ฝึกสมอง PM 2.5

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

วันก่อน เดินเข้าไปที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ไปแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้า

ผมจะไปสอบถามเรื่องแผ่นกรองของเครื่องฟอกอากาศในบ้าน

ถ้าถึงเวลาจะได้เปลี่ยนสักที

ยังไม่ทันได้ถาม พนักงานบอกก่อนเลยครับ

“เครื่องฟอกอากาศหมดแล้วค่ะ”

เธอคงคิดว่าผมจะมาซื้อเครื่องฟอกอากาศ

“หมดทุกยี่ห้อเลยหรือ”

“ค่ะ” เธอพยักหน้า

“ของลอตใหม่จะเข้ามา 28 กุมภาพันธ์ค่ะ”

ผมนึกถึงเรื่องที่เพื่อน ๆ จะซื้อเครื่องฟอกอากาศยี่ห้อเสี่ยวมี่จากจีน

เข้าไปซื้อออนไลน์ในลาซาด้า ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล

ของหมดครับ

พักหนึ่งค่อยมีของขึ้นมาโชว์แล้วก็หมดอีก

วันก่อนมีของอยู่บนจอนานหน่อย แต่บอกก่อนเลยว่า ระยะเวลาจัดส่งขอขยับเป็น 28 วัน

จากเดิมประมาณไม่เกิน 1 สัปดาห์

ครับ คนกรุงกำลังอยู่ในภาวะตื่นตระหนกกับฝุ่นจิ๋ว PM 2.5

จะเรียกว่า “ตื่นตระหนก” ก็ไม่ถูก

ฟังคล้ายตื่นตูมกับเรื่องไม่จริง

เพราะ PM 2.5 เป็น “เรื่องจริง”

และน่ากลัวจริง

ผมนั่งดูมาตรการรับมือของรัฐบาลและ กทม.แล้ว รู้สึกว่าภาครัฐที่เป็นผู้กำหนดมาตรการต่าง ๆ

กำลัง “ตื่นตระหนก” คล้าย ๆ กับประชาชน

กระทรวงสาธารณสุขที่เคยโชว์ฝีมือตอน “ไข้หวัดนก” และ “โรคซาร์ส” ครั้งนี้มีบทบาทน้อยมาก

ทั้งที่ตอน “ไข้หวัดนก” กับ “โรคซาร์ส” เขาแก้ปัญหาและบริหาร “ความรู้สึก” ของประชาชนได้ดีมาก

ทั้งที่ 2 โรคหนักหนาสาหัสกว่า เพราะทำให้คนเสียชีวิตทันทีได้

แต่ PM 2.5 ไม่ส่งผลทันทีรุนแรงขนาดนั้น

เจ้าสารพิษจะสะสมในตัว และอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ในระยะต่อไป

ในขณะที่รัฐบาล และ กทม.กำลังงง ๆ

ผู้นำกำลังหงุดหงิด

สิ่งที่เราทำได้ คือ การพึ่งตนเอง

ใส่หน้ากาก N95 ทุกครั้งที่ออกไปในที่แจ้ง

ซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้ในบ้าน

ทำตัวให้เป็นปัญหาน้อยที่สุด ใช้รถเฉพาะที่จำเป็น ถ้านั่งรถไฟฟ้าได้ก็นั่ง

แต่อีกด้านหนึ่ง ให้ลองใช้เรื่องนี้ “ลับสมอง” ตัวเอง

ตั้งโจทย์ง่าย ๆ ว่า ถ้าเราเป็นรัฐบาล เราจะทำอะไรบ้าง

สนุกดีนะครับ

ต้องถือว่าโชคดีที่รัฐบาลแก้ปัญหาแบบงง ๆ

ทำให้เรามีพื้นที่ว่างในการลับสมองเยอะเลย

มาตรการ “ระยะยาว” และ “ระยะกลาง” พักไว้ก่อน

ไม่สนุก เพราะต้องใช้ความรู้ทางวิชาการจริง ๆ

“ระยะสั้น” ก็ซับซ้อนไปหน่อย

คิดเรื่องการบริหาร “ความรู้สึก” คนกรุงดีกว่าครับ

ทำอย่างไรจึงจะไม่ “ตื่นตระหนก” เกินความเป็นจริง

และไม่โกรธรัฐบาลมากเกินไป

อย่างที่ผมคิดเล่น ๆ ได้ตอนนี้

เรื่องแรกที่ต้องรีบทำเร็วที่สุด คือ จัดระบบให้ชัดว่าใครเป็นเจ้าภาพ และใครมีหน้าที่อะไร

ต้องบริหารแบบตอนช่วย “หมูป่า” ที่ถ้ำหลวง

เป็นการบริหารยามวิกฤต ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ

เรื่องที่สอง ต้องให้ “ข้อมูล” กับประชาชน อย่างเป็นระบบ

ยอมรับว่าวิกฤต แต่ไม่ให้ตื่นตระหนกเกินเหตุ

สมัย “ไข้หวัดนก” มีการแถลงข่าวแทบทุกวันว่า สถานการณ์เป็นอย่างไร ต้นเหตุของปัญหาคืออะไร รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ ฯลฯ

ยิ่งสมัยนี้ “โซเชียลมีเดีย” เข้าถึงทุกคน ยิ่งให้ข้อมูลได้ง่ายขึ้น

เรื่องที่สาม ยกเว้นภาษีหน้ากาก N95 ทันที

รัฐบาลแจกหน้ากาก N95 ให้กับประชาชนทุกคน

อย่าบอกว่า ไม่มีเงินเด็ดขาด

เพราะตอนแจกบัตรคนจน คนละ 500 บาท ก่อนเลือกตั้ง ทำไมถึงมีเงินแจกได้

ซื้อเรือดำน้ำ ยังซื้อได้เลย

การแจกหน้ากาก มีผลทางจิตวิทยามาก เพราะแสดงถึงความใส่ใจประชาชนของรัฐบาล

เรื่องที่สี่ เรื่องการฉีดน้ำยังน่าทำอยู่ เพราะมีผลทางจิตวิทยา

ผมอยู่บ้านยังเอาสายยางมาฉีดน้ำเป็นฝอย ล้างใบไม้เลยครับ

ให้ชุ่มฉ่ำแล้วรู้สึกว่าอากาศดีขึ้น

จริงหรือไม่จริง ไม่รู้ แต่รู้สึกดี

ถ้าตึกสูงทุกตึกช่วยฉีดน้ำ

เครื่องบินที่ภาคเอกชนช่วยเหลือพ่นน้ำพร้อม ๆ กันเป็นจุด ๆ

ประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าว่าจะพ่นตรงไหน เอาให้ฉ่ำกันไปเลย

ผมเชื่อว่า คนจะรู้สึกว่าดีขึ้น

อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไร 555

จบแล้วครับ

ตื่นแล้ว เอาไว้ฝันต่อครั้งหน้า

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!