ค้าปลีกเวียดนามเร่งปรับตัว พึ่งโซเชียล…รับมือโมเดิร์นเทรด

คอลัมน์ Market Move

เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ผู้ประกอบการค้าปลีกแบบดั้งเดิม หรือเทรดดิชั่นนอลเทรด โดยเฉพาะตลาดซึ่งตามข้อมูลของสำนักงานสถิติเวียดนามระบุว่า มีกว่า 8,500 รายทั่วประเทศนั้น ต้องเผชิญการแข่งขันจากกลุ่มโมเดิร์นเทรดทั้งร้านสะดวกซื้อ-ซูเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ท้องถิ่นและข้ามชาติ ที่แห่เข้ามาตั้งสาขาหวังจับกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งมีกำลังซื้อสูง และกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเทรดดิชั่นนอลเทรดต้องเร่งปรับตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

สอดคล้องกับรายงานของสำนักข่าว “นิกเคอิ” ซึ่งอ้างผลวิจัยของบริษัทนีลเส็นชี้ว่า แม้ชาวเวียดนามจะยังเดินตลาดเฉลี่ย 19 ครั้งต่อเดือน ในขณะที่เข้าซูเปอร์-ร้านสะดวกซื้อเฉลี่ยเพียง 10 ครั้งต่อเดือนแต่ยอดใช้จ่ายต่อครั้งในกลุ่มโมเดิร์นเทรดกลับสูงกว่าถึงเท่าตัว แสดงให้เห็นถึงเทรนด์การจับจ่ายที่ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ พ่อค้าแม่ค้าเทรดดิชั่นนอลเทรดหลายรายเหล่านี้ รวมไปถึงผู้บริหารตลาดแต่ละแห่งต่างเริ่มอัพเกรดโมเดลธุรกิจใช้โซเชียลมีเดียและเว็บไซต์เป็นช่องทางสื่อสารและขายสินค้าให้กับผู้บริโภคโดยตรง

รวมถึงการเซ็นสัญญาเป็นซัพพลายเออร์ของสดให้ร้านอาหารในพื้นที่ เพื่อเคลียร์สินค้าให้ได้และเพื่อการันตียอดขายขั้นต่ำ โดยตลาด “เบ็น ถั่น” ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงโฮจิมินห์ และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้ปรับตัวให้เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

โดยเปิดตัวเว็บไซต์ของตลาดและให้เหล่าบรรดาผู้ค้าขายแต่ละรายใส่ข้อมูลรายการสินค้าทั้งภาพและราคาลงไปในสินค้าแต่ละรายการเพื่อช่วยให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวเวียดนามรุ่นใหม่ที่ไม่ค่อยคุ้นเคยกับรูปแบบการเดินจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดสามารถช็อปได้ง่ายขึ้น และมีความสนใจในการเข้ามาจับจ่ายได้มากยิ่งขึ้น

ด้านผู้ประกอบการรายย่อยเองต่างก็มีการปรับตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น “ดวง ทิ ลี้” เจ้าของร้านผลไม้แห่งหนึ่งกล่าวว่า ผลกระทบจากการแข่งขันเริ่มเห็นได้ชัด

โดยยอดขายช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ลดลงประมาณ 3% จึงต้องเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น จัดแคมเปญผลไม้แนะนำประจำวันบนเพจเฟซบุ๊ก ส่งข้อความโฆษณาถึงลูกค้าแต่ละรายโดยตรง รวมไปถึงเพิ่มบริการดีลิเวอรี่ ซึ่งเริ่มช่วยเพิ่มยอดขายได้บ้างแล้ว

เช่นเดียวกับ “โง ทิ ฉิน” เจ้าของร้านขายเนื้อสัตว์ซึ่งกล่าวว่า ได้จับมือกับร้านอาหารในพื้นที่เพื่อเป็นซัพพลายเออร์เนื้อสด โดยจะขายเนื้อลอตเช้าที่เหลือถึงเที่ยงให้ในราคาพิเศษ ช่วยให้ร้านค้าสามารถระบายสินค้าออกไปได้เร็วยิ่งขึ้น และลดความเสียหายจากการขาดทุนลง

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันระหว่างเทรดดิชั่นนอลเทรด และโมเดิร์นเทรดในเวียดนาม ยังมีแนวโน้มจะดุเดือดยิ่งขึ้นอีกด้วยหลายปัจจัย ทั้งการเดินหน้าลงทุนขยายสาขาของกลุ่มโมเดิร์นเทรดเพื่อช่วงชิงดีมานด์จากกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลาง เห็นได้จากแผนขยายสาขาซูเปอร์มาร์เก็ตอีกมากกว่า 100 สาขา และร้านสะดวกซื้ออีกมากกว่า 2,000 สาขา ภายในสิ้นปี 2563 ของ “วินกรุ๊ป” (Vingroup) ซึ่งเป็นกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่สุดของประเทศ

นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าเช่าที่ในเขตเมืองซึ่งพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยโฮจิมินห์ติดท็อปเมืองที่ค่าเช่าที่แพงสุดในอาเซียน จนแม้แต่รายใหญ่อย่างเซเว่นอีเลฟเว่นร้านสะดวกซื้อเชนยักษ์จากแดนปลาดิบยังขยายสาขาในโฮจิมินห์ได้เพียง 30 แห่งเท่านั้น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จากเป้า 100 แห่ง และธุรกิจค้าปลีกของวินกรุ๊ปขาดทุนระดับร้อยล้านเหรียญสหรัฐในปี 2560 ทำให้ร้านสะดวกซื้อ-ซูเปอร์มาร์เก็ต ต้องเน้นเจาะแหล่งชุมชนมากกว่าย่านธุรกิจ จึงกระทบกับตลาดโดยตรง

“เคสุเกะ ฮิโตสึมะสึ” ซีอีโอของ “ฟูจิมาร์ท” เวียดนาม เชนร้านค้าปลีกใต้การร่วมทุนของซูมิโมโต้จากญี่ปุ่น และบีอาร์จีกรุ๊ป เครือธุรกิจใหญ่ของเวียดนาม กล่าวว่า ในช่วงที่สถานการณ์ค่าเช่าเป็นแบบนี้

เราต้องมุ่งแข่งกับเทรดดิชั่นนอลเทรดมากกว่าแข่งกับซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยกัน