“ไมเนอร์ฟู้ด” เข้มคุมต้นทุน ดัน “ไก่ทอด-พิซซ่า” ปั๊มยอด

“ไมเนอร์ ฟู้ด” เปิดเกมรุก เดินหน้าดันยอดขาย โฟกัส เดอะ พิซซ่า คอมปะนี-บอนชอน เตรียมปรับโฉมแบรนด์เจาะเจเนอเรชั่นใหม่ เพิ่มน้ำหนักดีลิเวอรี่ดันยอดโต ด้านการขยายสาขาเน้นไซซ์เล็ก-คุมต้นทุน หลังพิษเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด ผลประกอบการไตรมาส 3 ลด 14.2%

นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาเชิงกลยุทธ์ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้านเดอะพิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์ ฯลฯ เปิดเผยว่า หลังจากภาครัฐประกาศคลายล็อกดาวน์ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย ปัจจุบันร้านอาหารในเครือของไมเนอร์ฟู้ดกลับมาเปิดให้บริการแล้ว 90% ส่วนอีก 10% เป็นสาขาในแหล่งท่องเที่ยว ที่อาจยังปิดให้บริการเนื่องจากนักท่องเที่ยวยังบินกลับเข้ามาไม่ได้

สำหรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป ไมเนอร์ฟู้ดมุ่งเดินหน้าสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งขึ้น พร้อมกับการสร้างความดึงดูดให้ตอบโจทย์คอนซูเมอร์เจเนอเรชั่นใหม่ ควบคู่กับการสร้างโปรดักต์ให้หลากหลาย โฟกัสทุก ๆ แบรนด์ และเพิ่มน้ำหนักแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ตลาดดีลิเวอรี่โตขึ้นถึง 10% เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังตัวและใส่ใจสุขอนามัยมากขึ้น

เช่นเดียวกับความนิยมสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นที่ก้าวกระโดด โดยปัจจุบันยอดสั่งอาหารในเครือไมเนอร์ฟู้ดนั้น มาจากการสั่งผ่านแอปสูงถึง 80% ส่วนคอลเซ็นเตอร์ และเว็บไซต์มีเพียง 8% และ 6% ตามลำดับ

ล่าสุดบริษัทได้เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้กับแอปพลิเคชั่น 1112 เน้นด้านความเร็วในการส่งอาหาร และความสะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการแชตหรือ โทร.ติดต่อกับพนักงานส่ง ติดตามสถานะการส่งแบบเรียลไทม์ พรีออร์เดอร์สินค้าล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน และตัวเลือกชำระเงินทั้งเงินสด บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต เป็นต้น

รวมถึงการหันมาเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ามาช่วยผลักดันยอดขายของแบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี และบอนชอน ในขณะที่ซิซซ์เล่อร์ สเวนเซ่นส์ และแดรี่ควีน ได้ปรับรูปแบบร้านใหม่ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และเมื่อเร็ว ๆ นี้ สเวนเซ่นส์ได้เปิดสาขาต้นแบบประจำภูมิภาคในจังหวัดน่าน ชูคอนเซ็ปต์สถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ถือว่าได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

นายชัยพัฒน์กล่าวต่อว่า ส่วนการดำเนินงานในไตรมาส 4 บริษัทจะให้ความสำคัญกับลดต้นทุน ซึ่งในปีต่อ ๆ ไปก็จะควบคุมต้นทุนให้เข้มข้นขึ้น โดยจะลดลงมาเกือบครึ่งหนึ่งของบัดเจต แต่การขยายสาขาต้องดูว่าแบรนด์ไหนสามารถสร้างการเติบโตได้ดี ทั้งนี้ ยังมีเรื่องขนาดและรูปแบบของสาขาที่เปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งอาจจะไม่ใช่ร้านใหญ่เหมือนแต่ก่อน แต่จะเป็นร้านขนาดเล็กปรับเป็นแบบ Grab and Go

“ตอนนี้ในแง่ของดีมานด์มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน เพราะยังไม่มีอะไรที่แน่นอน จนกว่าวัคซีนจะออกมาใช้ได้จริง ๆ ซึ่งจากข่าวการพัฒนาวัคซีนในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลดี คาดว่าจะส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ”

อย่างไรก็ตาม ด้านผลประกอบการในไตรมาส 3/2563 กลุ่มธุรกิจร้านอาหารของไมเนอร์ฟู้ดมียอดขายโดยรวมทุกสาขา ลดลงร้อยละ 14.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ชะลอตัว และไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ ส่งผลให้ที่นั่งรับประทานภายในร้านของแบรนด์ต่าง ๆ ลดลง

รวมถึงผลกระทบจากการปิดสาขาชั่วคราวในแหล่งท่องเที่ยว โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบรนด์เดอะคอฟฟี่คลับ และเบอร์เกอร์คิง ซึ่งถือว่ามีการลดลงเล็กน้อยด้วยกำลังซื้อที่ไม่ได้มากในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทได้พยายามลดคอสต์ต่าง ๆ

ส่วนธุรกิจร้านอาหารในประเทศจีนมียอดขายเติบโต 8.1% เป็นผลมาจากการขยายสาขาและการฟื้นตัวของธุรกิจร้านอาหารนั่งทาน โดยเฉพาะในเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ที่มีอัตราการบริโภคเพิ่มขึ้น

ด้านธุรกิจร้านอาหารในออสเตรเลียมียอดขายลดลง 25.2% เนื่องจากจำนวนร้านอาหารลดลง จากการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร และยอดขายต่อสาขาเดิมลดลง ร้อยละ 18.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ครั้งใหม่ในรัฐวิกตอเรีย และถูกจำกัดการให้บริการเฉพาะซื้อกลับบ้านและการจัดส่งอาหารเท่านั้น

โดยเดอะคอฟฟี่คลับมีสาขาเพียงร้อยละ 13 ของสาขาทั้งหมดที่ตั้งอยู่ในรัฐวิกตอเรีย ในขณะที่รัฐอื่น ๆ มีการผ่อนปรนข้อจำกัดภายในร้านอาหาร โดยกลยุทธ์ของธุรกิจร้านอาหารในออสเตรเลียจึงได้โปรโมตแคมเปญบริการจัดส่งอาหาร เช่น “The Coffee Club @ Home” และการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ที่ใช้ร้านเดอะคอฟฟี่คลับที่มีอยู่เป็นครัวกลาง เน้นให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีรายได้รวม 14,840 ล้านบาท ลดลง 17%