คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
เสื้อเคบายา (Kebaya) ของประเทศไทยได้ถูกบรรจุไว้ในเอกสารรายการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกร่วม” หรือรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ เพื่อเสนอต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับมาเลเซีย-บรูไน-อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งทั้ง 5 ชาติต่างก็มีเสื้อเคบายาเหมือน ๆ กัน
โดยเสื้อเคบายาจัดเป็นเสื้อผ้าสตรีที่ใช้กันในกลุ่มวัฒนธรรมเพอรานากัน (Peranakan) หรือบาบ๋า-ย่าหยา (Baba-Nyonya) ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างคนมลายูท้องถิ่นในคาบสมุทรมลายูกับคนจีน นับตั้งแต่ภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกาะภูเก็ต ไปจนกระทั่งถึงผู้คนในบริเวณช่องแคบมะละกา เฉพาะคำว่าเพอรานากัน หรือเปอรานากัน ก็มีความหมายว่า “เกิดที่นี่” อยู่แล้ว ทาง Museum Thailand ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า เสื้อเคบายามีถึง 3 แบบด้วยกันคือ
1)เคบายาลินดา (Kebaya Renda) โดดเด่นด้วยการใช้ผ้าลูกไม้ นิยมในช่วงประมาณ พ.ศ. 2463-2473 ใช้ผ้าป่านรูเบียชนิดหนาหลากสีในการตัดเย็บ สาบเสื้อและริมสะโพกจะมีลายดอกทำจากผ้าลูกไม้ยุโรป ตัวเสื้อไม่มีกระดุม จะใช้เครื่องประดับในการกลัดติดแทน
2)เคบายาบีทู (Kebaya Biku) โดดเด่นด้วยการฉลุลาย นิยมในช่วงประมาณ พ.ศ. 2473-2483 เสื้อจะมีการฉลุลายเล็ก ๆ ริมขอบสาบเสื้อด้านหน้า รอบสะโพกจะมีการตัดเย็บคล้ายการคัตเวิร์ก ต่อมามีการใช้จักรเย็บผ้าเข้าช่วยตัดเย็บและฉลุลายผ้าได้
และ 3)เคบายาชูเลม (Kebaya Sulam) โดดเด่นด้วยสีสันและลายฉลุที่ซับซ้อน นิยมในช่วงประมาณ พ.ศ. 2483-2500 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการฉลุลายที่ประณีตงดงามมากยิ่งขึ้นและเน้นสีสันสวยงาม ต่อมาได้ลดความนิยมลง และเริ่มนำมาฟื้นฟูในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกครั้ง โดยเสื้อเคบายาแบบนี้ทำให้วัฒนธรรมแบบบาบ๋าในภูเก็ตกลับมาเป็นที่โด่งดังในปัจจุบัน
ความโดดเด่นของเสื้อที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมเพอรานากัน ได้ถูกนำเสนอไว้ในหัวข้อที่ว่า เคบายา : ความรู้ ทักษะ ประเพณี และการปฏิบัติ หรือ Kebaya : knowledge, skills, tradition and practices เพื่อให้ UNESCO พิจารณาในฐานะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ จากการเป็นชุดสวมใส่ในชีวิตประจำวัน และในโอกาสสำคัญ ๆ มีการพัฒนาไปตามกาลเวลาของผู้หญิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นเครื่องแต่งกายที่สะท้อนรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วมกันของ 5 ชาติ
การทำเสื้อจะต้องใช้ทักษะความรู้เฉพาะด้าน ทั้งการเลือกแบบ ผ้า การตัดเย็บ และการปัก ล้วนแล้วแต่เป็นทักษะที่ได้รับการถ่ายทอดต่อ ๆ กันมาจากคนในครอบครัว จนจัดเป็น “มรดกร่วมกัน” ของประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (มาเลเซีย-บรูไน-อินโดนีเซีย-สิงคโปร์-ไทย) อย่างที่ไม่อาจแยกกันได้ กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทั้ง 5 ชาติอาเซียนจะต้องยอมรับที่จะต้องเสนอตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติร่วมกัน
นับเป็นก้าวสำคัญของชาติสมาชิกอาเซียนในความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม ยอมรับการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรม การเป็นเจ้าของร่วมกัน ดีกว่าที่จะมาแบ่งแยกเหมือนกับที่กำลังจะเกิดขึ้นกับกรณี “มวยไทย” กับ “กุนขแมร์”
หลังจากที่กัมพูชาตัดสินใจเสนอมวยเขมร หรือกุนขแมร์ หรือกุนลโบตากอ (Kun Lbokator) เข้ามาอยู่ในบัญชีมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของ UNESCO แต่เพียงประเทศเดียว โดยก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ ประเทศไทย ที่เห็นว่า ศิลปะการต่อสู้ที่เรียกกันว่า “มวย” นี้มีมาอย่างแพร่หลายยาวนานในชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ จนอาจกล่าวได้ว่า มีความคล้ายคลึงกันอย่างแยกไม่ออกก็ว่าได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เสนอรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของประเทศไทยไปแล้วจำนวน 6 รายการ โดยได้รับการประกาศให้ขึ้นทะเบียนแล้ว 3 รายการ ได้แก่ โขน, นวดไทย, โนรา
ส่วนอีก 3 รายการคือ สงกรานต์ในประเทศไทย ต้มยำกุ้ง และผ้าขาวม้า กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของ UNESCO