S&P จัดทัพตั้งรับต้นทุนพุ่ง ขนเมนู-ผุดร้านใหม่ปั๊มยอด

“เอส แอนด์ พี” ไม่วางใจโควิด สงครามยูเครน-รัสเซีย โอดต้นทุนแป้งสาลีพุ่ง 20% จ่อปรับราคาสินค้าบางกลุ่ม เดินหน้าขยายร้านโมเดล “เบเกอรี่มาร์ท-เดลต้า” เพิ่มความหลากหลายสินค้า-รองรับดีลิเวอรี่เจาะทุกพื้นที่ ขนทัพอาหารไทย-เค้ก-เบเกอรี่เมนูใหม่กระตุ้นยอด พร้อมลอนช์ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ตั้งเป้าเติบโต 30%

นายวิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านอาหารและเบเกอรี่ภายใต้แบรนด์ “เอส แอนด์ พี” กล่าวในงานบริษัทจดทะเบียนพบผู้ลงทุน (opportunity day) ว่า

ขณะนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ติดเชื้อสายพันธ์ุโอมิครอนเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ แต่ธุรกิจร้านอาหารยังอยู่บนความไม่แน่นอน รวมไปถึงสถานการณ์สงครามรัสเซียและยูเครนที่อาจส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและต้นทุนต่าง ๆ

ทำให้บริษัทต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและให้ความสำคัญกับการบริหารเรื่องต้นทุนอย่างหนัก โดยเฉพาะต้นทุนแป้งสาลีที่เพิ่มขึ้น 20% โดยต้นทุนแป้งสาลีคิดเป็นสัดส่วน 4.5% ของต้นทุนการผลิตเบเกอรี่ ซึ่

งอาจทำให้ต้องพิจารณาปรับขึ้นราคาสินค้าบางกลุ่ม ควบคู่กับบริหารต้นทุนด้านอื่น ๆ เพื่อชดเชยต้นทุนของวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่วนต้นทุนของธุรกิจอาหาร ในไตรมาส 1 ปี 2565 ยังสามารถบริหารได้ เพราะมีการสต๊อกวัตถุดิบหลักไว้ล่วงหน้า

สำหรับกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานภายปี 2565 บริษัทเตรียมปรับพื้นที่ร้านเอส แอนด์ พี เบเกอรี่ช้อป ให้เป็นร้านเอส แอนด์ พี เบเกอรี่มาร์ท โดยทยอยปรับไปแล้วทั้งหมด 7 แห่ง

เพื่อเพิ่มความหลากหลายของกลุ่มเมนูสินค้าให้ผู้บริโภคเลือกจับจ่ายได้มากขึ้น ถัดมาเป็นการเตรียมขยายสาขาเดลต้าเพิ่มอีก 25 แห่ง เน้นขายแบบซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี่

จากปีที่ผ่านมาเปิดไปแล้ว 29 แห่ง หลัก ๆ อยู่ในพื้นที่คอมมิวนิตี้มอลล์, สถานีบริการน้ำมัน และไฮเปอร์มาร์เก็ต ใช้เงินลงทุน 1.5-3 ล้านบาท ขนาดร้านมากกว่า90 ตารางเมตรขึ้นไป ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและเติบโตกว่า 25%

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ คือ การพัฒนาเมนูใหม่ ๆ ปีนี้จะเน้นการลอนช์อาหารไทย เค้กหน้าต่าง ๆ ตามซีซันนอล และเบเกอรี่ คงคอนเซ็ปต์ความอร่อย ราคาเข้าถึงง่าย

โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เตรียมเมนูข้าวแช่ไว้หลากหลาย โดยผลิตสินค้าออกมาให้เหมาะในแต่ละช่องทางขาย และเน้นบิ๊กออร์เดอร์ขยายไปต่างจังหวัดมากขึ้น พร้อมกับการสร้างยอดขายต่อสาขาเดิมให้แข็งแรง

ด้วยการนำเสนอเมนูซิกเนเจอร์ให้ชัดเจน พร้อมกระตุ้นการเพิ่มยอดขายเฉลี่ยต่อบิลให้สูงขึ้น ผ่าน combo value pack และ meal box และสร้างประสบการณ์การทานอาหารในร้านให้ผู้บริโภคอยากกลับมาใช้ซ้ำ

ควบคู่กับการเน้นสร้างยอดขายผ่านช่องดีลิเวอรี่โดยปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับปรุงแอปพลิเคชั่นสำหรับการสั่งออนไลน์ผ่าน 1344 ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทจัดส่งเองและร่วมกับช่องทาง food aggregators

อีกทั้งยังต้องเพิ่มน้ำหนัก S&P Production Hub จุดผลิตเบเกอรี่อบสดใหม่ สำหรับกระจายไปยังสาขา โดยเฉพาะจุดขายที่เปิดเช้า เช่น กลุ่มโรงพยาบาลและสำนักงาน เมื่อส่งผลิตภัณฑ์ถึงหน้าร้านพนักงานสามารถจัดวางได้ทันเวลาร้านเปิด

อีกทั้งผลิตภัณฑ์ยังมีความหลากหลาย ส่งผลให้มียอดขายเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมี 9 แห่ง และมีแผนขยายอย่างต่อเนื่องในปี 2565 ขณะเดียวกันก็เตรียมลอนช์ ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือที่เรียกว่า ตู้เวนดิ้งแมชีน ไปตั้งในจุดสำคัญเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ

ขณะที่ร้านอาหารในต่างประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีร้านอาหารในประเทศ อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย และกัมพูชา กลับมาขายอาหารได้ปกติแบบ full service

ขณะนี้เปิดให้บริการไป 5 สาขา จากทั้งหมด 6 สาขา มีลูกค้ากลับมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่มีอุปสรรคที่สุดคือ กัมพูชา จึงพยายามหันมาเน้นการขายดีลิเวอรี่มากขึ้น

ด้านผลประกอบการปี 2564 บริษัทมีรายได้ 4,817 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 382 ล้านบาท หรือ 7.3% หลัก ๆเป็นผลจากยอดขายการกินในร้านลดลง เนื่องจากต้องปิดให้บริการสาขาในห้างสรรพสินค้า

และห้างโมเดิร์นเทรดรวมกว่า 200 สาขา ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ระหว่างไตรมาส 3/64 โดยสามารถปรับตัวด้วยการเปิดตลาดนัดเอส แอนด์ พี กว่า 130 สาขาทั่วประเทศ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น

ส่วนธุรกิจค้าปลีกและรับจ้างผลิต รายได้ตลอดทั้งปีเพิ่มขึ้น 9.0% จากกลุ่มอาหารแช่แข็ง ผ่านช่องทางการขายต่าง ๆ โดยเฉพาะในร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์ OEM ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจ ขณะที่ยอดขายดีลิเวอรี่เติบโต 38% โดยมาจากช่องทางโทร.1344 และแพลตฟร์มดีลิเวอรี่ต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงต้องปรับตัวรอบด้านเพื่อให้องค์กรอยู่รอด ตามด้วยการสร้างผลงานและกำไรตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปี 2565 ตั้งเป้าสร้างรายได้เติบโต 30% เห็นได้จากไตรมาส 1 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

ตลอดจนการบริหารจัดการลดต้นทุนและลดค่าใช้จ่าย พร้อมเตรียมระบบออโตเมชั่นเข้ามาเสริมทัพกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น