ร้านอาหารปลุกดีลิเวอรี่ รับมือโควิดระบาดระลอกใหม่

ร้านอาหารฟื้นดีลิเวอรี่
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก AKA Japanese Restaurant

ร้านอาหารงัดกลยุทธ์ “ดีลิเวอรี่” รับมือโควิดระบาดระลอกใหม่ หวังยอดขายลดแค่ 10-15% เทียบกับระบาดรอบแรก ยอดฮวบ 40-50% 

วันที่ 28 ธันวาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณีไวรัสโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารต้องปรับตัว โดยงัดกลยุทธ์ “ดีลิเวอรี่” มาใช้อีกครั้ง

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, ปิ้งย่าง อากะ, อาหารตามสั่ง เขียง, ร้านอาหารไทยอีสาน ตำมั่ว ฯลฯ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ผู้คนเริ่มมีพฤติกรรมกังวลและหวาดกลัว ไม่กล้าออกมาทำกิจกรรมนอกบ้าน ทราฟฟิกและการจับจ่ายตามศูนย์การค้าต่าง ๆ ลดลง

เช่นเดียวกับร้านอาหารในเครือเซ็น คอร์ปอเรชั่น ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยยอดขายช่องทางไดรฟ์อิน หรือการนั่งรับประทานในร้านเริ่มลดลงประมาณ 5-10% แต่อีกด้านหนึ่งช่องทางขายดีลิเวอรี่เริ่มกลับมาเติบโตขึ้น 20-30% ทำให้บริษัทต้องปรับแผนด้วยการหันมาเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายดีลิเวอรี่ และช่องทางซื้อกลับบ้าน

“ทุกแบรนด์จะหันมาให้ความสำคัญกับเมนูชุดเซตอาหารพร้อมทาน ราคาเข้าถึงง่าย ตลอดจนนำเมนูอาหารพร้อมทาน สินค้ารีเทล สินค้าสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส น้ำพริก มาจำหน่ายหน้าร้าน ควบคู่กับการทำคอนเทนต์แหล่งที่มาของวัตถุดิบ สื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์ ถ้าเทียบกับการแพร่ระบาดรอบแรก ซึ่งช่วงนั้นยอดขายลดลง 40-50% แต่รอบนี้อาจจะลดลงเพียง 10-15%

เช่นเดียวกับ นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหารซิซซ์เล่อร์, พิซซ่า คอมปะนี, แดรี่ ควีน, สเวนเซ่นส์ เป็นต้น เปิดเผยว่า กระทบกับร้านอาหารของไมเนอร์ฟู้ดไม่มากนัก เนื่องจากเป็นการปิดบริการเฉพาะบางจุด โดยเฉพาะในสมุทรสาคร ซึ่งบริษัทมีเปิดอยู่ 5 สาขา แต่สิ่งที่กังวลในตอนนี้คือ ผู้คนเริ่มกังวลในการใช้ชีวิตประจำวัน และออกมาเดินห้างลดลง กระทบต่อช่องทางขายหน้าร้าน

ขณะเดียวกัน อัตราการสั่งอาหารผ่านดีลิเวอรี่เริ่มกลับมาเติบโตขึ้น ซึ่งบริษัทก็ได้ปรับตัวมาให้น้ำหนักกับช่องทางดิลิเวอรี่เพิ่มขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก ศบค.กำหนดมาตรการควบคุมพื้นที่เพื่อลดการแพร่ระบาด ศูนย์การค้าต่าง ๆ ที่มีแผนจะจัดกิจกรรมเคานต์ดาวน์ในช่วงคืนส่งท้ายปี ต่างทยอยประกาศยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว เช่น เครือเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ได้ยกเลิกงานเคานต์ดาวน์ที่จะมีขึ้นที่เซ็นทรัล 11 สาขาทั่วประเทศ แต่ยังคงไฮไลต์การจุดพลุนับ 6,000 ดอก และสร้างเคานต์ดาวน์รูปแบบใหม่ผ่านการไลฟ์สดทางทีวีและไลน์ จากก่อนหน้านี้ยกเลิกงานคอนเสิร์ตที่จะมี 7 วัน (24-30 ธ.ค. 63) ด้านไอคอนสยาม ได้ปรับรูปแบบการจัดงานเคานต์ดาวน์ ยกเลิกคอนเสิร์ต แต่ยังคงมีพลุเฉลิมฉลองส่งท้ายปี โดยจะมีการถ่ายทอดสดทั้งทางโทรทัศน์ และช่องทางออนไลน์ให้ชมแทน

เช่นเดียวกับสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ ที่งดการจัดเคานต์ดาวน์ และได้ปรับรูปแบบการจัดงาน ด้วยการขยายการให้ใช้บริการถึงเที่ยงคืนเท่านั้น

ขณะที่เครือเดอะมอลล์กรุ๊ป ทั้งเดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ ต่างก็ขานรับนโยบายงดการจัดงานเคานต์ดาวน์ แต่ยังคงจัดกิจกรรมบางส่วน อาทิ งาน Winter Wonderland :

The Candy Colony และเปิดให้บริการบางโซนของศูนย์การค้า จนถึงเที่ยงคืนวันที่ 31 ธ.ค. 2563