ไม่มียารักษาโควิด 100% อธิบดีกรมการแพทย์ยันซื้อโมลนูพิราเวียร์ 2 ล้านเม็ด

กรมการแพทย์เดินหน้าซื้อโมลนู 2 ล้านเม็ด

อธิบดีกรมการแพทย์ชี้ไม่มียารักษาโควิด 100% ยันซื้อโมลนูพิราเวียร์ 2 ล้านเม็ด ให้คนไข้ที่เริ่มมีอาการ

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 หลังจากมีรายงานว่า ยารักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 โมลนูพิราเวียร์ ของบริษัท เอ็มเอสดี มีประสิทธิภาพป้องกันอาการป่วยหนักจากโรคโควิด-19 เพียงร้อยละ 30 จากเดิมคาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 50 โดยประเทศไทยได้สั่งซื้อมาใช้จำนวน 2 ล้านเม็ด

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ผลการศึกษาวิจัยที่ทางบริษัทเปิดเผยมาเป็นเพียงขั้นต้นเท่านั้น หลังจากนี้จะมีการส่งข้อมูลไปให้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ซึ่งจะพิจารณาในสัปดาห์หน้า

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มียาตัวไหนที่จะสามารถใช้ป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ 100% โดยหลักการของเรา ที่ทำการสั่งซื้อยากับบริษัทผู้ผลิตยาไว้ แปลว่าเขาต้องได้รับการอนุญาตจาก FDA ก่อน และต้องมาผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของประเทศไทย สัญญาการสั่งซื้อจึงจะสำเร็จ

“เชื่อว่ายาดังกล่าวไม่มีปัญหาสำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้ เพราะตอนนี้ไม่มียาอะไรที่สามารถป้องกันได้เต็มร้อย วัคซีนเองก็เช่นกัน เราพยายามบอกกันว่า เราต้องปรับตัวให้ไวเท่านั้น ไม่ว่าวัคซีน หรือยาตัวไหนที่ออกมาใหม่ เราก็ต้องมีการติดตามทางวิชาการ และเราต้องเตรียมทุกอย่างที่จะช่วยให้คนไทยปลอดภัยที่สุด ไม่ว่าจะยาตัวไหนที่กำลังศึกษาวิจัยกันอยู่ และมีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยได้ เราก็จะดูไว้เป็นทางเลือกให้กับคนไทย” นพ.สมศักดิ์กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับยาโมลนูพิราเวียร์ที่สั่งซื้อมานั้น จะนำมาใช้กับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการระยะใด นพ.สมศักดิ์ตอบว่า โดยหลักการแล้ว จะนำมาใช้กับผู้ป่วยที่อาการไม่มากถึงอาการปานกลาง ไม่ได้ใช้กับกลุ่มที่ไม่มีอาการเลย โดยใช้หลักการเดียวกับข้อบ่งชี้ในเอกสารการวิจัย

“แต่ถ้าถามว่า แล้วยาฟาวิพิราเวียร์จะทำอย่างไร หลักตอนนี้คือ เราอาจจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เราอาจจะนำมาเปรียบเทียบกับยาฟาวิพิราเวียร์ และต้องอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญของไทยด้วย ทั้งนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์ และยาโมลนูพิราเวียร์ จะใช้หลักการเดียวกัน คือ เมื่อเริ่มมีอาการก็ใช้ และยาก็ออกฤทธิ์ที่เดียวกันด้วย” นพ.สมศักดิ์กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ขณะนี้ สธ.จะมีการเพิ่มความเข้มข้นในส่วนของมาตรการเพื่อสกัดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง สธ. และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้มีมาตรการห้ามผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาทั้ง 8 ประเทศที่พบว่ามีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอนเข้าประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ได้มีการหารือกันแล้ว ในฐานะกรมการแพทย์ที่ดูแลเรื่องของการรักษา ก็จะเตรียมทั้งเรื่องของยา และแอนติบอดี้ สำหรับการดูแลคนไทยในประเทศ

เมื่อถามอีกว่า จะส่งผลกระทบถึงแผนการเปิดประเทศหรือไม่ นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ก็คงกระทบบ้าง จะบอกว่าไม่กระทบเลยก็คงไม่ได้ เช่น คงต้องมีมาตรการกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก