เทรนด์ธุรกิจอาหารหลังโควิด “แพลนต์เบส-ไซเดอร์” มาแรง

แพลนต์เบส
คอลัมน์ : Market Move

“ซัมเมอร์ แฟนซี ฟู้ดโชว์” งานเทรดแฟร์ด้านอาหารซึ่งจัดที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือเป็นงานใหญ่ที่สามารถสะท้อนเทรดของวงการอาหารตั้งแต่เมนูระดับภัตตาคารไปจนถึงอาหารพร้อมทานซูเปอร์มาร์เก็ตได้ แบบเดียวกับที่งานคอมซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์โชว์เคส หรือซีอีเอส สะท้อนเทรนด์ของวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าและเทคโนโลยี

แม้จะเว้นว่างไม่ได้จัดมาถึง 2 ปีเพราะการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ปีนี้ภายในงานเต็มไปด้วยอาหารทั้งคาวหวาน รวมถึงเครื่องดื่มแปลกใหม่และน่าสนใจจากผู้เข้าร่วมออกบูทกว่า 1,800 ราย ไม่ว่าจะเป็นเส้นพาสต้ารูปแบบใหม่ การนำรสของดอกไม้มาใช้ในอาหาร ขนมขบเคี้ยวที่มีการผลิตจากกะหล่ำไปจนถึงกลุ่มอาหารหมักดอง

โดยสำนักข่าว “ซีเอ็นบีซี” ได้รายงานถึงไฮไลต์ของงาน “ซัมเมอร์ แฟนซี ฟู้ดโชว์” ประจำปี 2022 นี้ เริ่มจาก cascatelli เส้นพาสต้ารูปทรงใหม่ที่มีลักษณ์เหมือนตัวอักษรเจ (J) ในภาษาอังกฤษ และผิวด้านนอกจะมีซี่คล้ายเฟือง

นอกจากรูปทรงแล้ว บรรดาผู้ผลิตต่างพยายามใส่รสชาติต่าง ๆ เข้าไปในเนื้อพาสต้าด้วยการผสมวัตถุดิบอื่นเข้าไป อาทิ พาสต้ารสโกโก้ จากกรีนโนมิกเดลี่ (Greenomic Deli)

ทั้งนี้ สมาคมสเปเชียลตี้ฟู้ด (Specialty Food Association) ระบุว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาดีมานด์อาหารประเภทเส้นเริ่มกลับมาอีกครั้ง หลังการล็อกดาวน์ทำให้ผู้บริโภคที่เคยเลี่ยงการบริโภคแป้งหันมาทำอาหารเส้นทานเองที่บ้าน เนื่องจากความง่ายและความคุ้นเคย

ขณะเดียวกัน เทรนด์อาหารแพลนต์เบสได้ขยายแนวทางออกจากการเป็นวัตถุดิบทดแทนเนื้อหรือนมไปสู่การเป็นวัตถุดิบโปรตีนสูงสำหรับขนมอบต่าง ๆ เช่น แป้งโดจ์ของคุกกี้ ชีส โดยบริษัทโว โดจ์ (Whoa Dough) นำแป้งโดจ์คุกกี้สูตรโปรตีนสูงมาโชว์ในงาน ส่วนบริษัทริน (Rind) เปิดตัวชีสจากพืชที่ทำเลียนแบบบลูชีสและชีสกามองแบร์

ในกลุ่มขนมนั้นแพนเค้กเมนูอาหารเช้ายอดฮิตของชาวอเมริกันได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในปีนี้ โดยหลายบริษัทพากันส่งแพนเค้กเมนูใหม่ซึ่งมีทั้งการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบและแพ็กเกจจิ้งออกมาโชว์ภายในงาน เช่น แป้งแพนเค้กผสมพร้อมใช้ในขวดบีบที่ดีไซน์มาตอบโจทย์ครอบครัว ด้วยการทำให้เด็ก ๆ สามารถทำแพนเค้กเป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น หรือแป้งแพนเค้กที่เปลี่ยนจากแป้งอเนกประสงค์เป็นแป้งจากผลสาเกนำเข้าจากประเทศจาเมกา เป็นต้น

สำหรับเครื่องดื่มเทรนด์สุขภาพยังคงมาแรง โดยปีนี้น้ำส้มสายชูกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหลังผู้ผลิตหลายรายพยายามพัฒนารสชาติใหม่ ๆ ออกมา หนึ่งในนั้นคือการคืนชีพชรับส์ (shrubs) เครื่องดื่มยอดนิยมตั้งแต่ในยุคศตวรรษที่ 17 ที่เป็นการผสมน้ำเชื่อมน้ำส้มสายชูเข้ากับผลไม้และโซดา หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กลุ่มสปิริตก่อนจะเสื่อมความนิยมไปในยุคที่ครัวเรือนสหรัฐเริ่มมีตู้เย็นใช้งานแพร่หลาย

โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาการดื่มชรับส์เริ่มกลับมาในกลุ่มผับบาร์ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มเริ่มหันมาสนใจผลิตชรับส์เพื่อใช้ผสมในค็อกเทลหรือม็อกเทลด้วยการเติมส่วนผสม เช่น ผลไม้ เครื่องเทศ และแอปเปิลไซเดอร์เข้าไป

นอกจากชรับส์แล้ว น้ำส้มสายชูที่ผลิตจากผลไม้ต่าง ๆ ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำส้มสายชูหมักจากดอกอะกาวี (agave) ซึ่งมีจุดเด่นที่มีรสชาติเหมือนเหล้าเตกีลา แม้จะไม่มีแอลกอฮอล์อยู่เลยก็ตาม โดยทางผู้ผลิตระบุว่า เหมาะสำหรับใส่ในสลัดหรือทานกับมันฝรั่งทอด

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าน้ำส้มสายชูดอกอะกาวีนี้มีโอกาสได้รับความนิยมสูงจากแรงหนุนของกระแสนิยมดื่มเตกีลาที่ผลิตจากอะกาวีเช่นเดียวกัน และกำลังมาแรงในสหรัฐจนคาดว่ายอดขายเตกีลาจะแซงหน้าแชมป์เก่าอย่างวอดก้าได้ในปีนี้

นอกจากนี้ สมาคมสเปเชียลตี้ฟู้ดยังระบุว่า หลังจากนี้ อาหารที่มีการเสริมฟังก์ชั่นด้านสุขภาพ เช่น ต้านความชรา หรือบำรุงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเข้าไปเป็นอีกเทรนด์ที่ต้องจับตา เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายพยายามตอบโจทย์ความต้องการเสริมสร้างสุขภาพและภูมิคุ้มกันที่มาแรงตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19

ตัวอย่างเช่น บียอนด์ รีซิเลนซ์ (Beyond Resilience) บริษัทผู้ผลิตสินค้าความงามสัญชาติออสเตรเลีย ผลิตฟังก์ชั่นฟู้ดที่มีส่วนผสมซึ่งบริษัทอ้างว่าช่วยบำรุงเส้นผม ผิวและเล็บ เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องรอลุ้นว่าเมนูอาหารใหม่ ๆ เหล่านี้จะแพร่หลายรวดเร็วแค่ไหน และผู้เล่นรายใหญ่จะโดดเข้าร่วมกระแสนี้ด้วยหรือไม่