ประเทศไทยจมปลัก

คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

วันก่อน (2 ส.ค.) ดูเหมือนว่าความเคลื่อนไหวในการจัดตั้งรัฐบาลจะเริ่มเค้าลางที่ชัดเจนขึ้น

หลังพรรคเพื่อไทยที่ได้ที่นั่งเป็นอันดับ 2 ในสภา 141 ที่นั่ง ฉีกเอ็มโอยู ถอนตัวจากการร่วมมือกับพรรคก้าวไกล และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมใหม่ พร้อมกับจะเสนอชื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ถัดมาอีกวัน (3 ส.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนการพิจารณาคำร้องเสนอชื่อ “พิธา” โหวตนายกฯ รอบ 2 และนัดใหม่ 16 ส.ค.นี้

ตามต่อด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ออกมาย้ำว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีที่เดิมจะมีในวันที่ 4 ส.ค. คงต้องรอหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะมีคำสั่งอย่างไร ในวันที่ 16 ส.ค.อีกครั้ง

แม้วาระการเสนอชื่อนายกฯจะถูกเลื่อนออกไปอีกระยะหนึ่ง แต่หากพรรคเพื่อไทยสามารถ “ดีล” ประสานสิบทิศทุกอย่างได้ลงตัว คาดว่าอีกไม่นานเกินรอก็คงเห็นรูปร่างหน้าตาคณะรัฐมนตรี ใคร-พรรคไหน จะได้เก้าอี้กระทรวงอะไรบ้าง ส่วนจะมีเสียงปรบมือหรือเสียงร้องยี้ตามมาก็มิอาจคาดเดาได้

ส่วนพรรคก้าวไกลที่ได้ที่นั่งในสภา 151 ที่นั่ง ก็ต้องตกไปเป็นฝ่ายค้านโดยดุษณี

ย้อนกลับไปในวันที่พรรคเพื่อไทยตั้งโต๊ะแถลงข่าว (2 ส.ค.) นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย อ่านแถลงการณ์ซึ่งมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ขออนุญาตคัดลอกมาดังนี้ “…เราจะผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอันเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ และก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ของประเทศ โดยกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยเริ่มจากมติ ครม.ในการประชุมครั้งแรก ให้มีการทำประชามติ และจัดตั้ง สสร. ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ รัฐบาลจะคืนอำนาจให้ประชาชนได้เลือกตั้งใหม่ภายใต้กรอบกติกาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

หลาย ๆ คนคงจำได้ขึ้นใจว่า รัฐธรรมนูญ ปี’60 เป็นผลพวงของการรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร

จริง ๆ แล้ว คอการเมืองก็คงรับทราบกันดีว่า เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 นี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ และการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งก็ได้หยิบยกเรื่องแก้รัฐธรรมนูญมาเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงด้วย ไม่ว่าจะเป็น ก้าวไกล เพื่อไทย ไทยสร้างไทย รวมถึงพรรคชาติไทยพัฒนา และหลายพรรคก็ไม่ได้มีนโยบายเรื่องนี้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา นักวิชาการ นักการเมือง ต่างวิพากษ์วิจารณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญบิดเบี้ยวและเป็นตัวทำลายให้ประชาธิปไตยเสื่อม ทั้งประเด็นการมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน และองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญ

ส่วนอาจจะสะท้อนได้จากการโหวตเลือกนายกฯ เมื่อ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่บรรดา สว.พร้อมใจกันแสดงพลัง ไม่เอา “พิธา” ไม่เอา “ก้าวไกล” และการเลือกนายกฯ ก็ยืดเยื้อมาจนถึงวันนี้

วกกลับมาเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ผมคนหนึ่งละที่ยกมือสนับสนุนเต็มที่

แม้จะเป็นเรื่องยาก เพราะคนร่างตั้งใจวางหมากเอาไว้ เพราะต้องได้เสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของ 2 สภา ทั้ง สส. และ สว. และยังต้องอาศัยเสียง สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 และต้องมีเสียงฝ่ายค้านอีก 20% ด้วย

แต่ทุกพรรคก็ต้องร่วมแรงร่วมใจ และคิดว่าเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ นักวิชาการ ก็อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

เมื่อมีโอกาสต้องลงมือทำทันที และอวยพรให้ประสบความสำเร็จ แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นรัฐธรรมนูญเต็มใบกันเสียที

คนไทย เศรษฐกิจไทย บอบช้ำกับรัฐธรรมนูญจอมปลอมฉบับนี้มานานแล้ว

หากยังไม่รีบเร่งแก้ไข คนไทย เศรษฐกิจไทย คงต้องจมปลักอยู่ในตมแบบนี้ไปอีกนานเท่านาน และมองไม่เห็นอนาคต