Market-think : หมูบอลโลก

ฟุตบอลโลก
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

โลกหมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงเร็วจริง ๆ ครับ

ตัวอย่างที่ดีที่สุด คือ เรื่องการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

ในอดีต การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกเป็นเรื่องที่นักการเมืองสามารถนำมาใช้หาเสียงได้

รัฐบาลไหนทำให้คนไทยได้ดูบอลโลกฟรี

คนจะเชียร์

แต่วันนี้คนไทยฉลาดขึ้น

เขาไม่ได้คิดแค่เพียงได้ดูบอลโลกฟรีแล้วดีใจ

แต่เริ่มตั้งคำถามว่าเงินที่รัฐต้องเสียไปเพื่อให้คนไทยได้ดูบอลฟรีมันคุ้มค่าหรือไม่

เพราะครั้งนี้ต้องใช้เงินถึง 1,591 ล้านบาท

หรือ 42 ล้านเหรียญ

เป็นค่าลิขสิทธิ์ 36 ล้านเหรียญ ที่เหลือเป็นค่าภาษีและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ

ตอนแรกรัฐบาลคงคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ได้คะแนน

และคิดง่าย ๆ ว่าแค่เอาเงินจาก กสทช.มาใช้ก็เรียบร้อยแล้ว

ง่าย ๆ สบาย ๆ ไม่ต้องไปหักคอจากภาคเอกชน

เขาลืมไปว่าคนไทยฉลาดขึ้น และรู้จักตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของการใช้จ่ายเงิน

กสทช.มีเงินกองทุนอยู่ 2,000 ล้านบาท เอาไว้ใช้พัฒนาระบบโทรคมนาคมเพื่อคนด้อยโอกาส

แต่รัฐจะไปล้วงเงินในกระเป๋ากองทุนนี้มา 1,600 ล้านบาท เพียงเพื่อให้ “คอบอล” ได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกฟรี

ขนาดผมเป็น “คอบอล” ที่อยากดูบอลโลกยังอายเลยครับ

โชคดีที่ กสทช.ยังมีสติพอที่จะยอมจ่ายแค่ 600 ล้านบาท

แต่ 600 ล้านบาทหลายคนก็ยังบอกว่าเยอะเกินไป

ถามว่าปัญหาของเรื่องนี้คืออะไรครับ

เพราะประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกต่ำกว่าเมืองไทย

เวียดนาม 532 ล้านบาทเองครับ

จำนวนประชากรก็ใกล้เคียงกัน ถ่ายทอดสดครบ 64 แมตช์เหมือนกัน

อินโดนีเซีย ประชากรมากกว่าไทยหลายเท่า ยังจ่ายค่าลิขสิทธิ์ 1,456 ล้านบาท

ส่วนประเทศอื่น ๆ น้อยกว่าไทยทั้งนั้น

เหตุผลที่ไทยต้องซื้อแพงกว่า และฝ่ายลิขสิทธิ์ฟีฟ่าไม่ยอมลดราคาให้เลยมาจากเหตุผลเดียวเลยครับ

คือ รัฐบาลประกาศว่าจะซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกให้คนไทยได้ดูบอลฟรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามในที่ประชุม ครม.เลย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็รับลูกทันที

ยืนยันว่าคนไทยได้ดูบอลโลกฟรีแน่นอน

สมมุติว่าคุณเป็น “คนขาย” เห็นข่าวนี้แล้วคุณจะยืนราคาเดิมหรือลดราคาให้

เพราะจากการซื้อขายปกติ กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว

นักการเมืองไม่ยอมเสียหน้าหรอกครับ

ไม่เช่นนั้นก็เสียคะแนน

เมื่อเรารู้ว่า “คนซื้อ” ต้องซื้อให้ได้

แล้วทำไมเราต้องลดราคาใช่ไหมครับ

ตามปกติของการซื้อขายลิขสิทธิ์ ยิ่งใกล้เวลาถ่ายทอดสดมากเท่าไร คนที่ถือลิขสิทธิ์จะต้องลดราคาลง

เพราะลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาเป็นสินค้าที่เน่าเสียง่าย

ทันทีที่การแข่งขันเริ่ม สินค้าจะเริ่มมีกลิ่น และเน่าไปเรื่อย ๆ

แข่งจบเมื่อไร หมดค่าทันที

ดังนั้น คนที่ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด เขาจะพยายามสะกิดให้เอกชนมาประมูลเยอะ ๆ เพื่อจะได้แข่งขันกัน

และจะกำหนดเวลายื่นประมูลก่อนการแข่งขันนานพอสมควร

แต่บอลโลกคราวนี้ แทบจะไม่มีภาคเอกชนไทยสนใจเลย

เพราะกฎ Must Have ของ กสทช.ที่ให้คนไทยต้องดูฟรี

ค่าลิขสิทธิ์ต้องต่ำมาก ถึงจะทำธุรกิจได้โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้

แต่เพราะประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่เข้าใจเรื่องธุรกิจ

อยู่ดี ๆ ก็โพล่งในที่ประชุม ครม. ให้ “คนขาย” ได้รู้ว่ารัฐบาลไทยเอาแน่นอน

เรียบร้อยเลยครับ

ที่สำคัญมีผู้ใหญ่ในวงการทีวี 2 คนยืนยันว่าตัวเลขค่าลิขสิทธิ์ที่เคยเสนอมาแค่ 30 ล้านเหรียญ

เขาสงสัยว่าทำไมถึงมือรัฐบาลจึงกลายเป็น 36 ล้านเหรียญ

และยังมีค่าอื่น ๆ รวมเป็น 42 ล้านเหรียญ

หรือว่า เป็นปรากฏการณ์ “ค่าเงินบาทลอยตัว”

…ก่อนเลือกตั้ง