ชิ้นส่วนรถยนต์พลิกเกมรับมืออีวี ชู “บริการภิวัตน์” เสริมเขี้ยว

ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี
ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และดุษฎีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
สัมภาษณ์พิเศษ

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ความต้องการของผู้ใช้รถที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว เพื่อรองรับการผลิตของยานยนต์จากยุคเครื่องยนต์สันดาป ไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ ให้มีความแข็งแกร่ง และสามารถแข่งขันได้

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาคการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันในเวทียานยนต์โลกได้อย่างมั่นคง

“ดร.ดวงเด็ด ย้วยความดี” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) และดุษฎีบัณฑิต คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้คลุกคลีในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ฟันธงถึงแนวโน้มการปรับตัวของผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย

เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ประเทศไทยได้วางโพซิชั่นของอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้แล้ว ว่าจะเดินไปสู่ยานยนต์สมัยใหม่ คือ การผลิตรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งมีทั้งไฮบริด, ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% หรืออีวี วันนี้อุตสาหกรรยานยนต์ไทยได้เริ่มปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป การวางกรอบ กำหนดทิศทางอย่างชัดเจน

ส่วนประเทศเพื่อนบ้านเอง ก็ได้มีการลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี แน่นอนว่า ไทยยังคงเป็นผู้นำอาเซียน แต่ต้องไม่ลืมมองประเทศรอบบ้านเราด้วย อย่างเวียดนาม เขาประกาศตัวว่าขอระยะเวลาอีก 5 ปี เทคโนโลยีและฝีมือแรงงานเขาจะเปลี่ยน ซึ่งเขามีความได้เปรียบในเรื่องของ “ค่าแรง” รัฐบาลมีการสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น

เช่นเดียวกับมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ต่างก็มีความชัดเจนในการผลิตยานยนต์ ช่วงที่ผ่านมาจะเห็นภาพของการช่วงชิงรถยนต์บางรุ่น บางโมเดล ให้ไปผลิตยังฐานผลิตของประเทศนั้น ๆ แน่นอนผู้ผลิตรถยนต์จะต้องดูสัดส่วนการผลิต เทคโนโลยีการผลิต ระบบซัพพลายเชน ความแข็งแกร่ง คุณภาพของฐานการผลิตแต่ละประเทศ เพื่อให้สามารถคุ้มทุนมากที่สุดและนี้คือสิ่งที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยต้องเผชิญ

ชิ้นส่วนไทยต้องเร่งปรับตัว

หากย้อนกลับไปเมื่อสัก 3 ปีก่อน อาจจะยังมีความกังวลกันค่อนข้างมาก แต่สุดท้ายเมื่อนโยบายของประเทศไทยมีความชัดเจน บวกกับค่ายรถยนต์ที่ใช้บ้านเราเป็นฐานการผลิต ทั้งจากญี่ปุ่นและยุโรปประกาศความชัดเจน ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมองเห็นทิศทางและสามารถวางแผน เพื่อให้ผู้ผลิตมีเวลาในการปรับตัว ถีบตัวเอง ด้วยเทคโนโลยี วันนี้อาจจะไม่เพียงพอ

ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยจำเป็นต้องมองใน 4 เรื่องหลัก เพื่อปรับตัวไทยทั้งองคาพยพ ได้แก่ การพัฒนาบริการภิวัตน์, การพัฒนาองค์กร, การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ชู “บริการภิวัตน์”

แน่นอนการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในบ้านเรา เอสเอ็มจียังอยู่ในระบบปิดโดยเฉพาะเทียร์ 2 และ 3 มีความต่างจากผู้ผลิตเทียร์ 1 ค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ผลิตเทียร์ 3 ต้องขยับขึ้นมาสู่ไฮเทคโนโลยีให้มากขึ้น หันมาเน้นการผลิตที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญ และแตกไลน์การผลิต เพื่อยกฐานะให้สามารถรองรับการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ให้ได้

โดยเฉพาะการเพิ่มมูลค่าของการผลิตชิ้นส่วน เปลี่ยนจากองค์กรผลิตแบบโออีเอ็มมาสู่การเป็นพาร์ตเนอร์ ทำงานร่วมกับผู้ว่าจ้างปรับปรุงการใช้ ลดกระบวนการต้นทุน เพื่อให้ได้คุณภาพเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วย “บริการภิวัตน์” เพื่อให้สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ และมีบริการที่ดี เน้นความสำคัญต่อการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นลักษณะเฉพาะแก่ลูกค้า

เลิกทำชิ้นส่วนยานยนต์ราคาถูกแล้วผลักออกไปให้ประเทศเพื่อนบ้านผลิตแทน จากนั้นผู้ผลิตชาวไทยหันมาทำชิ้นส่วนที่มีความละเอียดสูงมีการใช้เทคโนโลยี เราต้องเปลี่ยนโพซิชั่นการผลิต

อย่างที่ผ่านมา การส่งเสริมเรื่องผลิตเครื่องมือแพทย์ก็มีความเป็นไปได้ หลายโรงงานมีการผลิตโดยใช้วิธีการแตกไลน์ แตกเซ็กเมนต์ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะสามารถนำแม่พิมพ์ต่าง ๆ มาใช้ทำคู่ขนานกันไป

ส่วนชิ้นส่วนอากาศยานนั้นเป็นการผลิตแบบปิดยิ่งกว่าการผลิตยานยนต์ ซึ่งผู้ประกอบการต้องศึกษาให้ดี ซึ่งในเชิงนโยบายถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ประเทศไทยควรต้องกำหนดให้ชัดเจน ไม่หลงทาง

ยันเครื่องยนต์สันดาปต้องมีอยู่

อย่างน้อย ๆ อีก 10 ปี ผู้ผลิตชิ้นส่วนต้องมองหาโอกาส หรืออาจจะผันตัวเองจากรับจ้างผลิตเข้าโรงงาน (โออีเอ็ม) มาสร้างแบรนด์ หรือผลิตเพื่อเข้าสู่ตลาดทดแทน (อาร์อีเอ็ม) เพิ่มมากขึ้น