กกท. เจรจา ฟีฟ่า ลดค่าลิขสิทธิ์บอลโลก-เอกชนร่วมลงขันแล้ว 4 ราย

world cup 2022 qatar ฟุตบอลโลก
Photo from qatar2022.qa

กกท. เจรจา ฟีฟ่า-เอเย่นต์ ขอลดค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เหลือ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ-เอกชนตอบรับร่วมลงขันแล้ว 4 ราย ด้าน รักษาการเลขาฯ กสทช. รับ Must Have-Must Carry มีปัญหา เตรียมหารือ-ทำประชาพิจารณ์ แก้รายละเอียดกฎต่อไป

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 มติชนรายงานความคืบหน้าการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ หลังจากคณะกรรมการ กสทช. อนุมัติการใช้เงินลงทุนจากกองทุน กทปส. เพื่อสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์จำนวน 600 ล้านบาท กับเวลาที่เหลืออีกเพียงไม่กี่วันข้างหน้าก็จะเริ่มเปิดสนามแข่งแล้ว

กกท. เจราจา ฟีฟ่า ลดค่าลิขสิทธิ์บอลโลกเพิ่ม

เมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 2565) ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวมติชนว่า ก่อนหน้านี้ทาง กกท.ได้ทำหนังสือส่งถึงสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และทางอินฟรอนท์ บริษัทที่เป็นตัวแทนของฟีฟ่าในการเจรจาลิขสิทธิ์ เพื่อให้ช่วยพิจารณาลดราคาที่เคยเสนอมาเหลือ 36 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,326.24 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 10 พ.ย. 2565)

โดยทางฟีฟ่ามีหนังสือตอบกลับมาว่าเข้าใจ และอยากให้ประเทศไทยได้รับชมฟุตบอลโลก 2022 ให้ทาง กกท.ติดต่อกับอินฟรอนท์ต่อไป ซึ่งตอนนี้ได้ส่งจดหมายไปแล้วว่า กกท.ได้รับเงินสนับสนุนจาก กสทช. 600 ล้านบาท ให้ช่วยพิจารณาค่าลิขสิทธิ์ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้ลดราคาลงมาเหลือเท่าไหร่ เพราะคราวก่อนขอให้ลดจาก 38 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็ลดลงมาเหลือ 36 ล้านเหรียญเท่านั้น ซึ่งตัวเลขนั้น กกท.ได้นำไปเป็นกรอบในการเสนอกับ กสทช. แต่ยังไม่ได้ตอบรับหรือตกลงราคาดังกล่าวไป” ดร.ก้องศักดกล่าว

ผู้ว่าการ กกท.กล่าวต่อว่า ส่วนกระแสข่าวที่บอกว่ามีเอกชนเข้ามาร่วมแล้วนั้น ยังไม่ทราบว่าจะมีใคร และแต่ละบริษัทให้เท่าไหร่บ้าง ต้องรอดูความชัดเจนกันต่อไปก่อน ขณะที่เงื่อนไขที่คุยกับเอกชนถึงสิ่งที่พวกเขาจะได้รับตอบแทน ก็จะเป็นเรื่องของสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ การประชาสัมพันธ์หน่วยงานนั้น ๆ ผ่านช่องทางที่เราได้สิทธิมา ขณะที่เรื่องของการลดหย่อนภาษี จะต้องไปดูที่ข้อกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง และต้องนำไปพูดคุยกับกระทรวงการคลังก่อน

“ตอนนี้การคุยกับเอกชนเราต้องหาจำนวนเงินมาให้ได้มากที่สุด เพราะเงินที่ กสทช.อนุมัติให้มามันน้อยกว่าที่คาดเอาไว้มาก ดังนั้น จึงต้องเร่งทำงานหนักกันต่อไป” ดร.ก้องศักดกล่าว

ดร.ก้องศักดกล่าวอีกว่า ไทม์ไลน์ตอนนี้คือ รอทางอินฟรอนท์เคาะราคามา แล้วก็ไปพูดคุยกับเอกชน หาเงินให้ได้ครบตามจำนวน และทำข้อตกลงสัญญาต่าง ๆ ส่งให้อัยการสูงสุดตีความ จึงนำไปเซ็นสัญญาได้ และคนไทยก็จะได้ดูฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายกัน ซึ่งยังมีกระบวนการอีกมากกว่าจะถึงตรงนั้น และต้องทำงานอย่างหนักเพราะเหลือเวลาไม่มาก เนื่องจากเดดไลน์ของฟีฟ่าที่กำหนดไว้ในการซื้อลิขสิทธิ์คือก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์

เอกชนยืนยัน ร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์แล้ว 4 ราย-ปธ.ซีเอ็ด ขอรัฐตรวจสอบ 3 ประเด็น สัญญาลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก

มติชนรายงานว่า รัฐบาลได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากภาคเอกชนรายใหญ่ได้แล้ว 4 ราย วงเงิน 800 ล้านบาท ส่วนอีก 1 ราย จำนวน 200 ล้านบาท กำลังรอการยืนยันคำตอบ

ขณะเดียวกัน นายเกษมสันต์ วีระกุล โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Kasemsant AEC ระบุว่า จากประสบการณ์ที่เคยถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก อยากให้รัฐบาลตรวจสอบ 3 เรื่องนี้

1.สัญญาณการถ่ายทอดสดเซ็นตรงกับฟีฟ่าหรือไม่ ก่อนหน้านี้เคยมีการอ้างว่าฟีฟ่าไม่เซ็นโดยตรง เลยมีคนไปตั้งบริษัทกลางรับสิทธิฟีฟ่าแล้วมาขายต่อ ตอนหลังตรวจสอบพบว่าเป็นบริษัทที่คนไทยเป็นเจ้าของ เป็นคนที่มีบทบาทในวงการฟุตบอลบ้านเราและระดับสากล บริษัทดังกล่าวได้รับส่วนต่างไปพอสมควร

2.ถ้าต้องเซ็นกับนายหน้า ต้องขอดูค่าถ่ายทอดสด ต้องขอสัญญาที่เขาเซ็นกับฟีฟ่ามาดู จะได้เห็นว่าเขาจ่ายไปเท่าไร และเอามาขายรัฐบาลเท่าไร สมัยก่อนค่าถ่ายทอดสดหลักห้าร้อยล้านบาท ครั้งนี้ขยับเป็นพันล้านบาท ส่วนต่างคงมากพอสมควร เป็นเงินภาษีอากรคนทั้งประเทศ ต้องพิจารณาให้ดี

3.สัญญาที่จะเซ็น เป็นแพ็กเกจที่รวมเพื่อนบ้าน สมัยก่อนสิทธิการถ่ายทอดสด ไทย กัมพูชา เมียนมา ถูกรวมไว้เป็นแพ็กเกจเดียวกัน บริษัทนายหน้านำเงินไปซื้อลิขสิทธิ์มา พอได้สิทธิกัมพูชาและเมียนมาไปแบ่งขายนำเงินเข้าบริษัทตัวเองได้กำไรไปอีกต่อ

กสทช. เตรียมถอด “บอลโลก” ออกจาก มัสต์แฮฟ-มัสต์แครี่

จากกรณีกฎมัสต์แฮฟ (Must Have) และมัสต์แครี่ (Must Carry) ที่มีการกำหนดให้การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เป็นรายการถ่ายทอดสดที่บังคับให้ออกอากาศทางฟรีทีวีทุกแมตช์ จนกลายเป็นผลกระทบของภาคเอกชนที่ไม่มีเจ้าไหนกล้าลงทุน และทำให้ภาครัฐต้องลงทุนกับการซื้อลิขสิทธิ์เองในที่สุด

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวมติชนว่า จะมีการปรับปรุงแน่นอน ตอนที่คณะกรรมการชุดเก่าออกกฎนี้มา รูปแบบ แพลตฟอร์ม ยังไม่เยอะเท่าปัจจุบัน ตอนนั้นแค่ต้องการให้คนไทยได้รับชมกีฬาดี ๆ จึงตั้งเป็นกฎ Must Have และอยากให้เข้าถึงทุกคนดูได้ทุกแพลตฟอร์ม จึงเป็นกฎ Must Carry แต่ตอนนี้มันทำให้ลำบากต่อการทำธุรกิจ ทางบอร์ด กสทช.ก็ตั้งใจจะปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ กสทช. ที่ต้องมาออกเงินทุก ๆ 4 ปีแบบนี้ แต่เมื่อกฎที่สร้างไว้เป็นปัญหา ก็ปรับแก้ไข

“ปกติ กสทช.กำกับดูแลผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และตลาด ซึ่งกีฬา 6 ชนิดเป็นสินค้าทั่วไป แต่ฟุตบอลโลกเป็นสินค้าเฉพาะ การมีภาครัฐเข้าไปแบบนี้มันทำให้ราคาตลาดปั่นป่วน เอกชนเองติดข้อกฎหมายก็ไม่สามารถลงทุนได้ ทำให้ไม่มีคนซื้อลิขสิทธิ์” นายไตรรัตน์กล่าว

นายไตรรัตน์กล่าวในตอนท้ายว่า เท่าที่คุยมาคือ กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ สามารถใช้เงินได้ต่อเมื่อมีนักกีฬาไทยไปแข่งขัน ดังนั้น 6 ประเภทหลัก (ซีเกมส์, อาเซียนพาราเกมส์, เอเชี่ยนเกมส์, เอเชี่ยนพาราเกมส์, โอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์) มีนักกีฬาไทยไปแข่งแน่นอน ส่วนฟุตบอลโลกตอนนี้ยังไม่มีทีมชาติไทยไปแข่งขันก็ยกเลิกไปก่อน ในอนาคตถ้ามีก็ค่อยนำกลับเข้ามาได้ หรือจะออกเป็นข้อยกเว้นต่าง ๆ หรือยกเลิก Must Carry ไม่ต้องถ่ายทุกแพลตฟอร์มก็ได้ อยู่ที่การคุยกันตอนจะออกกฎใหม่ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อน ดังนั้น สามารถรับฟังข้อเสนอจากประชาชนได้ ค่อยนำมาปรับแก้ไขกันต่อไป