงินลงทุน

โดยปัจจัยหลักที่ต้องจับตามองก็คือ สภาพเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้า เนื่องจากหลายประเทศและภูมิภาคยังมีปัญหาภายใน เช่น ปัญหาวงการอสังหาริมทรัพย์ในจีน ซึ่งฝังรากลึกและยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ขณะเดียวกันยังมีความตึงเครียดในระดับภูมิภาค ทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจ เช่น การค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อไทย ซึ่งเป็นคู่ค้าอย่างเลี่ยงไม่ได้

ส่วนปัจจัยภายในประเทศไทยเองก็มีทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจและกำลังซื้อ หลังการฟื้นตัวจากช่วงโควิดค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่น ๆ สะท้อนจากปีที่แล้ว ซึ่งเศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่า 3% แม้การระบาดจะจบลงไปแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญกับการทุ่มตลาดของจีน ซึ่งใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตจากสถานะผู้ผลิตรายใหญ่ และข้อตกลงยกเว้นภาษีนำเข้าส่งสินค้าราคาถูกมาวางขายในไทยผ่านแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ จนทำให้เม็ดเงินถึง 2 ใน 3 ของมูลค่าค้าปลีกออนไลน์กว่าแสนล้านไหลออกนอกประเทศไป

ปัจจัยเหล่านี้ต่างกดดันให้ปี 2567 นี้ตลาดค้าปลีกของไทยมูลค่าประมาณ 4 ล้านล้านบาท มีความเสี่ยงจะเติบโตต่ำกว่าจีดีพีหรือโตประมาณ 2-3% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากสามารถใช้โอกาสที่มี อย่างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย กลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ และการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็มีโอกาสที่ค้าปลีกไทยจะสามารถเติบโตเท่าหรือสูงกว่าจีดีพีได้

โฟกัสธุรกิจ-เข้มงวดการใช้งบฯ

แม่ทัพใหญ่ เซ็นทรัลรีเทล กล่าวต่อไปว่า เพื่อรับมือความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีในตลาด ปี 2567 นี้จะมุ่งเสริมแกร่งธุรกิจหลักที่มีกำลังเติบโตหรือมีโอกาสเติบโตสูง ทั้งฝั่งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าผู้ประกอบการ, บริหารต้นทุนและงบฯ แบบเน้นประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมต่อยอดธุรกิจอื่น ๆ นอกจากค้าปลีก

พร้อมวางเป้าหมายรายได้เติบโต 9-11% ส่วนกำไรก่อนหักภาษี หรือ EBITDA เติบโต 15-17% โดยจะใช้งบฯลงทุน 22,000-24,000 ล้านบาท

โดยจะโฟกัสไปที่กลุ่มสินค้าหรูเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้บริโภคกำลังซื้อสูงและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควบคู่กับการเจาะกลุ่มผู้ประกอบการ HORECA หรือโรงแรม-ร้านอาหาร-คาเฟ่-จัดเลี้ยง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับสินค้าอาหารและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งมีดีมานด์ต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว

ด้วยการพัฒนาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม ให้เป็น World Class Luxury Destination รวบรวมสินค้าหรู รวมถึงรีโนเวต-อัพเกรดห้างอีก 4 แห่ง และเพิ่มไลน์อัพแบรนด์ระดับโลกเข้ามาในพอร์ตโฟลิโอ พร้อมเดินหน้าขยายสาขาค้าส่ง GO Wholesale เพิ่มอีก 7 สาขา และปรับรูปแบบสาขาเดิมให้ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการ HORECA และผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงขยายสาขา Tops ประมาณ 10 สาขา และขยายสาขาไทวัสดุ 9 สาขา พร้อมรีโนเวตอีก 4 สาขา

ส่วนในเวียดนามจะเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ต GO! อีก 3 สาขา GO! (มินิ โก!) อีก 9 สาขา และอัพเกรดเชนร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าเหงียนคิมให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น เพื่อชิงโอกาสในช่วงที่ตลาดกำลังฟื้นตัว

ด้านการบริหารจัดการต้นทุนและงบฯ จะใช้ทั้งความยืดหยุ่นและเข้มงวดไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำ M&A จากการซื้อกิจการไปเป็นการร่วมทุนมากขึ้น ซึ่งตอบโจทย์ทั้งด้านงบประมาณและความเชื่อมั่นของคู่ค้า โดยเฉพาะเมื่อรุกตลาดต่างประเทศอย่างเวียดนาม

ขณะเดียวกันจะเน้นลงทุนให้มีภาระทางการเงินน้อยที่สุด แต่ได้ผลลัพธ์เท่าเดิมหรือมากกว่า เช่น การนำบุคลากร-ธุรกิจในเครือมาช่วยหรือมาลงทุนร่วมกัน พร้อมกับดึงเงินสดจากระบบให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน และตัดสินใจเด็ดขาดชะลอ-เลิกการลงทุน-ธุรกิจที่ยังไม่พร้อมหรือไม่เหมาะสม เช่น ห้าง GO! ในไทยที่จะอยู่ระหว่างปรับปรุงเป็นโมเดลอื่น

หวังรัฐกระตุ้นกลุ่มกำลังซื้อสูง

ซีอีโอซีอาร์ซีย้ำด้วยว่า การสนับสนุนของภาครัฐเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันวงการค้าปลีกให้เติบโตจนสูงกว่าจีดีพี ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติจับจ่ายมากขึ้น โดยอาจมาในรูปแบบการปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าบางชนิดให้ไปในแนวทางเดียวกับภาษีไวน์ หรือให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเช่นเดียวกับโครงการ Easy E-Receipt ซึ่งกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงต้นปีได้ดี

ขณะเดียวกันต้องหามาตรการรับมือการทุ่มตลาดของสินค้าจีน เช่น ปรับเงื่อนไขการยกเป็นภาษีให้รัดกุมยิ่งขึ้น ป้องกันไม่ให้ผู้ค้าใช้ประโยชน์ในการนำสินค้ามาขายในไทย หรือเก็บภาษีจากการทำธุรกิจให้เท่ากัน ไม่ว่าผู้ค้าจะมีหน้าร้านอยู่ในไทยหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ค้าไทยและต่างชาติ

เชื่อว่าการออกมาตรการกระตุ้นให้ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้ออยู่แล้วจับจ่ายเพิ่มมากขึ้นนั้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากลงทุนไม่มากนัก แต่ให้ผลลัพธ์ที่สูง