ปลดโรคโควิดพ้นยูเซ็ป กระทบการรักษาผู้ป่วยโควิดอย่างไร

ภาพ : pixabay

กรณี สธ. เตรียมปลดโควิดออกจากยูเซป หลายคนยังไม่เข้าใจว่ายูเซปคืออะไร และหากยกเลิกแล้วจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโควิดอย่างไร 

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตรียมปลดโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซป (UCEP) หรือสิทธิรักษาฟรีสำหรับอาการป่วยฉุกเฉิน

โดยได้ปรับแนวทางให้ประชาชนใช้สิทธิการรักษาตามที่ตนเองมี เช่น สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม ประกันสุขภาพ ตลอดจนสวัสดิการข้าราชการ ไม่ต่างจากโรคอื่น ๆ และจะเร่งลงนามให้มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มี.ค. ที่จะถึงนี้

ยูเซปคืออะไร ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากบริการนี้

สิทธิยูเซป หรือ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาล เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤต หรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยประชาชนคนไทยที่เป็น “ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” ที่เข้าเกณฑ์การคัดแยก มีสิทธิในการใช้ “สิทธิ UCEP”

ซึ่งที่ผ่านมาโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินและได้จัดเข้าไปอยู่ในสิทธิยูเซปตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งกำหนดให้ “ผู้ป่วยโควิด-19” เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉินจากสถานพยาบาล

โดยประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาฟรีได้ ไม่ว่าจะเป็น รพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชน และไม่มีการจ่ายส่วนต่างใด ๆ แม้จะเข้ารักษา รพ.เอกชน ยกเว้น การขอใช้สิทธิเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกให้เป็นสิทธิของผู้ป่วยหรือญาติที่จะทำความยินยอมตกลงกับสถานพยาบาล

ส่องผลกระทบ “ปลดโรคโควิดพ้นผู้ป่วยฉุกเฉิน”

อย่างไรก็ตาม หลังจากโรคโควิด-19 จะถูกปลดจากผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือสิทธิยูเซป ผลกระทบหลักที่จะตามมา คือ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ประสงค์การรักษาฟรี จะเข้ารับการรักษาได้เฉพาะกับโรงพยาบาลที่ตนเองมีสิทธิ ได้แก่ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม ประกันสุขภาพ และสวัสดิการราชการ

ทำให้การเข้ารักษาโควิดกับ รพ.เอกชน ที่ประชาชนไม่ได้มีสิทธิใด ๆ อยู่จะไม่สามารถขอเบิกจ่ายกับภาครัฐได้ และต้องจ่ายค่ารักษาเอง 100%

ขณะที่ปัจจุบัน สปสช. ได้ปรับแนวทางการปรับการเบิกจ่ายค่ารักษาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ลดลง (ข้อมูล ณ วันที่ 10 ก.พ.) ดังนี้

1.ค่าตรวจเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR จะจ่ายชดเชยในสถานพยาบาล ตามวิธีการตรวจ ตรวจ 2 ยีนส์ จะจ่าย 900 บาท และ 3 ยีนส์ จ่าย 1,100 บาท แต่จะไม่มีค่าตรวจ (Swap)

2.การตรวจด้วย ATK จะจ่าย 350 บาท และ 250 บาท ขึ้นอยู่กับประเภทที่ใช้ตรวจ แต่จะต้องเป็น ATK แบบที่บุคลากรแพทย์ใช้ (professional use)

3.การรักษาตัวในฮอสพิเทล (Hospitel) อยู่ที่ 1,000 บาท/วัน เทียบเท่าการแยกกักตัวเองที่บ้าน (Home Isolation)

ดังนั้น ส่วนต่างค่าใช้จ่ายที่เหลือ (กรณีเกินกว่าที่กำหนดไว้) ประชาชนอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ไม่ต่างจากการรักษาโรคอื่น ๆ ที่หากสิทธิไม่ครอบคลุมก็ต้องจ่ายเอง