ค่ายรถใจป้ำเปิด เออร์ลี่รีไทร์ โตโยต้า 54 เดือนมิตซูฯ 30 เดือน

ค่ายรถนำเทรนด์เพิ่มทางเลือกลูกจ้างเปลี่ยนอาชีพ “โตโยต้า” ใจป้ำจ่ายสูงสุด 54 เดือนลดอายุจาก 45 เหลือ 40 ปี ให้สิทธิหัวหน้างานพิจารณา “มิตซูบิชิ” มาตามนัดจ่ายสูงสุด 30 เดือน “ฮอนด้า” ไม่น้อยหน้าบวกเงินพิเศษอีกคนละ 5 แสน ฟาก PMAT ชี้เทรนด์องค์กรใหญ่เข้มบริหาร “กำลังคน” กับ “ปริมาณงาน”

แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงเดือน เม.ย. ต่อเนื่องเดือน พ.ค. 2565 เริ่มมีผู้ประกอบการหลายรายเปิดโครงการสมัครใจลาออก เช่น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เปิดให้พนักงานอายุ 45-54 ปี เป็นพนักงานประจำ และมีอายุงานตั้งแต่ 10 ปี ถึง 25 ปีขึ้นไปที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพเข้าร่วมโครงการได้ โดยจะได้ผลตอบแทนเงินช่วยเหลือตามอายุงาน ต่ำสุด 17 เดือน สูงสุด 30 เดือน โดยให้ยื่นความจำนงต่อต้นสังกัดภายในวันที่ 6 พ.ค. 2565 นี้เท่านั้น

เช่นเดียวกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่เปิดอย่างไม่เป็นทางการแล้ว โดยให้พนักงานยื่นความประสงค์ไปยังหัวหน้างานพิจารณาอนุมัติในเบื้องต้นก่อน แต่แม้หัวหน้างานไม่อนุมัติก็ไม่มีผล โดยจะมีการให้เงินตอบแทนตามกฎหมายแรงงานเบื้องต้น

“โตโยต้า” เปิดทางอายุ 40 ปี

ดร.ภูภาร สมาทา ประธานสหภาพแรงงานโตโยต้า ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โตโยต้าเตรียมประกาศเปิดโอกาสให้พนักงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพสมัครใจลาออกเพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเปลี่ยนสายอาชีพ หรือต้องการไปลงทุนทำธุรกิจ โดยจะมอบเงินพิเศษให้พนักงานสูงสุด 54 เดือน บวกเงินชดเชยตามกฎหมายกำหนด และเงินกองทุนต่าง ๆ

ซึ่งปีนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาส และลดอายุพนักงานที่จะเข้าร่วมโครงการ จากเดิมต้องอายุ 45 ปีขึ้นไป ลดลงเหลือตั้งแต่ 40 ปีก็สมัครได้ คาดว่าบริษัทจะประกาศให้พนักงานทราบภายในวันที่ 5 พ.ค. 2565

“หลังสหภาพได้เจรจากับบริษัทแม่มาต่อเนื่อง 2-3 ปีแล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานที่สมัครลาออกได้มีโอกาสในการเปลี่ยนอาชีพ และมีเงินทุนสำหรับไปต่อยอดสำหรับอาชีพในอนาคตได้ ทำให้เดิมเราเปิดให้พนักงานที่อายุ 45 ปีเข้าร่วม แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่ลดอายุพนักงานลง โดยให้เริ่มตั้งแต่ 40 ปีก็สมัครเข้าโครงการได้”

ดร.ภูภารย้ำว่า โครงการดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการลดจำนวนพนักงานแต่เป็นการสนับสนุนและส่งเสริมตามความสมัครใจของพนักงานอย่างแท้จริง แต่การจะได้รับอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้างาน

ฮอนด้าแจกเพิ่มคนละ 5 แสน

แหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเปิดโครงการ “เกษียณอายุก่อนกำหนด กรณีมีความจำเป็นเฉพาะบุคคล” ตั้งแต่ระดับพนักงานถึงผู้จัดการแผนกที่มีอายุงานเริ่มต้นตั้งแต่ 4 เดือนถึง 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายตั้งแต่ 1-13.33 เดือน บวกเงินช่วยเหลือพิเศษตามอายุ โดยให้เงินช่วยเหลือสูงสุด 20 เดือน สำหรับพนักงานที่อายุครบ 46 ปี แต่ไม่ครบ 51 ปี ถึงพนักงานที่มีอายุ 53 ปี ได้เงินช่วยเหลือพิเศษ 6 เดือน

นอกจากนี้ยังเพิ่มเงินช่วยเหลือ เพื่อขอบคุณสำหรับพนักงานที่ได้ปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาอีกคนละ 500,000 บาท

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากปัจจัยลบต่าง ๆ จากสภาพเศรษฐกิจ ปัญหาโรคระบาด และภาวะสงคราม ล้วนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งในกลุ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วน และโรงงานผลิตรถยนต์ได้มีการปรับแผนการบริหารจัดการกำลังคนให้มีประสิทธิภาพและรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนวิกฤตต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น เช่น การเพิ่มพนักงานอัตราจ้างหรือซับคอนแทร็กต์มากขึ้น เนื่องจากจะสามารถบริหารจัดการกำลังคนได้อย่างรวดเร็ว กว่าในกรณีเกิดวิกฤตหรือต้องการลดกำลังการผลิต อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพได้มีโอกาสและทางเลือกมากขึ้น

PMAT ชี้เทรนด์บริหารองค์กร

ด้านนายบวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมแห่งสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลาย ๆ องค์กรเริ่มให้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์วางแผนการบริหารกำลังคนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด (workforce optimization) โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานตั้งแต่ 5,000-10,0000 คนขึ้นไป เพื่อตรวจสอบว่าแผนกไหน ฝ่ายไหน หรือหน่วยงานไหน มีอัตรากำลังคนมากกว่าปริมาณงาน เพื่อให้การบริหารกำลังคนกับปริมาณงานมีความสมดุลยิ่งขึ้น

รวมไปถึงการตรวจสอบด้วยว่าในแต่ละส่วนงานสามารถจ้างเอาต์ซอร์ซเข้ามาทำงานทดแทนได้หรือไม่ หรืออาจนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาแทนได้ไหม

นอกจากนี้ ยังเริ่มเห็นองค์กรขนาดใหญ่เปิดโครงการเกษียณอายุแบบยืดหยุ่น (flexible retirement program) เช่นกันกับองค์กรขนาดกลางที่มีพนักงานตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป ทยอยเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์รูปแบบต่าง ๆ โดยมีแพ็กเกจจูงใจเพื่อให้พนักงานเลือก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับองค์กรนั้น ๆ ด้วยว่าผลประกอบการดีหรือไม่ ถ้าดี นายจ้างอาจจ่ายให้พนักงานในอัตราที่น่าพอใจ แต่ถ้าไม่ดีก็อาจจ่ายค่อนข้างต่ำ