“ซีพี โฟตอน” ผนึก “วิริยะพันธุ์” ตั้งโรงงานธนบุรีประกอบ “บรรทุก-หัวลาก”

“โฟตอน” ทุ่ม 1,000 ล้านตั้งโรงงานผลิตรถบรรทุกในไทยจับมือธนบุรีประกอบรถยนต์ ดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถบรรทุกในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนีย ดีเดย์ผลิตกลางปีหน้า ลั่นกำลังผลิตไม่น้อยกว่าพันคันต่อปี

วันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นายนพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ FOTON Motor Group ผู้ผลิตรถบรรทุกชั้นนำจากประเทศจีน พร้อมด้วย บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ได้บรรลุข้อตกลงจัดตั้งโรงงานผลิตรถบรรทุก “FOTON” พร้อมรุกตลาดยานยนต์ไทย เดินหน้าโครงการ 1,000 ล้านบาท จับมือพันธมิตรผู้ผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุกชั้นนำลงทุนในไทย เพื่อผลิตประกอบรถบรรทุก “FOTON” ที่โรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ ถ.บางนา-ตราด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยความมั่นใจในศักยภาพความแข็งแกร่งของพันธมิตรทุกฝ่าย ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปีจะสามารถผลักดันรถบรรทุกคุณภาพสูงจาก FOTON เพื่อครองส่วนแบ่งตลาด 10% ของตลาดรถบรรทุกไทย

“การจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์โฟตอนในประเทศไทย เป็นหนึ่งเป้าหมายหลักที่เครือเจริญโภคภัณฑ์มุ่งมั่นผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและตลาดแรงงานให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจมหภาคระดับโลก ด้วยความร่วมแรงแข็งขันจากพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการยานยนต์ เช่น FOTON Motor Group หนึ่งในยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดผู้ผลิตและส่งออกรถบรรทุกและรถบัสชั้นนำของประเทศจีน และบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ซึ่งจะเริ่มผลิตและประกอบรถบรรทุก FOTON ได้ภายในกลางปี 2567 โดยใน 5 ปีแรกโรงงานจะสามารถผลิตรถเข้าสู่ตลาดได้ไม่น้อยกว่า 6,000 คัน ทั้งยังมีความสามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตเพิ่มได้ในอนาคต เรามองว่าประเทศไทยคือฐานการผลิตรถบรรทุกพวงมาลัยขวาเพื่อจัดจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนียอีกด้วย”

นายอู๋ สีปิง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FOTON Motor Group กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ระดับโลก การร่วมมือจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่เป็นความร่วมมือ 3 ฝ่าย ระหว่างกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์-FOTON Motor Group กับบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด เท่านั้น หากยังเป็นการขยายความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มพันธมิตรชิ้นส่วนชั้นนำมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ได้แก่ Cummins, Yuchai, Fangsheng และ Fast เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิต ความรวดเร็วในการสนับสนุนทางเทคนิค และบริการอะไหล่ เพื่อความมั่นใจของลูกค้าและสถาบันการเงินอย่างแท้จริง “โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง” และนำพาตลาดของประเทศไทยให้กลายเป็นฐานปฏิบัติการรถเพื่อการพาณิชย์ของอาเซียนในอนาคต

นายรัฐพล วิริยะพันธุ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่า 60 ปีของบริษัท ธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ในการประกอบรถยนต์ รถบัส และแชสซีรถ ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นอย่างสูง ว่าการประกอบที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เติบโตยิ่งขึ้น ทั้งด้านการส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากรภายใน ความรู้ และความชำนาญในการใช้เครื่องมือ เพื่อให้สอดคล้องและตอบโจทย์การเติบโตด้านการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมถึงการขยายขอบเขตธุรกิจเพื่อรองรับรูปแบบของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อย่างเช่น การประกอบแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น ทั้งนี้เราได้มอบหมายให้บริษัท ธนบุรี คอมเมอร์เชียล วีฮิเคิ้ล แอสเซมบลี่ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เป็นกำลังหลักสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ของประเทศไทย ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ FOTON Motor Group อย่างเต็มกำลังความสามารถอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ FOTON Motor Group เป็นผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ชั้นนำจากประเทศจีน ครอบคลุมรถเพื่อการพาณิชย์ทุกประเภท ตั้งแต่รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลาง รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถตู้ รถปิกอัพ รถบัสโดยสาร และรถสำหรับใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ นอกจากนี้ FOTON Motor Group ยังได้จัดตั้ง Foton Daimler Automotive Co., Ltd. และ Foton Cummins Engine Co., Ltd ร่วมกับ Daimler และ Cummins ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องยนต์ระดับโลก สำหรับในประเทศไทย รถบรรทุก รถบัส FOTON ได้ทำตลาด จัดจำหน่าย ให้บริการหลังการขายและอะไหล่ โดย บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2562 โดยที่ผ่านมา FOTON ได้รับการยอมรับเลือกใช้จากผู้ประกอบการไทยมากขึ้นมาโดยตลอด จากแนวโน้มที่ผ่านมา คาดการณ์ส่วนแบ่งการตลาดของ “FOTON” จะเติบโตจาก 3.3% ในปี 2565 เป็น 4.2% ในปี 2567 หรือเป็นอันดับที่ 3 ของตลาดรถบรรทุกไทย