“สิงห์” ลุยต่างประเทศ ลงทุนธุรกิจโรงแรม-ร้านอาหาร โนสนโควิด

สิงห์ลุยต่างประเทศ
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก Singha Park Chiang Rai สิงห์ปาร์ค เชียงราย

ภายในเวลา 2 วัน ธุรกิจในเครือ “สิงห์” ออกมาเผยถึงแผนลุยตลาดต่างประเทศ ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา 

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวธุรกิจในเครือ “สิงห์” ของตระกูล “ภิรมย์ภักดี” ซึ่งขณะนี้มีแผนลุยธุรกิจในต่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะธุรกิจ “โรงแรม” และ “ร้านอาหาร” แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

เริ่มที่ธุรกิจโรงแรมภายใต้การดูแลของ บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR บริษัทประกอบธุรกิจโรงแรมของกลุ่มสิงห์ เอสเตท ซึ่งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า บริษัทฯ ได้ทุ่มงบลงทุนกว่า 560 ล้านบาท ซื้อหุ้นทั้งหมดของโรงแรม 26 แห่ง ในสหราชอาณาจักร ห้องพักรวม 2,886 ห้อง ภายใต้แฟรนไชส์โรงแรมที่เป็นที่รู้จักทั่วโลกในแบรนด์ Mercure เพื่อรองรับการฟื้นตัวธุรกิจท่องเที่ยวในยุโรป 

นายเดิร์ก อังเดร ลีน่า คุยเบอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) เผยว่า การลงทุนครั้งนี้มีความสมเหตุสมผลหลายประการคือ  ประการแรก เป็นการเลือกลงทุนในทรัพย์สินที่รู้จักเป็นอย่างดี มีความเข้าใจตลาดและความต้องการของผู้บริโภค

จุดเด่นของพอร์ตโฟลิโอนี้คือการกระจายตัวของโรงแรมต่าง ๆ ตามเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวในสหราชอาณาจักร ซึ่งรองรับนักท่องเที่ยวจากในประเทศและในทวีปยุโรปกว่าร้อยละ 90 ประการที่ 2 บริษัทฯ เล็งเห็นศักยภาพในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศ และระหว่างภูมิภาคของสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่มีความพร้อมในการกระจายวัคซีนให้กับประชากรเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลกผนวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักรและยุโรปที่ปรับอาจตัวดีขึ้นภายหลัง Brexit มีความชัดเจน

และประการสุดท้ายคือ การลงทุนนี้เป็นการเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนในทรัพย์สิน ที่ช่วยสร้างสมดุลของรายได้และกำไรให้แก่บริษัทฯ และลดผลกระทบด้านฤดูกาล (seasonal effect) เพื่อผลักดันให้ผลประกอบการของบริษัทฯ มีเสถียรภาพในทุกไตรมาสจากอานิสงส์ของฤดูกาลท่องเที่ยว (high season) ของตลาดยุโรปในระหว่างไตรมาสที่ 2 และ 3 ซึ่งสมดุลกับทรัพย์สินของบริษัทส่วนใหญ่ในประเทศไทยและสาธารณรัฐมัลดีฟส์ที่มีฤดูกาลท่องเที่ยวโดยทั่วไปในไตรมาส 1 และไตรมาส 4

นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของ SHR จากการรับรู้รายได้ภายหลังเพิ่มสัดส่วนในการลงทุนในทรัพย์สินกลุ่มนี้ โดยบริษัทฯ คาดหวังว่าจะสามารถผลักดันรายได้ให้เติบโตขึ้นปีละ 2 – 3 พันล้านบาท หากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองเห็นโอกาสในการปรับปรุงประสิทธิภาพของพอร์ทโฟลิโอนี้ให้มีความเหมาะสมและต่อยอดสินทรัพย์ที่มีศักยภาพเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้สูงขึ้น แม้จะมีความท้าทายอย่างมากมายในการขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2564 นี้ แต่ SHR ยังคงเดินหน้าในการแสวงหาโอกาสในการขยายการลงทุนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ผสานกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานโรงแรมที่ SHR ดำเนินการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารต้นทุนผ่าน Hotel Operating Model และการเพิ่มสัดส่วนโรงแรมที่บริษัทฯบริหารจัดการเอง รวมถึงการสร้างแบรนด์ของบริษัทฯ เพื่อธุรกิจรับบริหารจัดการโรงแรมในอนาคต

“บริษัทฯ ได้ใช้พลังงานและทรัพยากรที่มีอยู่ ทุ่มเทกับการสร้างธุรกิจหรือหาช่องทางการทำธุรกิจเพื่อรองรับวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ ผนวกกับพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ ทั้งในเชิงบุคลากรที่มีคุณภาพ ทำเลที่ตั้งของโรงแรมของบริษัทฯ ที่เป็นสุดยอดจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยความเชี่ยวชาญของเรา เราจะผ่านช่วงเวลาท้าทายนี้ และเดินหน้าสร้างความสำเร็จบนวิถีการท่องเที่ยวแบบใหม่ได้” นายเดิร์กกล่าว

คล้อยหลังเพียง 2 วัน ธุรกิจร้านอาหารในเครือสิงห์อย่าง “ฟู้ด แฟคเตอร์” ประกาศต่อยอดความสำเร็จร้าน “EST.33” ด้วยการขยายตลาดต่างประเทศ ประเดิมปักธงไมโครบริวเวอรี่สาขาแรกที่โครงการมิกซ์ยูส Brickell City Centre ไมอามี รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ภายใต้คอนเซ็ปต์ Taste of Life หรือรสชาติแห่งชีวิต บ่งบอกเอกลักษณ์ ตัวตนความเป็นไทยของร้านผ่านเมนูอาหารสไตล์เอเชียน และเครื่องดื่มเบียร์ไทย สอดแทรกวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ เชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย

โดยได้นำเบียร์ที่ได้รับความนิยมจากร้าน “EST.33” ในประเทศไทย ไปจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น Legend Lager, One and Only Kopper, Aromatic Snowy, 33 Pale Ale และมีเบียร์สิงห์แบบดราฟต์ ภายในร้านจะได้เห็นกระบวนการผลิตและความสดของคราฟท์เบียร์ตั้งอยู่ด้านในให้ได้นั่งชมการผลิตเบียร์อย่างใกล้ชิด

แม้สเกลของ 2 ธุรกิจภายใต้องคาพยพของ “สิงห์” จะค่อนข้างแตกต่างกัน แต่ภาพการลุยธุรกิจนอกประเทศ ที่เผยออกมาในช่วง 2 วัน สะท้อนให้เห็นถึงเงินทุนที่แข็งแกร่ง พร้อมต่อยอดโอกาสใหม่ ๆ เสมอ แม้ในช่วงที่ธุรกิจเกือบทั่วโลกพยายามรักษาสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด