ฟู้ดแพชชั่น…เข้มซัพพลายเชน แก้โจทย์ใหญ่ ‘ต้นทุนพุ่ง’

ฟู้ดแพชชั่น...เข้มซัพพลายเชน แก้โจทย์ใหญ่ ‘ต้นทุนพุ่ง’

นับเป็นความยากลำบากของธุรกิจร้านอาหารที่ต้องรับศึกหนักตั้งแต่ต้นปี ทั้งผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะเนื้อหมู-ไก่-ไข่

รวมถึงกำลังซื้อผู้บริโภคที่อ่อนแรง ทำให้ธุรกิจร้านอาหารทั้งรายเล็ก-รายใหญ่ต้องเร่งปรับตัวทั้งการบริหารจัดการและกลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค

เช่นเดียวกับ “ฟู้ดแพชชั่น”ผู้บริหารร้านอาหาร 5 แบรนด์ อาทิ บาร์บีคิว พลาซ่า, จุ่มแซบฮัท, ฌานา, โพชา, สเปซคิว, เรดซัน และหมูทอด…กอดคอ มีสาขารวมกันกว่า 200 สาขาที่ต้องปรับตัวแบบ 360 องศา

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “บุณย์ญานุชบุญบำรุงทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหารฟู้ดแพชชั่น บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ถึงยุทธศาสตร์และทิศทางการดำเนินงานจากนี้

Q : ช่วงนี้วัตถุดิบหลาย ๆ อย่างปรับราคาขึ้น ต้นทุนสูงขึ้น บริษัทวางแนวทางการบริหารจัดการอย่างไร

ขณะนี้ธุรกิจร้านอาหารหลาย ๆ แบรนด์มีการปรับขึ้นราคา เพราะแบกรับต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้นไม่ไหวและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นยาวไปถึงปลายปี’65

สำหรับร้านอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่นเองได้พยายามตรึงราคา แต่ยอมรับว่าค่อนข้างกังวลโดยเฉพาะบาร์บีคิว พลาซ่าที่ต้องใช้วัตถุดิบหลักเป็นหมู โดยเฉพาะหมูสันคอ

เช่นเดียวกับหมูทอด…กอดคอที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาศึกษาหาทางออก ถ้าหากจำเป็นต้องปรับขึ้นราคา แต่ก็จะต้องทำให้ช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มความคุ้มค่าเพื่อให้กระทบลูกค้าน้อยที่สุด

ที่ผ่านมาร้านอาหารในเครือไม่ได้ปรับขึ้นราคามา 2-3 ปี แม้เจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่คอสต์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สูงขึ้น แต่ก็หันไปบริหารจัดการภายในทดแทน ตลอดจนเพิ่มน้ำหนักการบริหารจัดการซัพพลายเชนซึ่งทำได้ค่อนข้างดี

โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ติดตามสถานการณ์หมูมาอย่างต่อเนื่อง มีการปรับตัว ปรับระบบซัพพลายเชนมา โดยมีการวางแผนบริหารจัดการวัตถุดิบด้วยการสั่งซื้อล่วงหน้าเป็นปี ๆ ซึ่งปัจจุบันยังมีสต๊อกหมูที่เก็บไว้ในคลังเก็บความเย็นเพื่อให้คงราคาขายได้

แต่ก็ถือว่ามีความท้าทายมาก โดยเฉพาะกับบาร์บีคิว พลาซ่า ที่เน้นการจัดแคมเปญบุฟเฟต์อยู่เป็นระยะ ๆ ปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งบริหารแบบบุฟเฟต์จะต้องใช้หมูและวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ซีฟู้ด เป็นจำนวนมาก

เมื่อราคาวัตถุดิบสูงจะให้ขายในราคาต่ำอาจไม่ค่อยสอดคล้องกับหลักการธุรกิจ จึงต้องวางแผนงานกันอย่างหนัก เพราะปริมาณและคุณภาพอาหารต้องเท่าเดิม

Q : ถือเป็นปีที่ยากลำบากของธุรกิจอาหารอีกปีหนึ่ง

ความท้าทายเริ่มมาตั้งแต่ต้นปี 2565 ทั้งการระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน และราคาวัตถุดิบที่ขึ้นทุกอย่างเหมือนกับเป็นการระเบิดเวลาที่มาพร้อม ๆ กันในหลาย ๆ เรื่อง แบรนด์ไหนปรับตัวได้เร็วและหาทางออกได้เร็วก็ได้เปรียบ

บทเรียนของโควิด-19 ทุกค่ายเจอเหมือนกัน กลยุทธ์มาร์เก็ตติ้งด้านไหนที่ทำสำเร็จก็สานต่อ ส่วนด้านไหนที่ไม่สำเร็จก็เลิกทำ

ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวเรื่องกลยุทธ์การทำตลาดมาสารพัดรูปแบบ ผู้บริหารและพนักงานต้องเรียนรู้ความท้าทายใหม่ ๆ รวมไปถึงการให้ทีมโอเปอเรชั่นหันมาโฟกัสเรื่องดาต้าเพื่อจะนำมาปรับใช้กับการบริหารงาน

Q : หัวใจสำคัญร้านอาหารในเครือฟู้ดแพชชั่น

เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม บริษัทจะกลับมาลงทุนในมุมของแบรนด์เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ใช้งบฯลงทุนกับแบรนด์น้อยมาก โดยปี 2565 นี้บริษัทเตรียมใช้งบฯเพื่อสร้าง brand awareness ของร้านอาหารทุกแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นบาร์บีคิว พลาซ่า ฌานา สเปซคิว เรดซัน และหมูทอด…กอดคอ

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเรียนรู้พฤติกรรมและความต้องการของ คอนซูเมอร์หรือลูกค้า หัวใจสำคัญคือการมอบประสบการณ์มากกว่าการสร้างโปรดักต์

วันนี้พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไปเร็วมาก ผู้บริโภคมีความหลากหลายและมีความต้องการมากขึ้นไปอีก อย่างล่าสุดมีการเปิดตัวกลยุทธ์ Meal Sic Marketing ผ่านแคมเปญสุขเลือกได้ ไม่ต้องมีคำบรรยาย

หลัก ๆ มาจากแนวคิดการตลาดใหม่ ๆ จากแบรนด์สู่ลูกค้า โดยดึงเอาศิลปินแนวอินดี้ Anatomy Rabbit ขวัญใจวัยรุ่นชาว Gen Z ร่วมร้อง cover และแต่งทำนองเพลงใหม่ผ่าน MV Official Launch ซึ่งมีบาร์บีกอนแบรนด์แคแร็กเตอร์ร่วมสื่อสารแบรนด์ พยายามใช้งบฯการตลาดให้คุ้มค่าที่สุด

จากนี้การจัดแคมเปญการตลาดจะอยู่ในแบบระยะยาว ที่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายเจเนอเรชั่น เพิ่มรูปแบบและขยายช่องทางการสื่อสารครอบคลุมจากแบรนด์สู่ลูกค้าทั้ง offline และ online

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาส collaboration ร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันในทุกรูปแบบ เพื่อขยายไปในการเข้าสู่ตลาดปัจจุบันและตลาดใหม่ ๆ

พร้อมกันนี้ยังต้องโฟกัสจุดแข็ง คือ ช่องทางดีลิเวอรี่ ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 สัดส่วนยอดขายดีลิเวอรี่น้อยมาก แต่เมื่อเรียนรู้และเพิ่มน้ำหนักการให้บริการใหม่ ๆ เช่น กระทะก้อนให้ยืมฟรีผ่านทาง LINE Gon and the gang ทำให้ยอดขายช่องทางดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้นและกลายเป็นสแตนดาร์ดเซอร์วิสให้กับลูกค้า

Q : มีแผนการลงทุนอะไรใหม่ ๆ บ้างหรือไม่

ปีนี้ฟู้ดแพชชั่นจะให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลเพิ่มมากขึ้น เพราะเห็นบทเรียนจากต่างประเทศ

เมื่อเกิดการระบาดของโควิดแรงงานลดลงอย่างมากรวมถึงประเทศไทยเอง ภาคการบริการขาดแคลนพนักงานอย่างหนัก ดังนั้น จึงต้องโฟกัสการพัฒนาบุคคลทั้งในมุมการอัพสกิลพนักงานเดิม และการหาพนักงานใหม่

ส่วนการขยายสาขาโมเดลใหม่ ๆ ได้มีการศึกษาทำเล พฤติกรรมคอนซูเมอร์ คิดว่าคงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงไปหลากหลาย แต่ต้องยอมรับว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวัง

เนื่องจากที่ผ่านมาเราได้เรียนรู้กับร้านสาขาขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูง แต่เมื่อการทำงานเปลี่ยน และในบางองค์กรทำงานที่บ้าน (work from home) มากขึ้น ทำให้กระทบบ้างเล็กน้อย

แต่ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง คือ สาขาขนาดกลางที่อยู่ในศูนย์การค้าย่านปริมณฑล กลับเป็นอะไรที่น่าสนใจ เห็นได้จากทราฟฟิกในร้านที่เพิ่มขึ้น

Q : มองเทรนด์คริปโทเคอร์เรนซี-เมตาเวิร์สอย่างไร มีแผนจะเตรียมตัวรองรับอย่างไร

เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจมาก ธุรกิจร้านอาหารต้องเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ โดยการเข้าไปเรียนรู้ก่อนนับเป็น new skill ของยุคใหม่

ล่าสุดบาร์บีคิว พลาซ่าได้ร่วมกับบิทคับ (Bitkub) แพลตฟอร์มด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้จัดเก็บข้อมูลในรูปแบบกระจายศูนย์และร่วมออกแบบและจัดทำ super privilege เพื่อมอบให้สมาชิก GON Gang และชาว GON Lover สอดรับตามเทรนด์ผู้บริโภค

สำหรับภาพรวมความร่วมมือแบ่งเป็นทั้งภายในองค์กร ได้แก่ 1.Bitkub academy การให้ความรู้และคำแนะนำเรื่องคริปโทแก่พนักงาน 2.crypto as bonus ให้สิทธิพิเศษกับพนักงานฟู้ดแพชชั่นในการใช้แพลตฟอร์มบิทคับและภายนอกองค์กรได้จัดทำ copromotion ให้สิทธิพิเศษกับลูกค้าของบิทคับและลูกค้าของบาร์บีคิว พลาซ่า

สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาดิสรัปต์การทำตลาดในรูปแบบเดิม ๆ เราไม่สามารถยึดติดความสำเร็จแบบเดิมได้ และอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ ต้องเริ่มศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้ในเรื่องงานและองค์กร