น้องเก๊กฮวย สาย (ศรี) เหลือง

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมถวิล ลีลาสุวัฒน์

วันก่อนเอาฤกษ์เอาชัยไปทดลองนั่งประเดิมจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเหลืองอย่างเป็นทางการ เมื่อจันทร์ 3 ก.ค. 2566 รู้สึกตื่นเต้นนิด ๆ กับการได้ใช้ของใหม่โครงการใหม่

จาก “สถานีลาดพร้าว (รัชดาฯ)-สำโรง” ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร จำนวน 23 สถานี ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 45 บาท หลังเปิดให้บริการฟรีมาแล้วประมาณ 1 เดือนกับ 13 สถานี จากสำโรง-หัวหมาก

กรณีจ่ายค่าแรกเข้าครั้งเดียว หากเราต้องเดินทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าในจุดต่าง ๆ รวม 4 จุดของสายสีเหลือง ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดูแลอยู่ เราจะไม่เสียค่าแรกเข้าแต่อย่างใด

แต่ถ้าเราเปลี่ยนถ่ายระบบรถไฟฟ้าของ รฟม. ไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของ รฟม. เราถึงจะจ่ายเพิ่ม ยกเว้นยังอยู่ในเวลาที่กำหนด แรก ๆ อาจงง ๆ ต่อไปจะชิน

ส่วนการรอ 5 นาที หากเป็นชั่วโมงเร่งด่วน ถ้าเวลาปกติรอ 10 นาที ช่วงนี้เราสามารถถ่ายรูปวิวนอกเมืองได้สบาย ๆ

รถไฟฟ้าสายนี้วิ่งให้บริการตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน เหมือน BTS-BEM

แต่ความต่างของน้องเก๊กฮวย ซึ่งเป็นชื่อเล่นที่สัมผัสได้คือ ไม่ว่าจะยืนหรือนั่ง เราจะรู้สึกโยกเยก เหมือนนอนเปล

เพราะตัวระบบมีขนาดเล็ก คล้ายรถการ์ตูน ดูน่าเอ็นดู ไม่ต่างจากสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธน-คลองสาน (ไอคอนสยาม)

ซึ่ง รฟม.ตั้งใจออกแบบให้เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (feeder line) จากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ กับบางส่วนของสมุทรปราการ ก่อนเชื่อมรถไฟฟ้าสายหลักทั้ง MRT และ BTS

เช่น จุดเชื่อมสายสีน้ำเงินที่สถานีลาดพร้าว จุดเชื่อมต่อสายสีเขียวที่สถานีสำโรง จุดเชื่อมต่อสายสีส้ม (ยังไม่เปิดให้บริการ) คือ สถานีลำสาลี และจุดเชื่อมแอร์พอร์ตลิงก์คือ สถานีหัวหมาก

รถไฟฟ้าน้องเก๊กฮวยจะมีอาคารจอดรถให้บริการ ราคาพอรับได้ที่ สถานีศรีเอี่ยม (หน้าวัดศรีเอี่ยม ตัดถนนบางนา) และสถานีลาดพร้าว (ตัดถนนรัชดาภิเษก ใกล้ศาลอาญา)

อีกความต่างคือ ชื่อสถานี จะมีคำว่า “ศรี” เยอะมาก จนผู้โดยสารแซวว่า น่าจะชื่อ รถไฟฟ้าสายศรีเหลือง

ไล่ชื่อสถานีเริ่มที่ ลาดพร้าว ภาวนา โชคชัย 4 ลาดพร้าว 71 ลาดพร้าว 83 มหาดไทย ลาดพร้าว 101 บางกะปิ แยกลำสาลี ศรีกรีฑา หัวหมาก กลันตัน ศรีนุช ศรีนครินทร์ 38 สวนหลวง ร.9 ศรีอุดม ศรีเอี่ยม ศรีลาซาล ศรีแบริ่ง ศรีด่าน ศรีเทพา ทิพวัล และสำโรง รวม 9 สถานี ที่ขึ้นต้นว่า “ศรี”

ถามไถ่ “กรมการขนส่งทางราง” ท่านแจงว่า การตั้งชื่อเป็นไปตามหลักสากล คือ ง่าย จดจำได้ดี, กระชับได้ใจความ ไม่เกิน 5 พยางค์ ภาษาอังกฤษไม่เกิน 15 ตัวอักษร, ยั่งยืน, ระบุตำแหน่งชัดเจน เกี่ยวข้องกับพื้นที่, ชื่อเฉพาะ ต้องไม่ซ้ำกัน หรือสร้างความสับสน และต้องเชื่อมโยงกัน

อย่างสถานีศรีนครินทร์ สถานีศรีเอี่ยม พอเข้าใจง่าย เพราะทำเลที่ตั้งชัด

ส่วนสถานีศรีกรีฑา ชื่อถนนศรีนครินทร์ + แยกกรุงเทพกรีฑาพอเข้าใจง่ายนิดเดียว

ที่ไม่เข้าใจคือ สถานีศรีนุช ศรีอุดม ศรีลาซาล ศรีแบริ่ง ศรีด่าน ศรีเทพา ที่มีชื่อ “ศรี” เรียงติด ๆ กัน ทำเอาผู้โดยสารส่วนใหญ่สับสน ต้องหันหน้าถามกันเอง เมื่อเสียงประกาศชื่อสถานีผ่านไป ศรีอะไรนะ เพราะกลัวเลยป้าย

หรือเราอาจจะใหม่เกินไปในการใช้บริการ อีกหน่อยคนอาจจะเริ่มชิน แต่ขาจร ทำใจไว้หน่อยก็ดี

เพราะชื่อถนน-ชื่อสถานี ตั้งให้ง่ายก็จำง่าย

ถ้าตั้งชื่อซ้ำก็อาจงง และเข้าใจคลาดเคลื่อน

อย่างชื่อถนนประชาอุทิศ ในกรุงเทพฯ ซ้ำกัน 3 แห่ง คนละทิศ คือประชาอุทิศ ฝั่งธนแถวทุ่งครุ ประชาอุทิศแถวดอนเมือง และประชาอุทิศ ย่านเหม่งจ๋าย ส่วนชื่อถนนสุขาภิบาลก็เต็มไปหมด

การใช้ชีวิตในยุคอยากให้ประชาธิปไตยเบ่งบาน ว่ายากแล้ว อย่าให้ต้องมาเสียเวลากับการสื่อสาร เรียกชื่อถนน-ชื่อสถานีแบบซ้ำ ๆ งง ๆ กันอีกเลย