ฮอนด้าผุดคอนเนอร์ขาย “เครื่องยนต์อเนกประสงค์” วิงส์เซ็นเตอร์

ไทยฮอนด้า

ไทยฮอนด้าบุกตลาด “เครื่องยนต์อเนกประสงค์” ในประเทศ หวังเพิ่มสัดส่วนยอดขายแตะ 10% ภายในระยะเวลา 5 ปี ลุยเต็มสูบ ดูแลงานขาย-หลังการขายครบวงจร นำร่องขายใน “วิงส์ เซ็นเตอร์” 15 สาขา เผยไทยเป็น “ฮับ” ผลิตส่งทั่วโลก

นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด เปิดเผยแผนธุรกิจในส่วนของตลาดเครื่องยนต์อเนกประสงค์ของฮอนด้าว่า หลังจากบริษัทได้ปรับโครงสร้างองค์กรได้ควบรวมกิจการ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด, บริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท เอชพีดี จำกัด เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยใช้ชื่อบริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด

และได้เปลี่ยนจากบริษัท ไทยฮอนด้า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด มาเป็นบริษัท ไทยฮอนด้า จำกัดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อให้การขับเคลื่อนองค์กรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ล่าสุดในส่วนของธุรกิจเครื่องยนต์อเนกประสงค์ ที่อยู่ในความดูแลของไทยฮอนด้านั้น บริษัทมีแผนที่จะบุกตลาดในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้น และเดินหน้าทำตลาดอย่างจริงจัง จากเดิมที่ยอดขายของเครื่องยนต์อเนกประสงค์ หลัก ๆ เป็นตลาดส่งออกมากถึง 93% ส่วนในประเทศขายเพียง 7% หรือ 220,000-230,000 เครื่องต่อปี จากกำลังผลิตที่ 2.8 ล้านเครื่องต่อปี

หลังจากบริษัทเข้ามาดูในส่วนของการขาย การตลาด และบริการหลังการขาย บริษัทได้ตั้งเป้าว่า ภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ หรือปี 2560 จะเพิ่มสัดส่วนยอดขายเป็น 10% หรือขายให้ได้ปีละ 300,000 เครื่องต่อปี

โดยขณะนี้บริษัทได้ทดลองปรับการจำหน่าย จากปัจจุบันที่จำหน่ายผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1.ดีลเลอร์ 175 รายทั่วประเทศ 2.ศูนย์ MMD (Mass Merchandise Distribution) อย่างพวกโฮมโปร โกลบอลเฮ้าส์ ฯลฯ และ 3.โรงงานต่าง ๆ หรือ OEM ที่เป็นตลาดหลักแล้ว

เมื่อล่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บริษัทได้ทดลองจำหน่ายเครื่องยนต์อเนกประสงค์ ผ่านช่องทางศูนย์จำหน่ายรถจักรยานยนต์ “ฮอนด้าวิงส์เซ็นเตอร์” จำนวน 15 สาขา เพื่อทดลองและแนะนำให้เครื่องยนต์อเนกประสงค์สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

“เรามองว่าหลัก ๆ ลูกค้าเราเป็นกลุ่มเกษตรกร ซึ่งการนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในมุมหนึ่งของศูนย์วิงส์เซ็นเตอร์น่าจะไปได้ เพราะลูกค้าเครื่องยนต์อเนกประสงค์ ส่วนใหญ่เขาต้องใช้รถจักรยานยนต์ และยังถือเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้จำหน่ายของเราในช่วงที่ตลาดจักรยานยนต์ซบเซาในช่วงฤดูฝน แต่เครื่องยนต์อเนกประสงค์จะเป็นฤดูการขาย หากโปรเจ็กต์นี้ได้ผล เราจะขยายเพิ่มอย่างแน่นอน”

ส่วนแผนการลงทุนเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้บริษัทยังไม่มีแผนการลงทุน เนื่องจากต้องรอดูแนวโน้มของตลาดหลังวิกฤตโควิด รวมทั้งศักยภาพการผลิตของโรงงานผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ทั้ง 11 แห่งทั่วโลกว่า บริษัทแม่จะมีการบริหารจัดการด้านผลิตอย่างไร ส่วนปีนี้มีการลงทุนมูลค่า 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณประจำปี สำหรับการปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและโรงงาน

ปัจจุบันโรงงานไทยฮอนด้ามีกำลังผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์อยู่ที่ 2.8 ล้านเครื่องต่อปี 93% เป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยตลาดหลักอยู่ที่อเมริกา ยุโรป และประเทศต่าง ๆ 53 ประเทศทั่วโลก และมีการกระจายไปขายกว่า 85 ประเทศทั่วโลก และมีการผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์จากประเทศไทยไปแล้วกว่า 45 ล้านเครื่อง

โดยถือเป็นโรงงานผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกของฮอนด้า ด้วยกำลังผลิต 2.8 ล้านเครื่องต่อปี และเป็นโรงงานที่มี take time หรือระยะเวลาในการผลิตเร็วสุดเพียง 16 วินาทีต่อเครื่อง และช้าสุดเพียง 24 วินาทีเท่านั้น

โดยผลิตเครื่องยนต์อเนกประสงค์ป้อนให้กับ 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มเกษตร กลุ่มงานก่อสร้าง และกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป

และแบ่งมีการผลิตสินค้าหลัก 8 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องยนต์อเนกประสงค์, เครื่องกำเนิดไฟฟ้า, เครื่องสูบน้ำ, เครื่องพ่นยาสะพายหลัง, เครื่องตัดหญ้า, รถตัดหญ้า, รถไถพรวนดิน

ส่วนเครื่องยนต์ติดท้ายเรือสปีดโบ๊ตนั้น ปัจจุบันมีผลิตเพียงแห่งเดียวคือโรงงานที่ญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยนั้นเป็นการนำเข้ามาเพื่อจัดจำหน่าย