ถึงเวลาปลดระวาง

เกษียณอายุ
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สมปอง แจ่มเกาะ

ช่วง 1-2 เดือนมานี้ ทุกครั้งที่มีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่สมัยมัธยม และเพื่อนเรียนมหาวิทยาลัย

หลังจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว ส่วนใหญ่ 80-90% เพื่อน ๆ มักจะประกอบอาชีพรับราชการ เป็นครูบาอาจารย์ เป็นพยาบาล เป็นหมอ เป็นเภสัชกร เป็นนายช่าง เป็นนักปกครอง ฯลฯ เสียดายที่ผมไม่ค่อยมีเพื่อนเป็นทหาร ตำรวจ และน้อยคนนักที่จะทำงานบริษัทเอกชน

เรื่องที่คุยกัน หัวข้อที่สนทนากัน หลัก ๆ นอกจากจะไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบแล้ว คำถามที่เพิ่มเข้ามาระหว่างการสนทนาที่โฟกัสมากเป็นพิเศษ เช่น สิ้นปีนี้ (กันยายน) จะปลดเกษียณหรือยัง หรือเกษียณปีหน้า ? เกษียณแล้วจะทำอะไร ? จะไปลงหลักปักฐานอยู่ที่ไหน ? กลับไปอยู่บ้าน (บ้านเกิด) หรือไม่ ?…อะไรทำนองนี้

นั่นเพราะว่าจากนี้ไปอีกสัปดาห์เดียวก็จะสิ้นเดือนกันยายน เพื่อนฝูงที่รับราชการและมีอายุครบ 60 ปี ก็จะถึงเวลาปลดเกษียณแล้ว และถึงเวลาที่จะได้พักผ่อนยาว ๆ หลังจากที่ทำงานมาเกือบตลอดชีวิต หลายคนรับราชการมาตั้งแต่ก้าวออกจากมหาวิทยาลัย มีหลายคนที่นับอายุราชการได้ 30-36 ปี เลยทีเดียว

หลังจากปลดเกษียณไปแล้ว หากมีโอกาสได้แวะเวียนไปเที่ยวหรือทำธุระที่จังหวัดไหน ก็จะได้นัดเจอะเจอกันได้ จะได้นั่งสรวลเสเฮฮาฟื้นความหลังกันบ้าง ตามประสาคนคุ้นเคย

จากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เท่าที่พอจะค้นหาและสรุปมาได้ พบว่าในแต่ละปีจะมีจำนวนข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ ประมาณ 3 หมื่นคน จากจำนวนข้าราชการประมาณ 1.7 ล้านคน

ช่วงนี้จึงมีภาพของการจัดงานเลี้ยงส่งเลี้ยงการเกษียณของข้าราชการหลาย ๆ หน่วยงานกันอย่างคึกคัก ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

แม้อายุจะ 60 ปี และเกษียณราชการไปแล้ว แต่หลาย ๆ คนก็ยังสามารถกระฉับกระเฉง แข็งแรง บวกกับประสบการณ์การทำงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน เขาเหล่านี้ยังสามารถที่จะทำประโยชน์ให้ประชาชนและประเทศชาติได้อีกหลายปี

อีกนั่นแหละ อีกด้านหนึ่งก็มีผู้อาวุโสอีกหลายท่านที่อยากจะพักผ่อน ต้องการจะใช้ชีวิตอย่างสงบ อยู่กับลูก ๆ หลาน ๆ ปลูกผักปลูกต้นไม้ เข้าวัดเข้าวาฟังเทศน์ฟังธรรม ฯลฯ เพื่อหาความสุขในช่วงบั้นปลายของชีวิต

จะว่าไปแล้ว อาชีพข้าราชการ ไม่ใช่ว่าใครจะเป็นได้ง่าย ๆ โดยเฉพาะการเป็นข้าราชการที่ดี ดังนั้น คนที่รับราชการได้จะต้องเป็นคนที่มีดีเอ็นเอชนิดพิเศษที่ไม่เหมือนใคร

อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่ต้องมีประการแรกเลยก็คือ ต้องยอมรับให้ได้ว่า อาชีพรับราชการเงินนั้นเงินเดือนน้อย งานหนัก ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด กระเบียดกระเสียร รู้จักอดออม

ถัดมาต้องเป็นคนที่มีจิตใจสาธารณะ ต้องเป็นผู้รับใช้ประชาชน และเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ขณะเดียวกันก็ต้องเป็นคนที่ยึดมั่นในหลักการในการรักษาผลประโยชน์ของราชการและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญ ต้องไม่คดไม่โกง ไม่ฉ้อราษฎร์บังหลวง

ดังนั้น คนที่รับราชการและอยู่มาจนถึงวันเกษียณได้โดยไม่ด่างพร้อย ไม่มีมลทินที่มัวหมอง ก็ย่อมถือว่าไม่ธรรมดาและต้องปรบมือสรรเสริญในคุณงามความดีที่ทำไว้

ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่า เสียดาย เมื่อคนดีมีฝีมือเหล่านี้ที่ต้องถึงเวลาปลดระวางไป ด้านหนึ่งก็อาจจะทำให้ระบบราชการที่อ่อนล้าอยู่แล้ว ตกอยู่ในอาการอ่อนแรงมากขึ้นไปอีก

เอานะ…หากมองในมุมดี เมื่อคนเก่าต้องวางมือและถึงเวลาพักผ่อน อีกด้านหนึ่งก็อาจจะเป็นโอกาสและเป็นเวลาของข้าราชการน้ำดีที่เป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะพัดเข้ามาแทนที่

แต่ตรงกันข้ามก็ต้องสาปแช่ง ข้าราชการกังฉิน รวมถึงผู้ที่ยอมเป็นเบี้ยล่างให้นักการเมือง โดยไม่คำนึงถึงความผิดชอบชั่วดี

บ่นมาเสียยาว ท้ายนี้ไม่มีอะไรมาก นอกจากขออวยพรให้ทุก ๆ คน โชคดี มีความสุขกับการพักผ่อนในบั้นปลาย สุขภาพแข็งแรงตลอดไป

อีกไม่นานผมเองก็กำลังตามทุกท่านไปติด ๆ