โตโยต้า-ฮอนด้า พร้อมลุยอีวี คลังหนุน “ลดภาษีแบตเตอรี่”

ทัพญี่ปุ่นตบเท้าทำตลาด “อีวี” ในไทย “โตโยต้า” จดปากการ่วมมาตรการส่งเสริมกับกรมสรรพสามิตแล้ว ทุบราคา bZ4X ลงกว่า 3 แสนบาท ขณะที่ “ฮอนด้า” เล็งส่งมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าลงตลาดภายในปีนี้ “อธิบดีสรรพสามิต” เผยมีผู้ผลิตรถอีวีอีกไม่น้อยกว่า 5 รายพร้อมเอ็มโอยูเผย “Deco Green” “เอดิสัน” เอาแน่ คลังเล็งลดภาษีแบตเตอรี่เพิ่มแรงจูงใจ บิ๊กโตโยต้า-ฮอนด้า พร้อมดันไทยฮับอีวี

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. กรมสรรพสามิตได้ลงนามข้อตกลง ร่วมกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี) ซึ่งทางโตโยต้ามีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้

“การลงนามในครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนให้การใช้รถอีวีในประเทศไทยเติบโตก้าวกระโดดขึ้น ตอนนี้เราเห็นแนวโน้มการตระหนักใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่งในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่ผ่านมา มียอดจองรถอีวีสูงถึง 6,000 คัน ซึ่งเป็นรถอีวีที่เข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมกว่า 5,000 คัน ได้แก่ รถอีวีของค่ายเกรท วอลล์ฯ รุ่น ORA GOOD CAT และของค่าย MG รุ่น MG EP, MG ZS” นายอาคมกล่าว

นอกจากรัฐบาลจะออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้รถอีวีภายในประเทศแล้ว ขณะนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมสถานีชาร์จไฟฟ้า และกำหนดอัตราค่าใช้ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์อีวี เพื่อรักษาให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

ส่วนกรณีเรื่องการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิตนั้น มองว่าในประเทศไทยมีโรงงานที่ผลิตแบตเตอรี่อย่างครบวงจร มีเพียงลิเทียมที่จะต้องนำเข้ามา ดังนั้นเชื่อว่าวัตถุดิบสำคัญอย่างแบตเตอรี่ จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้มีการเข้ามาผลิตรถอีวีในประเทศไทยแน่นอน

bZ4X ราคาลดกว่า 3 แสน/คัน

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า โตโยต้ามีรถอีวีที่จะนำเข้ามาจำหน่ายภายในปีนี้ คือ รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน รวมแล้วคาดว่าราคาจะลดลงมากว่าคันละ 300,000 บาท

มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจ่อคิวเพียบ

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ภายในปี 2565 จะมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการกับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย

โดยในวันที่ 3 พ.ค.นี้ จะมีการเซ็นสัญญาร่วมกับค่ายรถ Deco Green ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์อีวีของคนไทยค่ายแรกที่เข้าร่วมมาตรการ นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ค่ายเอดิสันด้วย ซึ่งเป็นค่ายรถที่ผลิตในประเทศไทยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ รถจักรยานยนต์อีวีที่เข้าร่วมมาตรการจะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ 18,000 บาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนเข้าถึงรถจักรยานยนต์อีวีได้มากขึ้น

ฮอนด้าเอาแน่ มอเตอร์ไซค์อีวี

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า ภายในปีนี้ ค่ายรถฮอนด้าที่เป็นผู้ผลิตจักรยานยนต์ จะเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วย โดยตามเงื่อนไขราคารถจะต้องไม่เกินคันละ 150,000 บาท ซึ่งจะได้รับเงินอุดหนุน 18,000 บาท คาดว่าราคาจะลดลงมาเหลืออยู่คันละประมาณ 90,000 บาท ขณะนี้ค่ายรถฮอนด้าก็อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดในการผลิต รวมทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ในการเข้าร่วมมาตรการ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า จะได้เห็นราคารถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาลดลงเทียบเท่ากับราคารถจักรยานยนต์ทั่วไป หรือที่ประมาณคันละ 60,000-70,000 บาท ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

“ค่ายรถอีวีไทยที่นำเข้าชิ้นส่วนเข้ามาผลิตรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย จะต้องผลิตชดเชยตามเงื่อนไขมาตรการเช่นเดียวกัน คือค่ายรถจะต้องผลิตรถคืนเพื่อทดแทนรถที่นำเข้ามาจำหน่าย ในสัดส่วน 1 ต่อ 1 ในปีแรก และในปีที่ 2 จะต้องผลิตคืนในอัตรา 1 ต่อ 1.5” แหล่งข่าวกล่าว

เล็งลดภาษีแบตเตอรี่จูงใจเพิ่ม

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการเพิ่มเติมที่สนับสนุนการใช้รถยนต์อีวีในประเทศนั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางสนับสนุนที่ครบวงจร โดยเฉพาะ แบตเตอรี่ซึ่งจะทำให้มีการตั้งโรงงานในประเทศไทย ต้องมีกลยุทธ์ในการสนับสนุนที่เหมาะสม คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้อย่างแน่นอน

“ตอนนี้กรมสรรพสามิตมีการคิดภาษีแบตเตอรี่ ในอัตราตั้งแต่ 0-8% ตามหลักเทคโนโลยีของการผลิตและการทำลายแบตเตอรี่ กล่าวคือกรณีแบตเตอรี่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีระบบการกำจัดแบตเตอรี่ที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง อัตราภาษีก็จะอยู่ในระดับต่ำ” นายลวรณกล่าว

ด้านแหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิตกล่าวว่า นโยบายสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ จะทำในลักษณะการให้เงินอุดหนุน เช่นเดียวกับมาตรการการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งมีข้อเสนอว่าจะสนับสนุนเงินอุดหนุน 600 บาท/KWH เช่น ในกรณีที่แบตเตอรี่มีขนาด 40 KWH ก็จะได้รับเงินสนับสนุน 2.4 หมื่นบาท ซึ่งผู้ผลิตจะต้องนำไปเป็นส่วนลดให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยขณะนี้อยู่ระหว่างหาข้อสรุปว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้ดูแลระหว่างกระทรวงพลังงาน กับกระทรวงอุตสาหกรรม

โตโยต้าดันไทยฮับอีวี

นายโนริอากิ ยามาชิตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หนึ่งในแผนงานที่โตโยต้าให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การบรรลุเป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งถือเป็นพันธกิจหลักของกลุ่มโตโยต้าทั่วโลก และสอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกลยุทธที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศ โดยได้เริ่มแนะนำรถยนต์ bZ4X ซึ่งถือเป็นรถยนต์พลังงานแบตเตอรี่ไฟฟ้ารุ่นแรกของโตโยต้าเข้าสู่ตลาด และยังมีแผนที่จะแนะนำยานยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไป เพื่อรองรับความต้องการและการใช้งานที่หลากหลายของลูกค้าชาวไทย รวมถึงการเตรียมความพร้อมในด้านของกระบวนการผลิตด้วยมาตรฐานคุณภาพที่สูงสุด

ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน ในการศึกษาโครงการต่าง ๆ ร่วมกันทั้งในด้านการสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมรองรับการเติบโตและความนิยมที่เพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบยานยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต

ร่วมโครงการเฉพาะรุ่นขับ 2 ล้อ

แหล่งจากดีลเลอร์โตโยต้าเปิดเผยเพิ่มเติมว่า โตโยต้าเพิ่งประกาศราคาขายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น bZ4X ในประเทศญี่ปุ่น แบ่งเป็น 2 รุ่น รุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ ราคา 6 ล้านเยน หรือราว 1.60 ล้านบาท รุ่นขับเคลื่อน 4 ล้อ (2 มอเตอร์หน้า-หลัง) ราคา 6.5 ล้านเยน หรือราว 1.73 ล้านบาท เมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

แต่เท่าที่ทราบต้นทุนรถอีวีทั้งสองรุ่นสูงมาก และเคยสอบถามทางโตโยต้า ราคาขายตัวขับเคลื่อน 4 ล้อ น่าจะทะลุ 2 ล้านบาท ดังนั้นเป็นไปได้ว่ารุ่นที่จะเข้าร่วมโครงการสนับสนุนรถอีวี เพื่อให้ได้รับเงินอุดหนุนก็น่าจะเป็นรุ่นขับเคลื่อน 2 ล้อ เพียงรุ่นเดียว

ส่วนแผนงานสำหรับเตรียมความพร้อมเพื่อขายรถอีวี ก่อนหน้านี้ ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า โตโยต้ามีความพร้อมด้านโรงงานประกอบ ร่วมถึงโรงงานประกอบแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนสำคัญของรถไฟฟ้า มาไม่น้อยกว่า5 ปี โตโยต้ายังมีโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่

“เพราะฉะนั้น เรามีความพร้อมไปสู่การนำเสนอ การขาย การใช้งาน ในอนาคต ซึ่งโตโยต้า ญี่ปุ่น ตั้งเป้าปล่อยรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30 รุ่น และมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2030 ถึง 3.5 ล้านคัน จากเดิมที่กำหนดไว้แค่ 2 ล้านคัน”

นอกจากนี้ โตโยต้ายังได้เตรียมอีวีอีโคซิสเต็ม เพราะรถยนต์ไฟฟ้า 100%

ฮอนด้าหนุนใช้อีวีสุดตัว

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด เคยกล่าวยืนยันว่า ฮอนด้ามีแผนทำตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว โดยตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน บริษัทได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าฮอนด้า PCX EV จำนวน 150 คัน และ Benly e จำนวน 100 คัน เข้ามาทดลองใช้ในประเทศไทย และวันนี้ฮอนด้าพร้อมร่วมมือเพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมายของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้ไทยเป็นฮับ

ยามาฮ่าขอเอี่ยว

นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด เปิดเผยถึงแผนนำรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาทำตลาด โดยเร็ว ๆ นี้จะนำยามาฮ่า “E01” เข้ามาศึกษาและทดลองใช้งานในประเทศไทย เพื่อเก็บข้อมูลพร้อมทั้งจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ร่วมทดสอบรถ หลังจากได้นำรถคันนี้มาโชว์ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมาและได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวไทยเป็นอย่างมาก

ยามาฮ่า “E01” ให้กำลังไฟฟ้าที่ 8.1 กิโลวัตต์ หรือเทียบเท่ากับรถจักรยานยนต์สันดาปขนาด 125 ซีซี ส่งผลให้เป็นเรื่องที่ดีสำหรับการใช้เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยสามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุดถึง 104 กิโลเมตร ต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (ความเร็วคงที่ 60 กม./ชม.) และสามารถทำความเร็วสูงสุดถึง 100 กม./ชม.

ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ความจุสูง 4.9 กิโลวัตต์/ชม. ที่ยามาฮ่าพัฒนาขึ้น สำหรับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ ทำให้สามารถชาร์จไฟได้ผ่านเครื่องชาร์จแบบเร็ว ที่ระดับแบตเตอรี่ 0% ถึง 90% ได้ภายใน 1 ชั่วโมง

รถจีนยันรอ ปตท.ได้ส่งเสริม BOI

นายวิญญู เหล่าวัฒนา ผู้อำนวยการรัฐกิจสัมพันธ์ แผนกบริหารงานกลาง บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่ยังไม่สามารถเซ็นเข้าร่วมโครงการกับกรมสรรพสามิตได้ ทั้ง ๆ ที่ได้ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์กับกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา เนื่องจากทางบริษัท อรุณพลัส จำกัด บริษัทย่อยของ ปตท. ที่ร่วมทุนกับฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป เพื่อรับจ้างผลิตรถอีวีเนต้า ยังรอการอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งน่าจะเรียบร้อยภายในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้

“แต่แม้จะยังไม่เซ็นสัญญาก็ไม่ได้กระทบภาวะการทำตลาด เนื่องจากบีอาร์จีซึ่งเป็นดีลเลอร์ได้แจ้งลูกค้าชัดเจนว่า รถอีวีเนต้า วี บริษัทตั้งราคาขาย 7 แสนบาท ลูกค้าจะได้รับเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาทจากรัฐบาล ดังนั้นราคาที่ลูกค้าชำระก็เป็นราคาที่หักส่วนได้รับเงินอุดหนุนเรียบร้อยคือ 5.5 แสนบาท” นายวิญญูกล่าว