“ยามะเร็ง” ความหวังใหม่ “ไฟเซอร์” ฟื้นธุรกิจหลังหมดยุควัคซีนโควิด

ยามะเร็ง
คอลัมน์ : Market Move

ขณะที่ชัดเจนแล้วว่าการทำเงินจากวัคซีน ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโควิดกำลังถึงทางตัน ไฟเซอร์ยักษ์บริษัทยาและหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนโควิดรายใหญ่ ได้ประกาศเปลี่ยนทิศธุรกิจหันไปโฟกัสกับตลาดยารักษาโรคมะเร็งแทน

ครั้งนี้อาจไม่ใช่เพียงการลองหยั่งเชิงในตลาดใหม่เหมือนที่ผ่าน ๆ เพราะไฟเซอร์แสดงท่าทีทุ่มเต็มที่กับการรุกตลาดยารักษามะเร็ง สะท้อนจากการที่บริษัททุ่มเงินซื้อเวลาโฆษณานาน 60 วินาที ระหว่างการแข่งขันอเมริกันฟุตบอลซูเปอร์โบวล์ ซึ่งเป็นสลอตโฆษณาราคาแพงเป็นอันดับต้น ๆ ของวงการทีวีสหรัฐ เพื่อแพร่ภาพภาพยนตร์โฆษณาธุรกิจใหม่ พร้อมลงท้ายด้วยประโยคย้ำความมุ่งมั่น อย่างจุดเริ่มต้นของการเอาชนะมะเร็ง ก่อนจะตามด้วยการเผยรายละเอียดของแผนในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน

ต่างจากในอดีตที่มักจะแจ้งการตัดสินใจนี้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในการประชุมผู้ถือหุ้น หรือการแถลงผลประกอบการ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ไฟเซอร์ประกาศโฟกัสทรัพยากรต่าง ๆ ของบริษัทให้กับการผลิตยารักษามะเร็ง ซึ่งมีอยู่ในไปป์ไลน์การพัฒนาถึง 60 ตัว เพิ่มขึ้นจากเดิมเท่าตัว หลังซื้อกิจการ Seagen บริษัทผู้ผลิตยารักษามะเร็งแบบเจาะจงเป้าหมายเข้ามาในเครือด้วยเม็ดเงิน 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงวางแผนระยะ 7 ปี หรือถึงปี 2030 เอาไว้แล้วด้วย

พร้อมแย้มว่า ด้วยการมียาระหว่างการพัฒนามากถึง 60 ตัวนี้ ทำให้ภายในปี 2030 บริษัทจะมียารักษามะเร็งที่ใช้งานได้จริงและมีโอกาสได้รับความนิยมสูงอย่างน้อย 8 ตัวออกสู่ตลาด จากปัจจุบันที่มีเพียง 5 ตัวเท่านั้น

สำหรับรายละเอียดของแผนนี้ ไฟเซอร์ระบุว่าบริษัทตั้งหน่วยธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับเนื้องอกวิทยาโดยเฉพาะ ด้วยการใช้ยาทั้งที่ไฟเซอร์ และ Seagen ค้นพบหรือซื้อสูตรเข้ามา รวมไปถึงรูปแบบการรักษาที่ทั้ง 2 บริษัทมีจำหน่ายอยู่แล้วด้วย โดยมี คริส บอชอฟ ผู้บริหารมือดีที่อยู่กับไฟเซอร์มาอย่างยาวนานและยังเคยเป็นหัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาโรคมะเร็งมาเป็นผู้กุมบังเหียน

คริส บอชอฟ กล่าวถึงแผนงานของหน่วยธุรกิจเนื้องอกวิทยาว่า จะเน้นพัฒนายาชีวภาพ หรือการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ วัคซีน และยีนบำบัด ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการรักษาด้วยยาชนิดนี้จาก 6% เป็น 65% ภายในปี 2030 แทนยาแบบโมเลกุลเล็กที่ผลิตจากกระบวนการทางเคมี ซึ่งมีสัดส่วนถึง 94% ของพอร์ตโฟลิโอยารักษามะเร็งของไฟเซอร์

เนื่องจากยาชีวภาพมีศักยภาพในการสร้างรายได้ในระยะยาวที่ดีกว่าจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นอายุของสิทธิบัตร และการที่ยาชีวภาพจะไม่อยู่ในบัญชียาของบริการสุขภาพถ้วนหน้าจนกว่าจะครบ 13 ปีหลังผ่านการอนุมัติขององค์การอาหารและยาสหรัฐ ขณะที่ยาโมเลกุลเล็กจะอยู่นอกบัญชีเพียง 9 ปี ทำให้มีโอกาสสร้างรายได้ได้นานกว่า นอกจากนี้ ด้วยความซับซ้อนของยาชีวภาพยังทำให้ความเสี่ยงที่จะถูกลอกเลียนแบบต่ำกว่ายาปกติอีกด้วย

สำหรับประเภทมะเร็งที่ไฟเซอร์จะมุ่งผลิตยาเพื่อรักษานั้น จะประกอบด้วย 4 ประเภทคือ มะเร็งเต้านม มะเร็งทางเดินปัสสาวะ มะเร็งทรวงอก และมะเร็งเม็ดเลือด

ศักยภาพด้านการวิจัย พัฒนา และผลิตยารักษามะเร็งของไฟเซอร์ ว่าขณะนี้ไฟเซอร์มีฐานการผลิตยารักษามะเร็ง 10 แห่ง กระจายอยู่ใน 3 ทวีป ส่วน Seagen มีฐานการผลิต 1 แห่ง นอกจากนี้ ไฟเซอร์ยังทำการตลาดด้านยาอยู่ในกว่า 100 ประเทศ

การรวมตัวของทั้ง 2 บริษัทนี้ ทำให้สามารถนำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาผสานกัน ช่วยให้ศักยภาพในการพัฒนายารักษามะเร็งเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะยิ่งสร้างผลบวกให้กับผู้ป่วยได้มากกว่าที่ทั้งไฟเซอร์ และ Seagen เคยทำได้

แม้ไฟเซอร์จะไม่เปิดเผยตัวเลขคาดการณ์ยอดขายของกลุ่มยารักษามะเร็งเมื่อสิ้นสุดแผนการในปี 2030 แต่ระบุว่าภายในสิ้นปี 2030 คาดว่า 2 ใน 3 ของรายได้ด้านยารักษามะเร็งหลังปรับตามความเสี่ยงแล้ว จะมาจากยาใหม่, การใช้ยาที่มีอยู่แล้วกับข้อบ่งชี้ใหม่ ๆ หรือการใช้กระบวนการรักษามะเร็งที่มีอยู่แล้ว

นักวิเคราะห์ในวงการลงทุนคาดว่า การเปลี่ยนแผนนี้เป็นความพยายามของไฟเซอร์หลังปี 2023 มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลงไปถึง 40% ทำให้มูลค่าของบริษัทหายไปกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเนื่องจากดีมานด์สินค้าเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ลดลงอย่างต่อเนื่อง และความล้มเหลวในการพัฒนาสินค้าใหม่อย่างยาเม็ดลดความอ้วนที่ไม่ผ่านการทดลองทางคลินิก หรือผลตอบรับที่ย่ำแย่ของวัคซีน RSV (ไวรัสโรคทางเดินหายใจ)

ขณะเดียวกัน ไฟเซอร์ปรับโครงสร้างธุรกิจอื่น ๆ ในเครือด้วยการแบ่งเป็น 2 แผนกใหญ่ ๆ คือ แผนกธุรกิจในสหรัฐ และแผนกธุรกิจต่างประเทศ ซึ่งจะโฟกัสการพัฒนาวัคซีน โรคที่เกิดจากภาวะการอักเสบ และกระบวนการเผาผลาญในร่างกาย โดยมีวัคซีนและยาไฮไลต์ในไปป์ไลน์อย่างวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมรุ่นที่ 4, ยารักษาโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวแบบทาน รวมถึงการขออนุมัติการนำวัคซีน RSV ไปใช้ในกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวของไฟเซอร์นี้ สะท้อนการสิ้นสุดของยุคการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งต้องรอดูว่ายักษ์วงการยาจะสามารถสร้างแหล่งรายได้ใหม่มาทดแทนวัคซีนโควิดได้สำเร็จหรือไม่