“เวิร์คพอยท์ทีวี” งัดหมัดเด็ด ผนึกทุกพาร์ตเนอร์เติมเรตติ้ง

ผลสืบเนื่องจากที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดทางให้ทีวีดิจิทัลคืนใบอนุญาต ทำให้เหลือที่ออกอากาศจริง ๆ 15 ช่อง จากช่วงเริ่มแรก 24 ช่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวีบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลครึ่งปีหลัง และการเติบโตของเวิร์คพอยท์ทีวีจากนี้ไป

จากที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์ทีวีเป็นกลุ่มที่มีฐานคนดูแน่นหนา มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวรายการใหม่ ๆ และการใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ ไล่เบียดเก็บส่วนแบ่งตลาดกับหมายเลข 1 อย่างช่อง 7 และช่อง 3 มาตลอด

ช่องน้อยแต่แนวรบไม่เปลี่ยน 

แม้จำนวนช่องทีวีดิจิทัลจะหายไป 7 ช่องแต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตฯทีวี ผู้อยู่ต่อก็ยังต้องรับศึกรอบด้านไม่ต่างจากเดิม ทั้งงบฯโฆษณา60,000 ล้านบาท ที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆรวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่กำลังส่งผลกระทบ คือ เศรษฐกิจโดยรวมไม่โตค่าเงินบาทแข็งมาก ทำให้เม็ดเงินโฆษณาหายไปเรื่อย ๆ เพราะสินค้าลดงบฯโฆษณาผ่านสื่อทีวีลง กลายเป็นปัจจัยหลักที่ชี้ชะตาว่า ทีวีดิจิทัลจะอยู่ต่ออย่างไร

ศก.ไม่เอื้อทีวีประคองตัว

“ปีนี้เศรษฐกิจโดยรวมมีปัญหา ดังนั้นคาดว่าปีนี้ ทุกช่องคงทำได้แค่ประคองตัว โดยผลประกอบการไตรมาส 1ปีนี้ บริษัทก็ยังดี มีรายได้ 733.07 ล้านบาทส่วนไตรมาส 2 นี้ รายได้รวม 803.61 ล้านบาท ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากรายได้จากธุรกิจทีวีลดลงจากการแข่งขันที่สูงขึ้น”

คาดหวังว่าการปรับผังรายการใหม่ในครึ่งปีหลังจะทำให้ช่องมีเรตติ้งดีขึ้น

“การเดินหน้าต่อหมายความว่า เราจะต้องก้าวข้ามสิ่งที่เกิดขึ้นจากนี้ไปให้ได้ โดยเชื่อว่าธุรกิจทีวียังมีทางให้เดินต่อ แต่คนทำทีวีอาจต้องขยัน (ปรับตัว) อย่าปล่อยให้ตกลงตามสภาพเศรษฐกิจ”

ไม่เกิน 2 ปี ภาพรวมธุรกิจชัด

สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนคือ ปัจจุบันทุกสื่อทำคอนเทนต์บนออนไลน์หมดแล้ว เพราะในแง่ของคนดูก็ไม่ได้สนใจว่า จะดูคอนเทนต์ผ่านช่องทางไหน

ขณะที่ในเชิงรายได้ งบฯโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์โตขึ้น แต่ยังเป็นคำถามอยู่ว่าเม็ดเงินที่คาดการณ์กันมีความใกล้เคียงกับที่สินค้าต่าง ๆ ใช้ไปจริงหรือไม่

อาจต้องรออีก 1-2 ปีถึงจะตกผลึก ทุกอย่างชัดเจนขึ้น เมื่อตลาดแข่งขันกันแรงมาก ๆ สุดท้ายตลาดจะเป็นผู้ให้คำตอบว่า ใครคือผู้อยู่รอด

เดินหน้าขยายฐานคนดูต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ถ้ามองปรากฏการณ์ช่อง 7 ที่มีฐานแฟนประจำเหนียวแน่น แม้ไม่มีกระแสบนออนไลน์ แต่ก็โตแบบเงียบ ๆมีเม็ดเงินโฆษณามากที่สุด แสดงให้เห็นว่า”ทีวี” (ที่ออกอากาศตามปกติ) ยังมีพื้นที่อยู่ ดังนั้น สิ่งที่ช่องต่าง ๆ ต้องทำ คือ ทำคอนเทนต์บนทีวีควบคู่กับออนไลน์ เพื่อให้ได้ฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น

การที่เวิร์คพอยท์เริ่มจากผู้ผลิตคอนเทนต์ป้อนให้กับช่องอื่น ๆ พอขยับตัวมาเป็นเจ้าของช่องทำให้ปรับตัวง่ายกว่าคนอื่นสามารถทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม หรือพาร์ตเนอร์ที่หลากหลาย

ประกอบกับบริษัทมีความแข็งแรงในตัวบุคลากร ทำให้สามารถทดลองโมเดลใหม่ได้ ซึ่งถ้าไม่ใช่ก็พร้อมเปลี่ยนทันที ซึ่งตอนนี้เวิร์คพอยท์ก็ออกอากาศทุกแพลตฟอร์ม ทำให้เก็บฐานผู้ชมได้

ถึงยุคแห่งความ “ร่วมมือ” 

ในครึ่งปีหลังยังเดินหน้าด้วยกลยุทธ์เดิม คือ การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ (collaborations) พร้อมทดลองอะไรใหม่ ๆ มากขึ้น และเปลี่ยนให้เร็ว ๆ

ล่าสุดร่วมกับเฟซบุ๊ก ทำรายการ “Social Icon Thailand” เริ่มออกอากาศวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.นี้ เวลา 20.05 น. โดยรูปแบบรายการจะเชื่อมโยงระหว่างทีวีกับออนไลน์เข้าด้วยกัน อีกโปรเจ็กต์ร่วมกับ ZAAP Partyทำรายการ ZAAP on Sale และจะมีรายการใหม่ออกไตรมาสละ 2-3 รายการ

“ยอมรับว่าที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงของสื่อ และมีหลายคนกังวล แต่ถ้ามองลึก ๆ ก็เป็นเรื่องของการหารายได้เพิ่ม เพราะจะมีเม็ดเงินเข้ามาในอุตฯเพิ่มอีก และในระยะยาวก็อาจจะเป็นพาร์ตเนอร์กันในหลาย ๆ มิติ”

ลงทุนเพย์เมนต์บาลานซ์เสี่ยง

ทีวีก็มีความเสี่ยงเหมือนกับธุรกิจอื่น ๆ ทำให้ต้องบาลานซ์ความเสี่ยง และมองภาพในอนาคตให้ออก เชื่อว่าการเติบโตของสื่อดิจิทัลก็หนีไม่พ้น 3 เรื่องหลัก คือ เกม ช็อปปิ้งออนไลน์ และวิดีโอ

ล่าสุดได้ลงทุนในบริการระบบชำระเงินออนไลน์ “GB Prime Pay” เพราะสามารถเข้าไปเชื่อมกับธุรกิจเกม และช็อปปิ้งออนไลน์ได้

จากที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้จากการขายสินค้า “ฮัลโหล ช็อปปิ้ง 1346” ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีอยู่ก่อนแล้ว ส่วนการลงทุนในเพย์เมนต์นั้นจะต่อยอดกับธุรกิจเวิร์คพอยท์ในอนาคตได้หรือไม่นั้น อาจจะต้องพิจารณาอีกครั้ง

“ทีวี+ออนไลน์” ส่วนผสมใหม่

หัวขบวนเวิร์คพอยท์ทีวีมองว่า ในเมื่อ “ทีวี+ออนไลน์” คือ ส่วนผสมที่ตอบโจทย์คนดู การเป็นเจ้าของช่องทีวีอาจกลายเป็นแต้มต่อในท้ายที่สุด เพราะทีวีต้องมีใบอนุญาต มีหน่วยงานกำกับดูแล จึงเป็นเสมือนพื้นที่พิเศษที่มีผู้เล่นน้อยลง ขณะที่ออนไลน์มีผู้เล่นมากขึ้น

จริงอยู่ ช่องทีวีดิจิทัลที่ตัดสินใจออกจากตลาดไปตอนนี้ก็อาจจะกลับมาออกอากาศบนทีวีดาวเทียมอีกครั้ง เพราะต้นทุนไม่สูง

ในภาพรวมคนที่มีช่องทีวี ในอนาคตอาจกลายเป็นแต้มต่อในการหารายได้อีกครั้ง เพียงแต่เจ้าของช่องเองต้องเตรียมตัวให้พร้อม ด้วยการออกอากาศทุกช่องทาง เพื่อเก็บฐานผู้ชมทุกกลุ่มไว้ในมือให้มากที่สุด

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!