“ฮอลลีวูด” พลิกเกมสู้ จีนตั้งการ์ดสูงสกัดหนังต่างชาติ

MARKET MOVE

 

ความสัมพันธ์ระหว่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐ หรือฮอลลีวูด กับวงการภาพยนตร์ของจีนนั้น เรียกได้ว่าเข้มข้นซับซ้อนและหักเหลี่ยมเฉือนคม ไม่ด้อยไปกว่าพลอตภาพยนตร์แนวสายลับหรือสืบสวนสอบสวน เมื่อฮอลลีวูดพยายามขยายฐานผู้ชมเข้าไปในแดนมังกร หวังมีส่วนแบ่งในเม็ดเงินมหาศาลจากคนดูหลักพันล้านคน ในขณะที่รัฐบาลจีนเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการสกัดการรุกตลาด เพื่อรักษาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ และทัศนคติตามแบบคอมมิวนิสต์ ส่วนผู้ชมเองแม้จะชื่นชอบภาพยนตร์สไตล์อเมริกัน แต่ก็พร้อมก่อดราม่าหากมีประเด็นอ่อนไหว

ส่งผลให้เกิดภาพการรุก-รับดุเดือดระหว่างฝั่งสตูดิโอผู้สร้าง และหน่วยงานกำกับดูแลของจีน โดยปัจจุบันฮอลลีวูดกำลังเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ เริ่มเสียฐานผู้ชมให้กับภาพยนตร์สัญชาติจีน หลังภาพยนตร์หลายเรื่องที่ลงทุนสร้างเพื่อเจาะตลาดจีนกลับไม่สามารถเข้าฉายได้

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงสถานการณ์นี้ว่า ในขณะที่ฮอลลีวูดงัดสารพัดกลยุทธ์เพื่อดึงดูดผู้ชมชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพยนตร์ที่คำนึงถึงผู้ชมชาวจีนเป็นพิเศษ เช่น “ชาง-ชี กับตำนานลับเท็นริงส์” ที่มีการใช้ภาษาจีนกลาง และนักแสดงจีนและฮ่องกง อย่าง มิเชล โหย่ว และ เหลียง เฉาเหว่ย รวมถึงมี ซือมู่ หลิว นักแสดงเชื้อสายจีน สัญชาติแคนาดา รับบทตัวละครเอก หรือกระทั่งยอมเซ็นเซอร์ตัวเองในภาพยนตร์บางเรื่อง อาทิ การลบภาพธงชาติญี่ปุ่นและไต้หวันในเรื่องท็อปกันออก เพื่อเลี่ยงการเกิดดราม่า

แต่บางเรื่องก็ยังไม่รอดพ้นมาตรการเซ็นเซอร์อันเข้มงวดของรัฐบาลจีน โดยหนึ่งในนั้นคือ ชาง-ชี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกำหนดเข้าโรงในจีน ตามรอยภาพยนตร์ร่วมค่ายอย่าง แบล็ก วิโดว์ ที่ไม่ได้ฉายในจีนเช่นกัน ส่วนภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่จากจักรวาลมาร์เวลอย่างฮีโร่พลังเทพเจ้านั้น นักวิเคราะห์คาดว่าอาจจะไม่ได้ฉายในแดนมังกรเช่นกัน ในขณะที่ภาพยนตร์ที่เปิดตัวทีหลังอย่างเจมส์ บอนด์ ภาคพยัคฆ์ร้ายฝ่าเวลามรณะนั้น ได้แซงคิวกำหนดฉายวันที่ 22 ต.ค.นี้ไปเรียบร้อยแล้ว

ในขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลของจีนเดินหน้าเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการสกัดภาพยนตร์ต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นโควตาเข้าฉายที่จำกัดปีละ 34 เรื่อง สำหรับโรงภาพยนตร์ และ 30% สำหรับบริการสตรีมมิ่ง และยังห้ามฉายในช่วงหยุดยาวต่าง ๆ เช่น วันชาติ ซึ่งถือเป็นจังหวะสำคัญสำหรับธุรกิจนี้อีกด้วย

ความท้าทายนี้อาจกำลังทำให้เกิดคำถามในหมู่นักลงทุนและสปอนเซอร์ของฮอลลีวูดว่า การพยายามรุกชิงผู้ชมชาวจีนนั้นยังคุ้มค่าอยู่หรือไม่ “แอนนี โคคาส” ศาสตราจารย์ด้านสื่อจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ปัจจุบันเม็ดเงินจากผู้ชมชาวจีนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนและสตูดิโอใช้ประเมินรายได้จากภาพยนตร์ ดังนั้นการไม่ได้ฉายย่อมสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่าย ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ หากจะมีการพิจารณายุทธศาสตร์ใหม่ก็คงไม่แปลก

แต่การหาทางออกนั้นก็ไม่ง่าย เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีตลาดใดที่จะมีศักยภาพเพียงพอมาทดแทนประเทศจีนได้ “สแตนลี โรเซน” ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและสังคมจีน อธิบายว่า แม้อินเดียจะมีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับจีน แต่จำนวนชนชั้นกลางที่เป็นฐานลูกค้าสำคัญยังไม่มากเท่า และราคาตั๋วหนังก็ต่ำกว่าจีนมาก ขณะที่รสนิยมความบันเทิงยังซับซ้อนแตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาคของประเทศ และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของแดนภารตหรือบอลลีวูดเองก็เข้มแข็ง ด้วยการครองสถิติผู้ผลิตภาพยนตร์ต่อปีมากที่สุดในโลก จึงยากที่ฮอลลีวูดจะแทรกตัวเข้าไปได้

นอกจากนี้ยังมีคำถามว่า บรรดาโรงภาพยนตร์ในจีนยังต้องการใช้ผลงานของฮอลลีวูดเพื่อเป็นแม็กเนตดึงดูดลูกค้าอยู่อีกหรือไม่ เพราะช่วงครึ่งแรกของปี 2564 นี้ ยอดขายตั๋วในจีนสูงถึง 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว และภาพยนตร์จีนเริ่มทำรายได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา เช่น เรื่อง “Hi, Mom,” ครองสถิติยอดขายตั๋วทั่วโลกสูงเป็นอันดับ 1 ด้วยเม็ดเงินถึง 822 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยภาพยนตร์แนวชาตินิยมอย่าง “The Battle at Lake Changjin” ที่เป็นเรื่องราวของกองทัพจีนในสงครามเกาหลี ทำรายได้ 769 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทำให้สัดส่วนรายได้ของภาพยนตร์ต่างประเทศในจีนหดเล็กลงต่อเนื่อง จากสัดส่วน 38% เมื่อปี 2561 เป็น 36% ในปี 2562 และเหลือเพียง 16% ในปี 2563 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากสถานการณ์โรคระบาด

“ดักลาส มอนโกเมอรี่” ซีอีโอของบริษัทวิจัยสื่อโกลบอลคอนเน็ก และอดีตรองประธานฝ่ายการจัดการหมวดหมู่คอนเทนต์ของวอร์เนอร์บราเธอส์ กล่าวว่า หลังจากนี้ผู้สร้างและสตูดิโอคงไม่ถึงกับเลิกทำตลาดจีน แต่ความสำคัญของการนำภาพยนตร์เข้าฉายในจีนอาจจะลดน้อยลง เพราะกระแสบูมแบบเมื่อปี 2558-2559 คงไม่กลับมาแล้ว

ต้องรอดูกันว่าหากทิศทางของฮอลลีวูดเปลี่ยนไปตามคาดการณ์จะส่งผลกับภาพยนตร์ที่ถูกสร้างออกมาอย่างไรบ้าง