สธ.กางข้อมูลประสิทธิภาพเข็ม 3-4 หวังจูงใจสูงวัยฉีดวัคซีนรับมือสงกรานต์

ความเชื่อว่าผู้สูงอายุมีโอกาสติดโรคน้อย เพราะอยู่บ้านตลอดนั้นไม่เป็นความจริง

วันที่ 21 มีนาคม 2565 สธ.นำข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนเข็ม 3-4 ในการป้องกันการป่วยหนัก-เสียชีวิตออกมาเปิดเผย หวังสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจให้กลุ่มสูงวัยเข้ารับวัคซีน รับมือช่วงสงกรานต์ ไม่ให้เกิดการระบาดใหญ่ซ้ำรอยปี 2564

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจทำให้ผู้สูงอายุหรือผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปซึ่งปัจจุบันเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโอมิครอนสูงอยู่แล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับไม่ครบ จะมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก

นายแพทย์เฉวตสรร นามวาท

จึงต้องเปิดเผยข้อมูลประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต เพื่อสร้างความเชื่อมั่น พร้อมกับเดินหน้ารณรงค์และเชิญชวนให้กลุ่มสูงวัยเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างเร่งด่วนก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์

โดยคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, คณะทำงานติดตามประสิทธิผลวัคซีน และคณะทำงานวิชาการได้เปิดเผยข้อมูลประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนเข็ม 3 และ 4 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า

ด้านการป้องกันการติดเชื้อนั้น การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่วัคซีนเข็ม 3 ป้องกันได้ 45-68% ส่วนเข็ม 4 ป้องกันได้ 82%

ส่วนการป้องกันการเสียชีวิตนั้น การฉีดวัคซีน 2 เข็ม ป้องกันการเสียชีวิตได้ 85-93% และเข็ม 3 ป้องกันได้ 98% ส่วนเข็ม 4 ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่พบผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 หลังได้รับวัคซีนเข็ม 4

ไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลระดับทั่วประเทศ ในเดือนมกราคม 2565 ที่พบว่า

ในการป้องกันการติดเชื้อ การฉีดวัคซีน 2 เข็มป้องกันได้ 4.1% และ 3 เข็มป้องกันได้ 56% ส่วน 4 เข็มป้องกันได้ 84.7%

ด้านการป้องกันการเสียชีวิต การฉีดวัคซีน 2 เข็มป้องกันได้ 79.2% ส่วน 3 เข็มป้องกันได้ 87%

สำหรับการป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต 2 เข็มป้องกันได้ 54.8% และ 3 เข็มป้องกันได้ 88.1%

นายแพทย์เฉวตสรร ยังย้ำว่า ความเชื่อเรื่องผู้สูงอายุมีโอกาสติดโรคน้อย เพราะอยู่บ้านตลอดนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากยังมีการเยี่ยมเยียนกันในหมู่ญาติมิตรหรือผู้ดูแล ในขณะที่สายพันธุ์โอมิครอนนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ทำให้สังเกตผู้ติดเชื้อและป้องกันการติดต่อมายังผู้สูงอายุเอง หรือคนใกล้ชิดได้ยาก

จึงต้องเร่งฉีดวัคซีนทั้งเข็มหลักและเข็มกระตุ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต หลังสถิติช่วงที่ผ่านมาผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง รวมถึงยังไม่ได้รับวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น