สงกรานต์วัดใจ

songkran
คอลัมน์ : Market-think
ผู้เขียน : สรกล อดุลยานนท์

ต้องยอมรับว่าสงกรานต์ปีนี้คึกคักมากทุกพื้นที่

ไม่ว่าจะเป็นใน กทม. หรือต่างจังหวัด คนออกมาเล่นสงกรานต์แบบมืดฟ้ามัวดิน

ผมคุยกับศิลปินและคนที่ดูแลศิลปิน เขาบอกว่าปีนี้นอกจากคิวงานแต่ละคนจะแน่นเอี้ยดแล้ว

คนดูก็ยังมากกว่าทุกปี

แถวบ้านผม ตามปกติคนจะเล่นสงกรานต์กันในวันที่ 13-14 เมษายน

วันที่ 15 ก็เริ่มเบาแล้ว

แต่ปีนี้วันที่ 15 ยังคึกคักอยู่เลย รถติดถึงช่วงค่ำ

วันที่ 16 ยังมีประปราย

ในขณะที่ต่างจังหวัด หลายจังหวัดเขาจัดกันถึงวันที่ 16 เลย

งานมหาสงกรานต์ World Water Festival ที่รัฐบาลจัดขึ้นที่สนามหลวงก็ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย

แม้จะประชาสัมพันธ์ไม่ดี

แต่ต้องยอมรับว่าจัดงานได้ดีทีเดียว

วันแรกคนน้อยจนน่าตกใจ แต่พอเริ่มมีคนรับรู้ว่ามีงานที่สนามหลวง

2-3 วันหลังคนจึงแห่มาเที่ยวงานจนถือได้ว่าประสบความสำเร็จสูงมาก

ถ้าถามว่างานสงกรานต์ปีนี้ที่ประสบความสำเร็จเป็นฝีมือของรัฐบาลหรือไม่

งานนี้หากรัฐบาลจะเอาเครดิตทั้ง 100% ก็ดูจะมากเกินไป

เพราะ “ความสำเร็จ” ที่แท้จริงมาจากจังหวัด องค์กรท้องถิ่น และภาคเอกชนที่ร่วมกันจัดงานสงกรานต์อย่างจริงจัง

แค่ใน กทม.ก็เหมือนว่าจะมีงานแทบทุกพื้นที่

แต่ถ้าจะไม่ให้คะแนนรัฐบาลเลยก็ดูจะใจร้ายเกินไป

เพราะเมื่อเทียบกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับงานสงกรานต์มากที่สุด

กะว่าจะใช้เทศกาลนี้เป็นตัวจุดระเบิด “ซอฟต์พาวเวอร์” ในเมืองไทย

มีการโหมประโคมล่วงหน้าจนภาคเอกชนรู้สึกว่า รัฐบาลเอาจริง

เอกชนจึงทุ่มจัดงานสงกรานต์อย่างใหญ่โตในทุกพื้นที่

เพิ่งมารู้ตอนหลังว่า รัฐบาลมีงบฯจัดงานแค่ 140 ล้านบาท

สิ่งที่รัฐบาลควรได้คะแนนคือ การประกาศล่วงหน้าว่าจะจัดงานสงกรานต์อย่างยิ่งใหญ่และยาวนาน ซึ่งมีผลทางจิตวิทยาสำหรับคนจัดงาน

การเพิ่มวันหยุดช่วงสงกรานต์

การดูแลขนส่งสาธารณะ และการเดินทางให้มีปัญหาน้อยกว่าทุกปี ฯลฯ

แต่ส่วนอื่น ๆ ต้องให้คะแนนกับภาคเอกชน และองค์กรท้องถิ่นที่จัดเต็มมาก

ที่สำคัญ ต้องขอบคุณ “อากาศร้อน” แบบร้อนสุด ๆ ในช่วงสงกรานต์ด้วย

มันร้อนจนคนอยากออกไปสาดน้ำเล่น

ความจริงแล้ว รัฐบาลน่าจะฉกฉวยคะแนนจากงานสงกรานต์ปีนี้ได้ดีกว่านี้

ถ้ารัฐบาลมั่นใจและกล้าเดิมพัน

ผมสังเกตเห็นร่องรอย “ความไม่มั่นใจ” บางประการในช่วงก่อนเริ่มงาน

งานใหญ่ที่สุดของรัฐบาล คือ งานมหาสงกรานต์ที่สนามหลวง

แต่ประธานเปิดงาน ไม่ใช่ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

หรือ คุณแพทองธาร ชินวัตร คนดูแลงานซอฟต์พาวเวอร์

กลับเป็น คุณสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ส่วน 2 คนแรกไปเปิดงานสงกรานต์ของคิง เพาเวอร์ ที่ซอยรางน้ำ

เหมือนไม่อยากเอาตัวมาเป็นเป้าของงานนี้

นอกจากนั้น ระหว่างงานสงกรานต์ 4 วัน แทนที่จะมีใครสักคนมาบอกเล่าความสำเร็จในแต่ละวันของงานสงกรานต์

วันแรก คนมาเที่ยวแล้วกี่คน ที่จังหวัดไหนบ้าง

แทนที่จะมีแต่สถิติผู้เสียชีวิต และประสบอุบัติเหตุ

กระตุ้นให้เห็นว่ารัฐบาลจะวัดผลจากงานนี้อย่างจริงจัง

…เงียบ

คิดดูนะครับ ถ้างานสงกรานต์ปีนี้มีการโหมประโคมวันเปิดงานอย่างแรง ๆ

ประธานในพิธีเป็น นายกรัฐมนตรี

ระหว่างงานก็ประชาสัมพันธ์ความคึกคักของเทศกาลแห่งความสุขปีนี้

ภาพของงานสงกรานต์จะยิ่งใหญ่แค่ไหน และรัฐบาลจะมีความชอบธรรมมากขึ้นในการบอกว่าเป็นผลงานของตัวเอง

ยิ่งเห็นตัวเลขนักท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนกว่าเพิ่มขึ้น 140% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

ยิ่งชัดเจนว่าเป็นฝีมือของคุณเศรษฐา เพราะเอาจริงเอาจังกับเรื่องการท่องเที่ยวมาก

เมื่อปูพื้นมาดี ถ้าเติมความมั่นใจในการเดิมพันสักนิด

ความสำเร็จของเทศกาลสงกรานต์จะเป็นตัวจุดระเบิดที่ดีมากของการท่องเที่ยวไทย

…เสียดาย